โรคติดเชื้อเอชพีวี (HPV) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อย เพราะสามารถแพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง หรือการมีเพศสัมพันธ์ ปัจจุบันพบว่ามีเชื้อชนิดนี้มากกว่า 100 สายพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่มักทำให้เกิดหูดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ เชื้อเอชพีวี บางสายพันธุ์อาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งชนิลดเสี่ยงการติดเชื้อ-hpv-โรคร้ายที่ป้องกันได้ดต่าง ๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด และมะเร็งทวารหนัก เป็นต้น ซึ่งการฉีดวัคซีน HPV สามารถช่วยป้องกันเชื้อเอชพีวี สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศ หรือโรคมะเร็งปากมดลูก
โรคติดเชื้อเอชพีวี คืออะไร?
โรคติดเชื้อเอชพีวี (HPV) คือ โรคที่มีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งเป็นเชื้อไวรัส ชนิด DNA ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ บางสายพันธุ์ก่อให้เกิดโรคที่ผิวหนัง เช่น หูดตามฝ่าเท้า มีประมาณ 40 สายพันธุ์ ที่ก่อให้เกิดโรคตามอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือเยื่อบุอื่นๆ เช่น โรคหูดบริเวณอวัยวะเพศ หรือโรคมะเร็งบริเวณปากมดลูก ทวารหนัก ช่องคลอด ปาก และลำคอ เป็นต้น
สาเหตุโรคติดเชื้อเอชพีวี
สาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสแปปิโลมา (Human Papilloma Virus) เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อเนื้อเยื่อบุผิว และทำให้เกิดโรคบริเวณอวัยวะเพศ และทวารหนักทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย และยังเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก ทวารหนัก ช่องคลอด องคชาต ปาก และลำคอ ผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรง สัมผัสทางผิวหนัง หรือการมีเพศสัมพันธ์ ผู้ที่มีเชื้ออยู่ในร่างกาย มักจะไม่แสดงอาการผิดปกติออกมา ทำให้สามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่น ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชพีวี อาจแพร่เชื้อสู่ทารกระหว่างการคลอดได้ แต่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างน้อย ซึ่งเชื้อเอชพีวชนิดนี้มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ สายพันธุ์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมากที่สุดคือ สายพันธุ์ 16 และ 18
เมื่อติดเชื้อเอชพีวี เชื้อเอชพีวีสามารถอยู่ในร่างกายนานถึง 12 เดือน ซึ่งเชื้อเอชพีวีส่วนใหญ่จะอยู่ในช่องคลอด หรือปากมดลูกผู้หญิง หากร่างกายมีภูมิต้านทานมากพอเชื้อเอชพีวีจะหายไปเองภายใน 2 ปี แต่ถ้าร่างกายอ่อนแอเชื้อเอชพีวีก็จะสามารถกระตุ้นให้เซลล์เปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็งได้ โดยระยะฟักตัว เป็นระยะเวลาระหว่างติดเชื้อจนมีอาการ จะอยู่ที่ 2 ถึง 3 เดือน โดยมีช่วง 1 ถึง 20 เดือนสำหรับหูดที่อวัยวะเพศ และอาจต้องใช้เวลาถึง 10 ปีกว่าการติดเชื้อเอชพีวี ที่มีความเสี่ยงสูงจึงจะพัฒนาเป็นโรคมะเร็ง
เชื้อเอชพีวี มีกี่สายพันธุ์
เชื้อไวรัสนี้มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ก่อให้เกิดมะเร็ง มี 14 สายพันธุ์ ทําให้เป็นโรคร้ายมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด โดยสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกถึงประมาณร้อยละ 70 รองลงมาคือ สายพันธุ์ 45, 31 และ 33
กลุ่มที่ไม่ก่อโรคมะเร็ง เป็นสาเหตุของโรคหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะเพศ ถึงประมาณร้อยละ 90 % เช่น HPV 6 และ 11
ใครที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเอชพีวี
โดยมีปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวีมากขึ้น ดังนี้
เด็กและวัยรุ่น โดยหูดทั่วไปมักพบได้มากในวัยเด็ก ส่วนหูดหงอนไก่มักพบในเด็กวัยเจริญพันธ์ุมากกว่าคนช่วงอายุอื่น
ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อโดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ทั้งเพศชาย และเพศหญิง
มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 16 ปี
ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย พบการติดเชื้อเอชพีวี สูงกว่าคนทั่วไป 2-5 เท่า
ผู้ที่มีแผล หรือรอยขีดข่วนตามผิวหนัง
ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น
สัมผัสหูด หรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อเอชพีวีโดยไม่สวมถุงมือเพื่อป้องกัน
อยู่ในสถานที่ที่มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เช่น ห้องอาบน้ำสาธารณะ สระว่ายน้ำ เป็นต้น
สูบบุหรี่
สูดควันที่มีเชื้อเอชพีวี เข้าไปยังจมูกหรือลำคอ (Surgical Smoke)
อาการโรคติดเชื้อเอชพีวี
ผู้ติดเชื้อเอชพีวี ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ ไม่ได้ทำให้มีไข้ ตกขาว หรือเลือดออกผิดปกติ การติดเชื้อส่วนใหญ่หายได้เอง เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ก่อนที่จะเกิดหูดขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าติดเชื้อแล้วไม่หาย ผู้ป่วยที่มีหูดขึ้นโดยมีลักษณะของหูดที่ปรากฏแตกต่างกันตามสายพันธุ์ของไวรัส ดังนี้
หูดทั่วไป
มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ ที่สัมผัสแล้วรู้สึกขรุขระ อาจมีสีเนื้อ สีขาว สีชมพู หรือสีน้ำตาลอ่อน มักขึ้นตามมือ นิ้วมือ หรือข้อศอก ส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่อาจสร้างความเจ็บปวดได้ในบางครั้ง และผิวหนังบริเวณที่เกิดหูดอาจบาดเจ็บ หรือมีเลือดออกได้ง่ายกว่าปกติ
หูดแบนราบ
มีขนาดเล็ก พื้นผิวเรียบ สีของหูดเข้มกว่าสีผิวปกติและนูนขึ้นมาจากผิวหนังเล็กน้อย เกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย หากเป็นเด็กมักพบตามใบหน้า ในผู้หญิงมักเกิดบริเวณขา ส่วนผู้ชายจะพบได้บ่อยบริเวณเครา
หูดฝ่าเท้า
มีลักษณะเป็นตุ่มแข็ง สัมผัสแล้วรู้สึกหยาบ มักขึ้นบริเวณส้นเท้าหรือเนินปลายเท้า และทำให้รู้สึกเจ็บในระหว่าง ยืนหรือเดิน
หูดที่อวัยวะเพศ หรือหูดหงอนไก่
เป็นติ่งเนื้อลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ มักเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหญิง อวัยวะเพศชาย และทวารหนัก ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บ แต่อาจทำให้รู้สึกคันบริเวณที่มีหูด ถ้าเป็นบริเวณที่ปากช่องคลอดจะมีก้อนที่ปากช่องคลอด ช่องคลอด หรือปากมดลูก และอาจมีอาการคัน หรือเลือดออกง่ายถ้าไปแกะเกา รวมถึงถ้าติดเชื้อสายพันธุ์ก่อมะเร็งแล้วไม่หาย จะพัฒนากลายเป็นรอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง ถ้าไม่ตรวจให้เจอและรักษาก็จะกลายเป็นมะเร็งได้ และในบางรายอาจเกิดหูดหงอนไก่บริเวณทางเดินหายใจ หรือเกิดเยื่อบาง ๆ ภายในกล่องเสียงหลังจากติดเชื้อ 2-3 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีเสียงแหบ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้อเอชพีวี
จากการติดเชื้อเอชพีวี จะทำให้เกิดหูด หรือมะเร็งบางชนิด ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์เดิมซ้ำจะเสี่ยงเกิดรอยโรคก่อนเกิดมะเร็ง และสามารถกลายเป็นโรคมะเร็งได้
ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่มีหูดขนาดใหญ่บริเวณอวัยวะเพศ จนไปปิดกั้นช่องคลอดอาจคลอดบุตรยาก นอกจากนี้ เชื้อเอชพีวีที่อยู่ในร่างกายของมารดาอาจส่งผลให้ทารกในครรภ์เสี่ยงเกิดเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงบริเวณกล่องเสียง แต่เกิดขึ้นได้น้อยมาก
การวินิจฉัยโรคติดเชื้อเอชพีวี
แพทย์จะวินิจฉัยโดยการตรวจดูลักษณะหูดที่ขึ้นตามผิวหนัง และที่สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งสามารถดูความผิดปกติบนผิวหนังได้ทันที แต่ในรายที่ไม่มีหูดขึ้น หรือมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แพทย์อาจใช้การวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้
การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Test) แพทย์จะเก็บตัวอย่างเซลล์บริเวณปากมดลูกไปตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์โดยใช้กล้องจุลทรรศ์ เพื่อค้นหาเชื้อเอชพีวี
การตรวจตินเพร็พ ( ThinPrep Pap Test ) วิธีการตรวจไม่ต่างไปจากการตรวจแปปสเมียร์โดย แพทย์จะเก็บเซลล์ บริเวณปากมดลูกด้วยอุปกรณ์เฉพาะ แล้วส่งเข้าห้องปฎิบัติการ
การตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อเอชพีวี (HPV DNA Test) คือการนำตัวอย่างเซลล์บริเวณอวัยวะเพศไปตรวจหาเชื้อเอชพีวีโดยตรง วิธีนี้นำมาใช้วินิจฉัยสายพันธุ์ของเชื้อได้เช่นกัน เนื่องจากมีความแม่นยำสูง จึงนิยมตรวจเพื่อค้นหาเชื้อเอชพีวีก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก
การตรวจปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป (Colposcopy) แพทย์จะสอดกล้องคอลโปสโคป ที่มีขนาดเล็กแต่กำลังขยายสูงเข้าไปทางช่องคลอดเพื่อตรวจหาเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ
การทดสอบด้วยกรดอะซิติก (Acetic Acid Solution Test) การตรวจวิธีนี้จะเป็นใช้สารละลายกรดอะซิติก เพื่อทำปฏิกิริยากับเซลล์ปากมดลูก ที่มีผิดปกติและเปลี่ยนบริเวณดังกล่าวให้เป็นสีขาว แพทย์จึงสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย
ปัจจุบันสามารถให้แพทย์ทำการตรวจภายใน พร้อมตรวจหาเชื้อเอชพีวี หรือถ้าหากไม่กล้าไปพบแพทย์ ปัจจุบันก็มี Self HPV test สามารถตรวจด้วยตัวเองได้ ซึ่งมีความแม่นยำดีเช่นกัน
การรักษาโรคติดเชื้อเอชพีวี
ปัจจุบันการติดเชื้อเอชพีวี ไม่มีวิธีรักษาโดยเฉพาะ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะค่อย ๆ กำจัดเชื้อเอชพีวีออกไปเอง ส่วนการรักษาความผิดปกติที่เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี เช่น เป็นหูด หรือมะเร็ง จะมีวิธีการแตกต่างกันไปตามลักษณะอาการที่พบ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด หรือฉายรังสี ซึ่งการตรวจพบ และเข้ารับการรักษาตั้งแต่ในขณะที่มะเร็งยังไม่ลุกลาม จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการรักษาให้สูงขึ้น ส่วนผู้ป่วยที่มีหูดขึ้น แพทย์มักแนะนำให้ใช้ยา ดังนี้
กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) เป็นยาสำหรับทาภายนอกที่ใช้รักษาหูดชนิดทั่วไป มีสรรพคุณช่วยให้ชั้นผิวหนังบริเวณที่เกิดหูดค่อย ๆ หลุดลอก แต่ยานี้อาจส่งผลข้างเคียงทำให้รู้สึกระคายเคืองผิวและไม่ควรนำมาใช้กับใบหน้า
ยาโพโดฟิลอก (Podofilox) มีสรรพคุณช่วยทำลายเนื้อเยื่อของหูด มักใช้กับหูดบริเวณอวัยวะเพศ ยานี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้รู้สึกเจ็บปวดและคันบริเวณผิวหนังที่ทายา
ยาอิมิควิโมด (Imiquimod) มีสรรพคุณช่วยกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันเร่งกำจัดเชื้อเอชพีวี แต่อาจส่งผลให้ผิวหนังบริเวณที่ทายาเกิดอาการบวมแดงได้
กรดไตรคลอโรอะซีติค (Trichloroacetic Acid) มักใช้สำหรับกำจัดหูดบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรืออวัยวะเพศ และอาจมีผลข้างเคียงเป็นอาการระคายเคืองผิว
ทั้งนี้ หากการใช้ยาไม่ช่วยให้หูดยุบ แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยวิธีอื่น ได้แก่ การผ่าตัดหูด การใช้เลเซอร์ การจี้ด้วยความเย็น การจี้ด้วยไฟฟ้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยการใช้ยาหรือกำจัดหูดด้วยวิธีเหล่านี้ไม่สามารถกำจัดเชื้อเอชพีวีให้หมดไป ผู้ป่วยจึงอาจกลับมาเป็นหูดซ้ำได้
การป้องกันโรคติดเชื้อเอชพีวี
เราสามารถป้องกันการติดต่อ และการแพร่กระจายของเชื้อเอชพีวีได้ ดังนี้
สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการสัมผัสกับเชื้อบริเวณอวัยวะเพศโดยตรง แต่วิธีนี้ไม่สามารถป้องกันเชื้อเอชพีวี ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเชื้อชนิดนี้ติดต่อผ่านการสัมผัส และอาจสะสมอยู่ตามบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย
ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ
ไม่ควรแกะหรือเกาหูดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น
หากมีอาการผิดปกติทางนรีเวช ไม่ควรนิ่งนอนใจปล่อยทิ้งไว้ ควรเข้ารับการตรวจหรือปรึกษากับสูตินรีแพทย์
ผู้หญิงอายุ 21-65 ปี ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอทุกปี หรือเป็นประจำทุก 3 ปี และตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี ทุก 5 ปี
สวมรองเท้าเมื่ออยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น สระว่ายน้ำสาธารณะ ห้องอาบน้ำรวม
ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี หรือผู้ที่มีอายุ 9-26 ปี ควรฉีดวัคซีนเอชพีวี (HPV) ซึ่งมีฤทธิ์ป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ 4 ชนิด
การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี
อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชพีวี โดยวัคซีนในปัจจุบันมีด้วยกัน 3 ชนิด ดังนี้
วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ (Bivalent vaccine: Cervarix) คือ วัคซีนที่ป้องกันเชื้อไวรัส HPV ได้ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก
วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ (Quadrivalent vaccine: Gardasil ) คือ วัคซีนที่ป้องกันเชื้อไวรัส HPV ได้ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18 ซึ่งสายพันธุ์ 6 และ 11 ทำให้เกิดหูดหงอนไก่
วัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ (6/11/16/18/31/33/45/52/58)ในผู้หญิงและผู้ชาย ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นเป็น 94% วัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ ในผู้หญิงอายุ 9-45 ปี ช่วยป้องกันโรค ดังนี้
มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 2 ในผู้หญิงไทย
มะเร็งปากช่องคลอด และช่องคลอด (Vulvar and vaginal cancers)
รอยโรคก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก ปากช่องคลอด ช่องคลอด และทวารหนัก
มะเร็งทวารหนัก (Anal cancer)
หูดที่อวัยวะเพศ
การลดความเสี่ยงของการติดเชื้อเอชพีวี หรือการแพร่กระจายเชื้อเอชพีวี ถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการป้องกันโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้อง และภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพอื่นๆ ด้วยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชพีวี การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ หรือการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ หรือการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี สามารลดโอกาสในการติดเชื้อเอชพีวี ให้เกิดน้อยลงได้ และทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่เสมอ
Comments