top of page
Siri Writer

CD4 คืออะไร? เหตุใดจึงสำคัญสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี?

Updated: Mar 31, 2024

CD4 เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง ที่มีหน้าที่ควบคุม และต่อสู้กับเชื้อโรค และมีบทบาทในการสร้างสารภูมิคุ้มกันให้ร่างกายเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค เมื่อติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งเชื้อไวรัสจะเข้าทำลายเซลล์ CD4 ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลง ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถต่อต้านการติดเชื้อโรคได้อย่างปกติ ส่งผลให้เชื้อไวรัสเอชไอวี พัฒนากลายเป็นโรคเอดส์ และอาจเกิดการติดเชื้อฉวยโอกาสได้อีกด้วย ดังนั้นการเข้าใจหน้าที่ และความสำคัญของ CD4 ในระบบภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อเอชไอวี เป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาสุขภาพ ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสเอชไอวีทำลาย CD4 ด้วยการตรวจปริมาณเม็ดเลือดขาว เพื่อดูระดับภูมิต้านทานของร่างกาย  สำหรับการวางแผนการรักษา และการดูแลตัวเองต่อไป

รู้จักกับ CD4 คืออะไร และเหตุใดมีความสำคัญสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทของ CD4 ในระบบภูมิคุ้มกันและการรักษาเพื่อควบคุมการติดเชื้อ
CD4 คืออะไร? เหตุใดจึงสำคัญสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี?

CD4 คืออะไร?

CD4 (Cluster of differentiation 4) หรือเรียกว่า  T-cells,T-lymphocytes และ helper cells คือ เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่ควบคุมและต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งมีคุณสมบัติเป็น Glycoprotein อยู่บนผิวเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่ทำงานเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย โดยหน้าที่ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกัน ต้านทานและกำจัดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะพวกเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส โดยค่าปกติของผู้ที่ไม่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี จะมี CD4 อยู่ประมาณ 500 – 1,500 ต่อเลือด 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร


เชื้อไวรัสเอชไอวี ทำลาย CD4 อย่างไร?

เมื่อเชื้อไวรัสเอชไอวีเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ จะเข้ายึดจับ และทำลายเม็ดเลือดขาว CD4 ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลง จนร่างกายไม่สามารถต่อต้านการติดเชื้อโรคได้อย่างปกติ โดยมีขั้นตอน ดังนี้

  • เชื้อไวรัสเอชไอวี เริ่มยึดเกาะเข้ากับผนัง CD4 โดยใช้หนามที่มีอยู่รอบ ๆ เซลล์แทงยึดที่เต้ารับของ CD4  จากนั้นจะเริ่มแทรกซึมเข้าไปในเซลล์ นี่เป็นจุดเริ่มต้นของวงจรการติดเชื้อ

  • หลังจากที่ยึดเแน่นแล้ว เยื่อหุ้มเชื้อไวรัสเอชไอวี จะผสานเป็นหนึ่งเดียวกับเยื่อหุ้ม CD4 เมื่อเจาะเกราะหุ้ม CD4 ได้ เชื้อไวรัสเอชไอวีจะพุ่งเข้าไปในเซลล์ CD4 ทันที

  • เมื่อเข้าเซลล์ได้ รหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสเอชไอวี (RNA) จะพุ่งสู่ใจกลางเซลล์ CD4 และก๊อบปี้ตัวเองขึ้นมา โดยขโมยโปรตีนของเซลล์ CD4 มาใช้ในการสร้างเนื้อตัวของลูกหลานตัวใหม่ เซลล์เชื้อไวรัสเอชไอวีรุ่นใหม่ จะมีโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่าของเก่า

  • เมื่อได้ทุกสิ่งอย่างครบตามองค์ประกอบเดิมเชื้อไวรัสเอชไอวี เชื้อตัวใหม่ก็จะผุดออกมาจากเซลล์ CD4 โดยดึงเนื้อหนังมังสามาจากผนังของ CD4 มาสร้างเปลือก

  • จนได้เชื้อไวรัสเอชไอวีจำนวนมาก ที่จะถูกปล่อยออกมาจาก CD4 พร้อม ๆ กันหลายตัว การแบ่งตัวแบบทวีคูณนี้ทำให้เชื้อไวรัสเอชไอวี สามารถรวมกันเป็นเข้าทำร้าย CD4 เซลล์อื่น ๆ ที่ยังแข็งแรงได้อย่างรวดเร็ว


เมื่อ CD4 ถูกเชื้อไวรัสเอชไอวีใช้ในการแบ่งตัว จนไม่สามารถทำงานเป็นทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคได้อีกต่อไป CD4 เหล่านั้นจะหมดสภาพ และถูกทำลายไป ทั้งทางตรงและทางอ้อม

  • ทางตรง คือ CD4 ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี จะถูกขโมยเนื้อเยื่อ และสารประกอบไปผลิตเชื้อไวรัสเอชไอวีตัวใหม่ และเมื่อลูกหลานของเชื้อไวรัสเอชไอวี จำนวนมากผุดออกมาจากเซลล์ CD4 ตัวนั้นจะตายลง เนื่องจากเนื้อเยื่อภายในถูกทำลายอย่างหนัก หรือถ้ายังไม่ตายในทันทีก็จะหมดอายุและตายในเวลาต่อมา

  • ทางอ้อม คือ CD4 ที่ติดเชื้ออาจตั้งโปรแกรม ทำลายตัวเอง (Apoptosis) เมื่อระบบและกลไกการทำงานของเซลถูกรบกวนจากการผลิตลูกของเชื้อไวรัสเอชไอวี ผู้เป็นเชื้อโรคส่วนใหญ่ จะมีเซลล์ Apoptosis ในกระแสเลือดและต่อมน้ำเหลืองจำนวนมากกว่าคนที่ไม่มีเชื้อ


ทำไมผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเอชไอวี จึงต้องติดตามค่า CD4?

เนื่องจาก CD4 มีหน้าที่ตรวจจับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย และส่งสัญญาณไปให้กับเซลล์ภูมิคุ้มกันต่างๆให้ออกมาต่อสู้กับเชื้อโรค  เมื่อติดเชื้อไวรัสเอชไอวีขึ้นมา  เชื้อไวรัสเอชไอวี จะเข้าไปจับใช้ CD4 เป็นฐานการผลิตเชื้อไวรัสเอชไอวี เพื่อให้มีการเพิ่มปริมาณของเชื้อมากยิ่งขึ้นไปอีก จะเห็นได้ว่าเชื้อไวรัสเอชไอวี จะถูกทำลาย และรบกวนการทำงานของเม็ดเลือดขาว CD4 โดยตรง ถ้าปล่อยทิ้งไว้ในไม่เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง CD4 จะถูกทำลายลงไปจนเหลือไม่มากพอที่จะต่อสู้กับเชื้อไวรัสเอชไอวี และเชื้อฉวยโอกาสต่างๆ ได้ 


ในคนปกติที่มีสุขภาพดีนั้น จะมีค่า CD4 อยู่ที่ประมาณ 500 ขึ้นไป ส่วนในผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี อนุโลมให้ที่ประมาณ 350 ขึ้นไป  หากระดับ CD4 มากกว่า 350 ในผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี แสดงว่าภูมิต้านทานยังดีอยู่ แต่ถ้า CD4  ต่ำกว่า 200 ถือเป็นระดับน่าเป็นห่วง เพราะ CD4 ยิ่งต่ำ ยิ่งติดเชื้ออื่น ๆ ได้ง่าย ซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อโรคฉวยโอกาสได้ง่ายขึ้น และอาจกลายเป็นผู้ป่วยโรคเอดส์ได้ในที่สุด เนื่องจากภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งรุนแรงจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

เรียนรู้ที่มาและความสำคัญของการตรวจ CD4 สำหรับผู้ที่ต้องเผชิญกับเอชไอวี อ่านวิธีการคัดกรองและดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ
ทำไมจึงต้องตรวจ CD4?

ทำไมจึงต้องตรวจ CD4?

วิธีการตรวจ CD4 count ทำได้ โดยการเจาะเลือด เพื่อหาจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 เป็นการตรวจเพื่อประเมินความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีเชื้อไวรัสเอชไอวีอยู่ในร่างกาย เพราะนอกจากตรวจเพื่อประเมินความแข็งแรงของภูมิคุ้มกันแล้ว ยังตรวจเพื่อประเมินการตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอีกด้วย การตรวจ CD4 ครั้งแรกจะทำเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่ามีเชื้อไวรัสเอชไอวี อยู่ในร่างกาย และก่อนเริ่มยาต้านไวรัสครั้งแรก เพื่อเก็บเป็นข้อมูลของผู้ป่วยคนนั้นๆ


ซึ่งจะทำการตรวจซ้ำในอีก 3 ถึง 6 เดือนเพื่อประเมินการตอบสนองต่อยาต้านไวรัสไวรัสเอชไอวี และเมื่อผลการตรวจต่างๆอยู่ในเกณฑ์ปกติ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจทุกๆ 6 ถึง 12 เดือน แล้วแต่สภาวะของผู้ป่วยนั้นๆ เพิ่อช่วยติดตามการตอบสนองต่อการรักษา โดยจะมีการเจาะเลือด STD screening test ติดตามคู่ไปด้วยคือ HIV  Viral load,  CD4, Kidney, Liver  และ regular STD screening test.


โดยค่าที่วัดได้จะบ่งบอกระดับภูมิคุ้มกันของร่างกาย ถ้าค่า CD4 ยิ่งต่ำ แสดงว่า ระบบภูมิคุ้มกันยิ่งบกพร่องมาก หรือพูดง่าย ๆ ว่า  CD4 ยิ่งต่ำ ยิ่งติดเชื้ออื่น ๆ ได้ง่าย ซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อฉวยโอกาสอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้นและกลายเป็นผู้ป่วยโรคเอดส์ (AIDs) ในที่สุด


การตรวจ CD4 มีประโยชน์อย่างไร?

ในผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเอชไอวี จะมีการตรวจจำนวน CD4 คู่ไปกับปริมาณไวรัสเอชไอวี ในกระแสเลือดเพื่อแปลผลเรื่องต่างๆดังนี้

  • ประเมินความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

  • การตอบสนองต่อยาต้านไวรัสที่ได้รับ

  • การประเมินเพื่อรับยาป้องกันเชื้อฉวยโอกาสต่างๆ ในผู้ป่วยที่มีจำนวน CD4 น้อยมากๆ (เชื้อฉวยโอการคือเชื้อโรคต่างๆเช่น แบคทีเรีย เชื้อรา ที่จะมีการก่อโรคได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง)

ในผู้ป่วยทุกรายที่ได้รับวินิจฉัยว่ามีเชื้อไวรัสเอชไอวีในร่างกาย ควรเริ่มยาต้านไวรัสให้เร็วที่สุด เพื่อหยุดการดำเนินของโรค 

ค้นพบอาการที่เกิดขึ้นเมื่อจำนวน CD4 ในร่างกายต่ำลง และเรียนรู้วิธีการดูแลสุขภาพเพื่อรักษาระดับ CD4 ในระดับที่เหมาะสม
อาการเมื่อจำนวน CD4 ต่ำ

อาการเมื่อจำนวน CD4 ต่ำ

จำนวน CD4 ที่ต่ำ ไม่ได้ทำให้เกิดอาการเฉพาะเจาะจง แต่ทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการติดเชื้อโรคฉวยโอกาส  โดยเชื้อโรค มักจะใช้ประโยชน์จากผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ถ้าหากไม่มีระดับเซลล์ CD4 ที่มากเพียงพอ ร่างกายก็จะต่อสู้กับการติดเชื้อโรคได้ยาก เพราะปกติแล้วการติดเชื้อโรคเหล่านี้ จะไม่กระทบต่อผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง แต่จะมีผลกระทบต่อผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือปัจจัยอื่นๆ จนทำให้เกิดโรค 


เมื่อร่างกายของเราไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้ามาได้แล้ว  จะทำให้เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาส  ซึ่งเป็นต้นเหตุคร่าชีวิตผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี เป็นจำนวนมาก ซึ่งโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่พบได้บ่อย คือ

  • โรคเชื้อราในช่องปาก  อาการที่ผู้ป่วยนำมามีได้หลายรูปแบบ เช่นเป็นฝ้าขาว ( Thrush)ในปาก หรือผื่นแดง( Erythematous Candidiasis) มักจะเกิดที่เพดานปากและลิ้น ในปากบางคนมีลักษณะปากนกกระจอก อาการที่ผู้ป่วยมาอาจจะมีอาการ กลืนลำบาก เจ็บคอ ฝ้าขาวที่คอ ลิ้น ช่องคลอด ตกขาว คันช่องคลอดเป็นๆหายๆ

  • โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาการปวดศีรษะ มีไข้ ปวดตามตัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้เบื่ออาหาร ซึมลง อาจจะมีอาการชัก ในรายที่เป็นมากอาจจะมีอาการปอดบวม และเชื้ออาจจะลุกลามไปอวัยวะอื่น เช่นปอด ผิวหนัง อาจจะมีต่อมน้ำเหลืองโต อาจจะมีผื่นที่ผิวหนัง

  • โรคปอดอักเสบ ภาวะปอดอักเสบจากเชื้อรา สามารถทำให้ปอดเกิดการบวมอักเสบอย่างรุนแรงและเป็นอันตรายต่อชีวิต

  • โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มีอาการต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม ซึ่งเป็นสัญญาณของการติดเชื้อเอชไอวี จนเกิดเป็นเซลล์มะเร็งลามไปทั่วต่อมน้ำเหลือง ทั้งบริเวณลำคอ รักแร้ หรือตามข้อพับต่าง ๆ นอกจากนี้ ในบางรายอาจเป็นมะเร็งหลอดเลือดคาโปซี ที่เกิดเซลล์เนื้อร้ายก่อตัวขึ้นในเนื้อเยื่อผนังหลอดเลือด เกิดเป็นบาดแผลสีแดง หรือสีม่วงตามผิวหนัง


วิธีเพิ่ม CD4 ในผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเอชไอวี

  • รับประทานยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการดื้อยาจากการติดเชื้อซ้ำ

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควรเลือกกินอาหารที่มีกากใยสูง เน้นผัก อาหารที่ย่อยง่าย และมีวิตตามินสูง มากกว่าแป้ง น้ำตาล และไขมัน

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากการออกกำลังกายจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง ส่งเสริมสุขภาพจิตและบุคลิกภาพที่ดีแล้ว

  • พักผ่อนให้เพียงพอ จัดสรรค์เวลานอนให้เพียพออย่างน้อยควรถึง7-8 ชม./วัน รวมถึงการตื่นและนอนอย่างเป็นเวลาสม่ำเสมอ

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อโรคอื่นเพิ่ม เช่น การสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด


การเข้าใจหน้าที่ และความสำคัญของ CD4 ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการดูแลสุขภาพผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ด้วยการตรวจสอบระดับ CD4 และการรักษาให้ค่าคงที่ เป็นปัจจัยมที่สำคัญในการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และให้ผลลัพธ์ที่ดี


Comments


bottom of page