top of page
Siri Writer

ยาเป๊ป (PEP) ยาต้านฉุกเฉินหลังเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี

Updated: Dec 10, 2023

ยาต้านไวรัสเอชไอวี (Exposure prophylaxis) เป็นยาที่กินเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี เท่านั้น คือ ใช้เป็นยาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี มีการใช้ใน 2 ลักษณะ คือ ช่วงก่อน หรือหลังจากมีการสัมผัสเชื้อเอชไอวี โดยยาที่กินเพื่อลดความเสี่ยงก่อนการติดเชื้อเอชไอวี เรียกว่า ยาเพร็พ (PrEP) และยาที่กินเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีหลังจากสัมผัสเชื้อ เรียกว่า ยาเป๊ป (PEP)


ยาต้านไวรัสเอชไอวี เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง หรือต้านการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T-cell มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้สูงสุดถึง 99% หากมีการใช้อย่างถูกวิธี ฉะนั้นควรมีความรู้เกี่ยวกับยาเป๊ป วิธีกินยา หยุดยา และประสิทธิภาพการป้องกัน ยาเป๊ป หรือยาต้านฉุกเฉินหลังเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี ที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้จักเท่าไรนัก เนื่องจากเป็นยาที่ต้องทำการสั่งจ่ายโดยแพทย์ และสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อกินเองได้ตามร้านขายยาทั่วไป


โดยเฉพาะในบทความนี้ที่เน้นให้ความรู้เกี่ยวกับยาต้านไวรัสเอชไอวีที่เรียกว่า เป๊ป(PEP) หรือ ยาต้านฉุกเฉิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์เสี่ยงที่อาจทำให้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี

รูปภาพเกี่ยวกับยาเป๊ป (PEP) ที่เป็นยาต้านฉุกเฉินหลังเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นมาตรการทางการแพทย์สำหรับการป้องกันและรักษาเชื้อเอชไอวีหลังจากการสัมผัสเสี่ยง
ยาเป๊ป (PEP) ยาต้านฉุกเฉินหลังเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี

ยาเป๊ป (PEP) คืออไร?

PEP ย่อมาจาก Post-Exposure Prophylaxis เป็นยาต้านฉุกเฉิน หรือยาต้านเอชไอวี หรือยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกรณีฉุกเฉิน ที่ต้องกินยาให้เร็วที่สุดหลังจากเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อเอชไอวี โดยจะต้องเริ่มกินยาภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีความเสี่ยง และกินยาติดต่อกันนาน 28 วัน


โดยการสัมผัสเชื้อเอชไอวี ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ เนื่องจากเชื้อไวรัสเอชไอวี สามารถแบ่งตัวได้เร็วมาก ภายใน 24-36 ชั่วโมง จึงต้องได้รับยาเร็วที่สุดหลังเกิดเหตุการณ์เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และช้าสุดต้องไม่เกินภายใน 72 ชั่วโมง ถ้าเวลาเกินไปมากกว่า 72 ชั่วโมง การใช้ยาเป๊ป แทบจะไม่เกิดประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อ เอชไอวี ซึ่งตัวผู้รับยา ต้องทำการตรวจเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ซิฟิลิส ค่าการทำงานของไต และค่าเอนไซม์ตับ ก่อนรับยาเป๊ป


ยาเป๊ป ป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีได้ดีแค่ไหน

ยาเป๊ป สามารถป้องกันการการติดเชื้อเอชไอวี ได้อย่างน้อย 80% แต่เนื่องจากยาเป๊ปเป็นยาป้องกันฉุกเฉินหลังจากเสี่ยงได้รับเชื้อมาแล้ว ประสิทธิภาพของยาจึงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งระยะเวลาเริ่มยา หากเริ่มกินยาเร็วก็จะป้องกันได้ดีกว่า ลักษณะและระยะเวลาของการได้รับเชื้อ ปริมาณเชื้อเอชไองรในผู้ติดเชื้อ หากมีเชื้อในปริมาณมากประสิทธิภาพก็จะน้อยลง เป็นต้น


ดังนั้น การกินยาเป๊ป ควรใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น หากเสี่ยงบ่อยแนะนำให้กินยาเพร็พ (ยาป้องกันก่อนเสี่ยงติดเชื้อเอชไวี) ซึ่งมีประสิทธิภาพที่สูงจะดีกว่า

รูปภาพเกี่ยวกับสูตรยาเป๊ปที่มีผลข้างเคียงน้อย ซึ่งเน้นคุณสมบัติของยาเป๊ปที่มีผลข้างเคียงน้อยที่สุดเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน
สูตรยาเป๊ปที่มีผลข้างเคียงน้อย

ยาเป๊ป มีกี่สูตร?

ปัจจุบันยาเป๊ป มีหลายสูตร แต่ละสูตรมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีเท่ากัน แตกต่างกันที่ผลข้างเคียง ซึ่งส่งผลต่อการกินยาให้ครบ 28 วัน คือ ถ้าผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงมากจากการกินยาเป๊ป จะทำให้ไม่สามารถกินยาได้ครบตามกำหนด ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีลดลง


สูตรยาเป๊ปที่มีผลข้างเคียงน้อย ได้แก่

  • KOCITAF ประกอบด้วยตัวยา 3 ชนิดคือ Tenofovir Alafenamide Fumarate (TAF), Emtricitabine (FTC) และ Dolutegravir (DTG)

  • BIKTAVY ประกอบด้วยตัวยา 3 ชนิดคือ Tenofovir Alafenamide Fumarate (TAF), Emtricitabine (FTC) และ Bictegravir (BIC)

ยาเป๊ปทั้ง 2 ชนิด ส่งผลต่อการทำงานของไตและตับน้อยมาก และไม่จำเป็นต้องกินพร้อมอาหาร หรือกินตอนท้องว่างเหมือนสูตรยาอื่น


ผลข้างเคียงของยาเป๊ป

ยาเป๊ป มีความปลอดภัยอย่างมาก หากผู้รับยา กินยาเป๊ปอย่างถูกต้อง และอยู่ในการดูแลของแพทย์ โดยจะพบอาการข้างเคียง มีดังนี้

  • คลื่นไส้อาเจียน

  • อ่อนเพลีย

  • ปวดศีรษะ

  • เวียนศีรษะ หรือมึนศีรษะ

  • ถ่ายเหลว

  • นอนไม่หลับ

อาการข้างเคียงต่างๆ มักจะเป็นเพียงช่วงแรกของการกินยา และอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วง 3-5 วันแรกหลังจากเริ่มกินยา และจะหายไปภายใน 7 วัน ซึ่งผลข้างเคียงของยาเป๊ปจะเกิดมากหรือน้อยขึ้นกับสูตรของยาเป๊ป แต่หากอาการรุนแรงมากสามารถแจ้งแพทย์ผู้ดูแลเพื่อให้ทำการรักษา และตรวจเพิ่มเติม

รูปภาพเกี่ยวกับใครบ้างที่ควรได้รับยาเป๊ป ภาพนี้เน้นการแสดงผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีและควรพิจารณาการให้ยาเป๊ปเพื่อป้องกันและรักษา
ใครบ้างที่ควรได้รับยาเป๊ป

ใครบ้างที่ควรได้รับยาเป็ป?

ยาเป๊บ มีไว้สำหรับผู้ที่คาดว่ามีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อเอชไอวีมา ภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง และใช้ในกรณีอื่นๆ ดังนี้

  • ผู้ที่ไม่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือผู้ที่ไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ แต่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี

  • มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นเอชไอวี หรือไม่ทราบว่ามีเชื้อเอชไอวีหรือไม่ แล้วไม่ได้ใส่ถุงยางอนามัย หรือถุงยางอนามัยฉีกขาด

  • ใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกับผู้อื่น

  • ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

  • สัมผัสสารคัดหลั่งที่ทำให้ติดเชื้อเอชไอวีได้ โดยโดนผิวหนังที่มีแผลเปิดและสัมผัสเชื้อมาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนมารับยาเป๊ป

  • หากไม่มั่นใจว่าการสัมผัสนั้นทำให้ติดเชื้อเอชไอวี ได้หรือไม่ สามารถปรึกษาแพทย์ก่อนได้โดยเร็วที่สุด

ถ้าคุณมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ควรทำการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี และรับยาเป๊ปที่โรงพยาบาล และกินยาภายใน 72 ชั่วโมงหลังสัมผัสเชื้อเอชไอวี เพื่อให้ยาเป๊ป มีประสิทธิภาพในการรักษามากที่สุด


ก่อนเริ่มกินยาเป๊ป ต้องทำอย่างไร?

ก่อนที่ผู้รับบริการจะรับยาเป็ป ต้องทำการปรึกษาแพทย์ก่อน โดย

  • แพทย์จะซักเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และประวัติ โรคประจำตัว และข้อมูลอื่นๆ เพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องรับยาเป็ป หรือไม่

  • แพทย์จะสั่งตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัส HIV การทำงานของตับ และไต ก่อนรับยาเป็ป ทุกราย (หากติดเชื้อเอชไอวีอยู่ก่อนแล้ว จะไม่สามารถใช้ยาเป็ป ได้)

  • ตรวจการตั้งครรภ์ในรายที่มีโอกาสตั้งครรภ์ได้

  • ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น เช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และตับอักเสบชี ซิฟิลิส หนองใน เพื่อรักษาร่วมด้วย

รูปภาพเกี่ยวกับการกินยาเป๊ป ต้องทำอย่างไรบ้าง ภาพนี้เน้นการแสดงขั้นตอนและวิธีการที่ถูกต้องในการบริโภคยาเป๊ปเพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษาเชื้อเอชไอวี
การกินยาเป๊ป ต้องทำอย่างไรบ้าง

การกินยาเป๊ป ต้องทำอย่างไรบ้าง?

เริ่มกินยาเป๊ป

โดยเริ่มกินยาเป๊ป 1 เม็ดเร็วที่สุดหลังสัมผัสเชื้อเอชไอวี หรือประมาณ 1-2 ชั่วโมง ช้าสุดไม่เกิน 72 ชั่วโมง และกินยาเป๊ป ต่อเนื่องวันละ 1 เม็ดใกล้เคียงเวลาเดิมเป็นเวลา 28 วัน หรือ 4 สัปดาห์


ระหว่างกินยาเป็ป

ในระหว่างกินยาเป็ป ควรงดบริจาคเลือด และสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หากเกิดความเสี่ยงขึ้นระหว่างทานยาให้ทานยาต่อเนื่องไปก่อนแล้วแจ้งแพทย์ เพื่อปรับเพิ่มระยะเวลากินยาเป๊ปให้นานขึ้นในบางราย และควรสังเกตอาการของการติดเชื้อระยะแรก เช่น ไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ ผื่นขึ้น อ่อนเพลียน้ำหนักลด เป็นต้น เนื่องจากการติดเชื้อระยะแรกอาจจะยังตรวจไม่พบเชื้อได้ หากมีอาการต้องแจ้งแพทย์เสมอเพื่อวางแผนการติดตามให้เหมาะสมในแต่ละบุคคล


หลังจากกินยาเป็ป ครบแล้ว

หลังจากที่กินยาเป็ป ครบ 28 วัน แพทย์จะมีการนัดตรวจติดตามหลังกินยาเป๊ป หรือตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อเอชไอวี 2 ครั้ง คือ หลังจากที่กินยาเป็ป ครบ 28 วัน และหลังที่มีความเสี่ยงครบ 3 เดือน ช่วงที่กินยาเป๊ปไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อเอชไอวี เพราะอาจเกิดผลเป็นลบ ซึ่งเป็นผลลวงได้ ซึ่งเป็นการตรวจเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการติดเชื้อเอชไอวี และติดตามอาการข้างเคียงที่เกิดได้จากการกินยาเป๊ป ซึ่งการนัดตรวจหลังกินยาเป๊ป มีความสำคัญอย่างมาก ผู้รับบริการควรมาติดตามผลเลือดอย่างสม่ำเสมอ และประเมินความเสี่ยงต่อ หากยังมีแนวโน้มมีพฤติกรรมเสี่ยง แพทย์จะแนะนำให้ผู้รับบริการกินยาเพร็พต่อเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ดียิ่งขึ้น

รูปภาพเกี่ยวกับการรับยา PEP ได้ที่ไหนดี ภาพนี้เน้นการแสดงที่ควรรับบริการทางการแพทย์เพื่อได้ยา PEP ที่เหมาะสมและมีคุณภาพ เพื่อป้องกันและรักษาเชื้อเอชไอวี
รับยา PEP ได้ที่ไหนดี

รับยาเป๊ป ได้ที่ไหนดี

ยา PEP ไม่สามารถหาซื้อได้ทางร้านขายยาทั่วไป เพราะถือเป็นยาอันตรายที่ควรได้รับการตรวจเลือด และจ่ายยาโดยแพทย์ผู้มีใบประกอบโรคศิลป์เท่านั้น หรือสามารถติดต่อรับยาเป๊ป ได้ที่แผนกฉุกเฉินโรงพยาบาล และคลินิกที่มียาเป๊ปบริการหลังการเสี่ยงติดเชื้อให้เร็วที่สุด

ผู้ที่อาจมีความเสี่ยงต้องการรับยาเป๊ป สามารถเข้ารับการตรวจ หรือปรึกษาแพทย์ได้ที่

รับเป๊ป ในกทม.

คลินิกนิรนาม ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลทั้งรัฐ หรือเอกชน และคลินิกเฉพาะทาง

รับเป๊ป ในต่างจังหวัด

โรงพยาบาลทั้งรัฐ หรือเอกชน และคลินิกเฉพาะทาง

รับเป๊ป ในจังหวัดอื่นๆ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต

โรงพยาบาลทั้งรัฐ หรือเอกชน และคลินิกเฉพาะทาง

สามารถติดต่อรับยาเป๊ป ได้ที่แผนกฉุกเฉินโรงพยาบาล และคลินิกที่มียาเป๊ปบริการหลังการเสี่ยงติดเชื้อให้เร็วที่สุด


ยาเป๊ป ราคาเท่าไหร่

ค่าใช้จ่ายของการรับยาเป๊ป จะมีตั้งแต่ราคา 1,200-20,000 บาท ขึ้นอยู่ดุลยพินิจของแพทย์ว่าร่างกายของผู้รับยาต้องใช้ตัวยาไหนในการรักษา หรือต้องมียาอื่น ๆ นอกจากยาเป๊ป ร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่าย ที่อาจดูว่าค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบกับความสามารถที่จะลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า


ยาต้านไวรัสเอชไอวีมีบทบาทสำคัญในการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ยาเป๊ป เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกัน และควบคุมสถานการณ์หลังเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี อย่างมีประสิทธิภาพ การปรึกษาแพทย์เป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ได้ข้อมูล และคำแนะนำที่เหมาะสมต่อความเสี่ยง และสุขภาพทั่วไปของแต่ละบุคคล.

Comentarios


bottom of page