ในปัจจุบัน ปัญหาเรื่องการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี เป็นปัญหาสำคัญหนึ่งที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ การเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวี (HIV) เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรทราบ เพราะนอกจากจะช่วยให้เราป้องกันตนเอง และผู้อื่นจากการติดเชื้อเอชไอวีแล้ว ยังช่วยลดอคติและเพิ่มความเข้าใจในสังคมได้อีกด้วยด้วย
เชื้อเอชไอวี (HIV) คืออะไร?
เอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus : HIV) คือ เชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า CD4 (ซีดีโฟร์) หรือ ทีเซลล์ (T cells) ซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค และเชื้อไวรัสต่าง ๆ เมื่อเซลล์ CD4 ถูกทำลายจนอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะถูกเชื้อไวรัสเอชไอวีโจมตีจนไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ หรือเม็ดเลือดขาว CD4 จนมีปริมาณไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุให้เกิดอาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายลดต่ำลง ทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ เช่น วัณโรค ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น รวมทั้งมะเร็งบางชนิด อย่าง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ได้มากกว่าคนปกติ ซึ่งอาการอาจจะรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป และอาจเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต ทั้งนี้ยังรวมไปถึงโรคเอดส์ ที่เป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี
การเข้าใจและการรับรู้ถึงเชื้อเอชไอวี (HIV) จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคนี้ การส่งเสริมการศึกษาและการตระหนักในสังคมเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวี เป็นส่วนสำคัญในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคนี้ในวงกว้าง
สาเหตุของการติดเชื้อเอชไอวี
เชื้อเอชไอวี แพร่กระจายผ่านตัวกลางบางอย่างเท่านั้น เช่น เลือด น้ำนม อสุจิ น้ำหล่อลื่นจากอวัยวะเพศชาย และของเหลวจากช่องคลอดหรือทวารหนัก โดยสาเหตุของการติดเชื้อเอชไอวี ดังนี้
มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีทางช่องคลอดหรือทวารหนักโดยไม่สวมถุงยางอนามัย หรือผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ
ไม่รับประทานยาป้องกันเชื้อเอชไอวีก่อนมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อ หรือผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีไม่รับประทานยาต้านเชื้อก่อนมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น
ใช้เข็มหรืออุปกรณ์ฉีดยาร่วมกับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี มักพบในผู้เสพยาเสพติด
การติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ทั้งการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ติดเชื้อระหว่างที่คลอด หรือติดเชื้อผ่านการให้นมบุตร
ผู้ที่ต้องทำงานอยู่กับอุปกรณ์ที่อาจปนเปื้อนเชื้อเอชไอวีอย่างของมีคมหรือเข็มฉีดยาก็อาจเสี่ยงได้รับเชื้อนี้ได้เช่นกัน
มีเพศสัมพันธ์ทางปาก ถูกผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีกัด
สัมผัสเลือดหรือสิ่งที่ปนเปื้อนเลือดของผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีขณะที่ร่างกายมีแผล ได้รับเลือดหรือการปลูกถ่ายอวัยวะ
ส่วนการจูบแบบเปิดปากหรือการรับประทานอาหารที่ผ่านการเคี้ยวจากผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีนั้น จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีแผลหรือมีเลือดออกในช่องปากเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เชื้อเอชไอวีไม่ถูกส่งผ่านทางน้ำลาย น้ำตา เหงื่อ น้ำ อากาศ หรือสัตว์เลี้ยง ดังนั้น การถูกยุงกัด การกอดหรือสัมผัสเหงื่อของผู้ที่มีเชื้อ การใช้ห้องน้ำร่วมกัน หรือการใช้อากาศหายใจร่วมกับผู้ป่วยนั้น ไม่ทำให้ติดเชื้อได้แต่อย่างใด
อาการของการติดเชื้อเอชไอวี
อาการหลังจากที่ได้รับเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย อาจแบ่งได้ตามระยะของการติดเชื้อ ดังนี้
ระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อเอชไอวี
ในช่วงแรกที่ติดเชื้อปริมาณไม่มาก และยังไม่ได้สร้างภูมิต้านทานขึ้นมาอาจยังตรวจหาเชื้อหรือภูมิต้านทานต่อเชื้อไม่พบ หรือเป็นระยะที่ยังไม่แสดงอาการชัดเจนมากนัก แต่สามารถแพร่เชื้อผู้อื่นได้
ในระยะนี้ผู้ติดเชื้อจะมีอาการไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว มีผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว น้ำหนักลด หรือมีฝ้าขาวในช่องปาก อาการเหล่านี้มักจะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วหายไปได้เอง และเนื่องจากอาการคล้ายไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่หรือไข้ทั่วไป ผู้ติดเชื้ออาจซื้อยากินเองหรือไปพบแพทย์ก็อาจไม่ได้รับการตรวจเลือด
ระยะติดเชื้อที่ไม่มีอาการ
ผู้ติดเชื้อมักจะแข็งแรงเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป แต่เมื่อตรวจเลือดจะพบเชื้อเอชไอวี และสารภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดนี้ จึงสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ เรียกว่าเป็นพาหะ (Carrier) ระยะนี้แม้ว่าจะไม่มีอาการแต่เชื้อเอชไอวี จะแบ่งตัวเจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ และทำลายระบบภูมิคุ้มกันโรคจนมีจำนวนลดลง เมื่อลดต่ำลงมาก ๆ ก็จะเกิดอาการเจ็บป่วย ทั้งนี้อัตราการลดลงของระบบภูมิคุ้มกันโรคจะเร็ว หรือช้าขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อเอชไอวี และสภาพความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันโรคของผู้ติดเชื้อเองด้วย ระยะนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 85 มักเป็นอยู่นาน 5-10 ปี แต่มีกลุ่มผู้ป่วยประมาณร้อยละ 10 ที่ระยะนี้อาจสั้นเพียง 2-3 ปี ซึ่งเรียกว่า กลุ่มที่มีการดำเนินโรคเร็ว (Rapid progressor) ในขณะที่ประมาณร้อยละ 5 จะมีการดำเนินโรคช้า โดยบางรายอาจนานกว่า 10-15 ปีขึ้นไป เรียกว่า กลุ่มที่ควบคุมเชื้อได้ดีเป็นพิเศษ (Elite controller)
ระยะติดเชื้อที่มีอาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการมาก หรือน้อยขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันโรคของแต่ละคน ดังนี้
อาการเล็กน้อย ระยะนี้ถ้าตรวจระดับ CD4 มักจะมีจำนวนมากกว่า 500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ผู้ป่วยอาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองที่คอโตเล็กน้อย โรคเชื้อราที่เล็บ แผลร้อนในในช่องปาก ผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแคที่ไรผม ข้างจมูก ริมฝีปาก ฝ้าขาวข้างลิ้นซึ่งขูดไม่ออก โรคสะเก็ดเงินที่เคยเป็นอยู่เดิมกำเริบ
อาการปานกลาง ระยะนี้ถ้าตรวจระดับ CD4 มักจะมีจำนวนระหว่าง 200-500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ผู้ป่วยอาจมีอาการดังนี้ เริมที่ริมฝีปากหรืออวัยวะเพศ ซึ่งกำเริบบ่อยและเป็นแผลเรื้อรัง งูสวัด โรคเชื้อราในช่องปากหรือช่องคลอด ท้องเสียบ่อยหรือเรื้อรังนานเกิน 1 เดือน มีไข้เป็น ๆ หาย ๆ หรือติดต่อกันทุกวันนานเกิน 1 เดือน ต่อมน้ำเหลืองโตมากกว่า 1 บริเวณ (เช่น คอ รักแร้ และขาหนีบ) นานเกิน 3 เดือน น้ำหนักลดเกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดกล้ามเนื้อและข้อ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง ปอดอักเสบจากแบคทีเรีย
ระยะเอดส์เต็มขั้น
หรือระยะโรคเอดส์ ระยะนี้ระบบภูมิคุ้มกันโรคของผู้ป่วยเสื่อมเต็มที่ ถ้าตรวจระดับ CD4 จะพบว่ามักมีจำนวนต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร เป็นผลทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา โปรโตซัว วัณโรค ฉวยโอกาสเข้ารุมเร้าเรียกว่า โรคติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อที่รักษาค่อนข้างยากและอาจติดเชื้อชนิดเดิมซ้ำ หรือชนิดใหม่หรือหลายชนิดร่วมกัน ระยะนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการดังนี้ มีไข้เรื้อรังติดต่อกันหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน ไอเรื้อรังหรือหายใจหอบเหนื่อยจากวัณโรคปอดหรือปอดอักเสบ ท้องเสียเรื้อรังจากเชื้อราหรือโปรโตซัว น้ำหนักลด รูปร่างผอมแห้งและอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน กลืนลำบากหรือเจ็บเวลากลืนเนื่องจากหลอดอาหารอักเสบจากเชื้อรา สายตาพร่ามัว มองไม่ชัดหรือเห็นเงาหยากไย่ลอยไปลอยมา ตกขาวบ่อยในผู้หญิง มีผื่นคันตามผิวหนัง ซีด มีจุดแดงจ้ำเขียวหรือเลือดออกจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ สับสน ความจำเสื่อม หลงลืมง่าย ไม่มีสมาธิ พฤติกรรมผิดแปลกจากเดิมเนื่องจากความผิดปกติของสมอง ปวดศีรษะรุนแรง ชัก สับสน ซึม หรือหมดสติจากการติดเชื้อในสมอง อาการของโรคมะเร็งที่เกิดแทรกซ้อน เช่น มะเร็งของผนังหลอดเลือด มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก เป็นต้น
การวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี
หากผู้ที่สงสัยว่าตนเองอาจติดเชื้อได้รับการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี และวินิจฉัยว่าติดเชื้อหรือไม่ แล้วรับยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพโดยเร็ว จะช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเอชไอวีพัฒนากลายไปเป็นโรคเอดส์ได้ในอนาคต
การตรวจหาเชื้อเอชไอวีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน มีดังนี้
การตรวจสอบแอนติเจน/แอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อเอชไอวี (Antigen/antibody tests) เป็นการตรวจสอบที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด โดยแพทย์จะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาแอนติเจน หรือโปรตีนของเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า p24 ( p24 antigen testing) และตรวจหาแอนติบอดี้ของร่างกายในคราวเดียวกัน โดยเป็นวิธีการตรวจหาเชื้อเอชไอวี หลังจากสงสัยว่าได้รับเชื้อประมาณ 18-45 วันแรก
การตรวจหาแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV antibody tests) เป็นการตรวจหาเชื้อ HIV โดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาภูมิต้านทาน (Antibody) ต่อเชื้อเอชไอวี เพื่อตรวจปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 หรือ T-cells ในร่างกาย พร้อมกับตรวจการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่ทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี โดยเป็นวิธีการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ที่สามารถทำได้หลังจากสงสัยว่าได้รับเชื้อประมาณ 23-90 วันแรก
การตรวจหาสารทางพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี (Nucleic acid tests: NATs) เป็นการตรวจหาเชื้อเอชไอวี โดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสเอชไอวี โดยเป็นวิธีที่แพทย์นิยมใช้ตรวจหาเชื้อไวรัสในเชิงปริมาณ (Viral load assays) ทั้งก่อนและหลังรับการรักษาเพื่อติดตามประเมินผลการรักษา การตรวจหาเชื้อเอชไอวี ด้วยวิธีการนี้ สามารถทำได้หลังจากสงสัยว่าได้รับเชื้อประมาณ 10-33 วันแรก
การรักษาการติดเชื้อเอชไอวี
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาดได้ แต่แพทย์จะใช้ยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral Drug; ARV) ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งและต้านการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาว อีกทั้งยังลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายสู่ผู้อื่นด้วย การรักษาอาการติดเชื้อเอชไอวีประกอบด้วยการใช้ยาต้านไวรัสในกลุ่ม ARV หลายชนิดรวมกันเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อ หรือเรียกว่า Antiretroviral therapy (ART) วิธีการนี้เป็นการรักษาโรคโดยการควบคุมไวรัสไม่ให้ขยายพันธุ์ ทำให้ผู้ติดเชื้อมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ในปัจจุบันวงการแพทย์แนะนำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคนรับการรักษาด้วย ยา ARV เพราะการกินยาเพื่อการรักษาหลังจากรู้ผลการตรวจว่าติดเชื้อเอชไอวี สามารถเริ่มกินยาได้ทันทีเมื่อมีความพร้อม และกินให้ตรงเวลา สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง การกินยาเร็ว ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีไม่พัฒนาไปสู่ขั้นโรคเอดส์ และยังช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย และโรคติดเชื้อฉวยโอกาสต่างๆ เช่น มะเร็งบางชนิด
การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี
สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ทำได้โดยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่ ดังต่อไปนี้
สวมถุงยางอนามัย ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากในปัจจุบันถุงยางอนามัยมีทั้งของผู้ชาย และผู้หญิง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วย โดยใช้ป้องกันได้ทั้งการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางทวารหนัก หรือทางปาก นอกจากนี้การใช้สารหล่อลื่นร่วมกับถุงยางอนามัยอาจช่วยป้องกันถุงยางอนามัยฉีกขาด และช่วยลดความเสี่ยงต่อการฉีกขาดของช่องคลอด หรือทวารหนัก
การกินยาป้องกันก่อนการติดเชื้อเอชไอวี เพราะการใช้ยาต้านเชื้อเอชไอวี Pre-Exposure Prophylaxis หรือ PrEP เป็นอีกวิธีที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี หรือยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อ โดยการรับประทานยาชนิดนี้ตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ และยังช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไม่ให้ลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ในร่างกายได้อีกด้วย
ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยการพาคู่นอนและตนเองไปตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน หนองในเทียม หรือซิฟิลิส จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงมากขึ้นในการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการที่ปรากฏเด่นชัด ฉะนั้น ทั้งผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่รัก หรือผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่รักของตนเองก็ตาม ควรไปรับการตรวจปีละครั้ง
ตรวจเชื้อเอชไอวีขณะตั้งครรภ์ เพราะเชื้อไวรัสชนิดนี้อาจถูกส่งผ่านจากแม่สู่ลูกได้ ซึ่งหากคุณแม่มีเชื้อเอชไอวีขณะตั้งครรภ์ ควรไปปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการคลอดที่เหมาะสม และการใช้ยาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปสู่ลูก โดยหลังจากคลอดแล้ว ลูกน้อยที่เพิ่งคลอดก็ยังคงต้องรับยาต้านเอชไอวี ซึ่งยาจะช่วยป้องกันเด็กทารกจากการติดเชื้อเอชไอวีในขณะคลอดได้ นอกจากนี้ การให้เด็กดื่มนมแม่ที่มีเชื้อเอชไอวีอาจทำให้ลูกน้อยติดเชื้อได้ จึงควรให้เด็กดื่มนมผงแทน
หลีกเลี่ยงการใช้เข็มหรืออุปกรณ์ฉีดยาร่วมกับผู้อื่น เพราะการใช้เข็มฉีดยาอาจนำมาซึ่งเชื้อเอชไอวีและเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อยู่ในเลือดอย่างไวรัสตับอักเสบซีได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวร่วมกับผู้อื่น ฉะนั้นทุกครั้งที่จะใช้ยาเสพติดด้วยการฉีด จะต้องใช้เข็มใหม่ที่สะอาดทุกครั้ง และนอกจากนี้ หากต้องการสักหรือเจาะตามร่างกาย ควรใช้อุปกรณ์ที่สะอาดและปราศจากเชื้อเสมอ
การมีเพศสัมพันธ์ในขณะมึนเมา ในระหว่างการดื่มเหล้า หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ หรือการใช้สารเสพติด อาจเป็นการยากที่คุณจะมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย หรือใช้ถุงยางอนามัยได้อย่างถูกต้อง
การเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวี (HIV) เป็นปัจจัยที่สำคัญในการรักษาสุขภาพ และป้องกันการติดเชื้อทั้งตัวเราเอง และชุมชน ความรู้เกี่ยวกับวิธีการติดเชื้อ, ปัจจัยเสี่ยง, และวิธีป้องกันเป็นสิ่งที่สำคัญในการลดโอกาสของการรับเชื้อ การแพร่ระบาดของเอชไอวีส่งผลกระทบต่อสังคมมากมาย ดังนั้น การกระจายข้อมูล และการสร้างความเข้าใจในสังคมเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวีจึงมีความสำคัญ เพื่อให้ทุกคนสามารถป้องกันตนเองและช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคนี้ในชุมชนไทยอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพที่สูงสุด
Comments