top of page
Siri Writer

ทำความรู้จักกับโรคแผลริมอ่อน: อันตราย และผลกระทบต่อสุขภาพ

Updated: Dec 16, 2023

โรคแผลริมอ่อน เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดขึ้นจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดแผลที่มีขอบอ่อน (แผลริมอ่อน) บริเวณอวัยวะเพศ มีอาการบวม และปวดที่ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ และยังเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี เพราะการมีแผลที่รุนแรง ทำให้เป็นโรคติดต่อร้ายแรงแต่รักษาได้ ฉะนั้นเราควรเข้าใจโรคแผลริมอ่อน ถึงสาเหตุ อาการ การรักษา แลพการป้องกันเพื่อดูแลสุขภาพของตัวเอง

ภาพประกอบ: การเข้าใจโรคแผลริมอ่อนและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพ. คำอธิบาย: โรคแผลริมอ่อนอาจมีความอันตรายและสามารถทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้
ทำความรู้จักกับโรคแผลริมอ่อน อันตราย และผลกระทบต่อสุขภาพ

โรคแผลริมอ่อน คืออะไร?

โรคแผลริมอ่อน (Chancroid หรือ Soft chancre) บางครั้งเรียกว่า โรคซิฟิลิสเทียม  เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่อวัยวะเพศทั้งชาย และหญิง  เมื่อได้รับเชื้อจะทำให้เกิดมีตุ่มนูนแดงหลาย ๆ ตุ่ม โดยตุ่มดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ส่วนต่าง ๆ ของอวัยวะเพศ หลังจากนั้นจะเกิดเป็นแผล โดยขนาดของแผลจะอยู่ที่ประมาณ 3 มิลลิเมตร ไปจนถึง 5 เซนติเมตร ลักษณะของแผลจะคล้ายแผลเปื่อย นุ่มแต่แฉะ มีเนื้อเละบริเวณก้นแผล ส่วนขอบแผลจะนูนนิ่มแต่ไม่เรียบ หากปล่อยไว้นานตุ่มจะเริ่มขยายใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นหนอง และก่อให้เกิดการระคายเคืองร่วมกับอาการต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตติดกันเป็นพืดและเจ็บ ทำให้สามารถแพร่เชื้อไปยังคู่นอนระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ทางปาก รูทวาร หรือช่องคลอดได้


สาเหตุโรคแผลริมอ่อน

สาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ฮีโมฟิลุส ดูเครย์ (Haemophilus ducreyi) ทำให้มีแผลที่อวัยวะเพศคล้ายกับโรคซิฟิลิส โรคเริม โรคฝีมะม่วง และการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเชื้อชนิดนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ที่หนอง และจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางรอยถลอกบนผิวหนัง หลังจากนั้นเชื้อจะสร้างสารพิษ ขึ้นมาทำให้เกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศ และมีหนองไหล สำหรับลักษณะของแผลริมอ่อนจะมีขอบเขตไม่เรียบ ก้นแผลค่อนข้างลึก เซาะออกทางด้านข้าง และสกปรก มักมีอาการเจ็บที่แผลมาก และสามารถทำให้ป่วยด้วยโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ง่าย 

ระยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการ) :ประมาณ 1 – 14 วัน แต่เฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 5-7 วัน จึงเริ่มพัฒนาอาการให้เห็นชัดตามมา


ใครที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโรคแผลริมอ่อน

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ทำการสวมถุงยางอนามัย

  • ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ หรือมีคู่นอนหลายคน

  • ผู้ที่ใช้บริการทางเพศ

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวาร 

  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แถบแคริบเบียนและแอฟริกา

  • ผู้ที่เดินทางหรืออาศัยอยู่ในประเทศที่น้ำ อาหาร ที่อยู่อาศัย และระบบสาธารณสุขไม่สะอาด

รูปภาพประกอบ: อาการโรคแผลริมอ่อน. คำอธิบาย: รายละเอียดเกี่ยวกับอาการของโรคแผลริมอ่อนที่อาจปรากฏ เช่น แผลที่แดงและรู้สึกอ่อนเพลีย
อาการโรคแผลริมอ่อน

อาการโรคแผลริมอ่อน

อาการโดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยจะมีอาการแตกต่างกันไปในผู้ชาย และผู้หญิง  

  • ผู้ชาย มักพบบริเวณหนังหุ้มปลายและถุงอัณฑะ 

  • ผู้หญิง มักพบบริเวณแคมเล็ก, ขาหนีบ และปากช่องคลอด 

ลักษณะและอาการอื่น ๆ ที่มักพบร่วมกันในผู้ชายและผู้หญิง เช่น

  • หลังจากได้รับเชื้อผ่านทางเพศสัมพันธ์ประมาณ 3-7 วัน จะเกิดเป็นตุ่มนูนแดงบริเวณอวัยวะเพศ และค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นแผลหนอง 

  • ขนาดของแผลมีตั้งแต่ ⅛ - 2 นิ้ว (3 มิลลิเมตร-5 เซนติเมตร) และมักมีมากกว่า 4 แผลขึ้นไป 

  • มีอาการเจ็บ หรือปวดมาก บริเวณแผล

  • ตำแหน่งของแผลอาจเกิดได้ทั่วบริเวณอวัยวะเพศ

  • ลักษณะกลางแผลค่อนข้างนิ่ม มีความนูน ขอบแผลชัดเจน มีตั้งแต่สีเหลืองปนเทาไปจนถึงสีเทา

  • เมื่อสัมผัสหรือเสียดสีอาจทำให้เลือดออกที่แผลได้ง่าย

  • ปวดในขณะปัสสาวะ อุจจาระ หรือมีเพศสัมพันธ์

  • ในผู้หญิง อาจมีตกขาวมากและกลิ่นรุนแรง

  • มีอาการบวมของต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบข้างเดียวหรืออาจเป็นทั้ง 2 ข้าง

  • ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบบวมโตจนกลายเป็นแผลหนอง และอาจทำให้เกิดฝีขนาดใหญ่


ภาวะแทรกซ้อนของโรคแผลริมอ่อน

  • มีท่อ และมีหนองไหลตลอดเวลาติดต่อระหว่างอวัยวะที่ติดโรคหรือเป็นแผล เช่น ช่องคลอดกับทวารหนัก และเกิดรอยทะลุขึ้นของท่อปัสสาวะ (Urethral Fistula)กับผิวหนัง เป็นต้น

  • หนังหุ้มปลายองคชาติตีบตัน (Phimosis)จึงเปิดไม่ขึ้น ทำให้ทำความสะอาดยากจนส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรังที่ปลายองคชาติที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งอวัยวะเพศชายได้

  • ทำให้มีโอกาสติดเชื้อโรคเอชไอวีได้ง่ายขึ้น และมีผลพวงจากการเป็นแผลที่มีการติดเชื้อชนิดอื่นๆ ซ้ำได้ง่าย

  • เกิดเป็นแผลเป็น แผลดึงรั้ง และพังผืดบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์ได้

  • เกิดฝีขนาดใหญ่บริเวณที่เป็นหนอง

  • ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบอาจจะอักเสบจนแตกเป็นหนองไหลออกมา

  • อาจทำให้อวัยวะเพศแหว่งหายได้ หรือที่เรียกกันว่าโรคฮวบ

รูปภาพประกอบ: การวินิจฉัยโรคแผลริมอ่อน. คำอธิบาย: ขั้นตอนและเทคนิคในการทำการวินิจฉัยโรคแผลริมอ่อน
การวินิจฉัยโรคแผลริมอ่อน

การวินิจฉัยโรคแผลริมอ่อน

แพทย์จะสอบถามอาการผิดปกติที่พบ ประวัติทางการแพทย์ และตรวจร่างกายทั่วไป ซึ่งจะต้องตรวจดูแผลที่เกิดบริเวณอวัยวะเพศอย่างละเอียด  และทำการตรวจสอบโรคแผลริมอ่อน อย่างละเอียดโดยจะมีอยู่ 3 วิธีหลักๆ ที่นิยมใช้กัน ดังนี้


การเก็บตัวอย่างของเหลวจากบริเวณแผลหรือตกขาว และย้อมสีดูเชื้อ (Gram stain) 

จะเป็นวิธีที่นิยม เนื่องจากได้ผลเร็ว และราคาถูก โดยแพทย์จะใช้สไลด์แก้ว น้ำยาเล็กน้อย และกล้องจุลทรรศน์ในการตรวจหาเชื้อ แต่ก็ต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากการเก็บตัวอย่างในบางรายอาจได้เชื้อปริมาณที่น้อยทำให้มองเห็นไม่ชัดเจน หรือถ้าดูแบบผ่านๆ ก็อาจทำให้ไม่เห็นเชื้อแบคทีเรียด้วยเช่นกัน


การเพาะเชื้อ (Bacterial culture) 

เป็นวิธีการเก็บตัวอย่างเพื่อส่งไปเพาะเชื้อแล้วหาว่าเชื้อที่ได้มานั้นมีชนิดไหนบ้าง และมีอาการดื้อยาหรือไม่ แต่วิธีการนี้จะทำได้กับเฉพาะเชื้อที่ตายไปหมดแล้ว หรือป้ายไม่โดนบริเวณที่เชื้อยังมีชีวิตจึงจะได้ผล รวมถึงต้องเก็บเชื้อในสารเพาะเชื้อชนิดจำเพาะอีกด้วย


การตรวจ PCR (Polymerase Chain Reaction) 

จะเป็นการตรวจที่มีความแม่นยำสูง และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือมากขึ้น โดยวิธีการจะเริ่มจากเก็บชิ้นส่วน DNA ของเชื้อที่อยู่ในช่องคลอด หรือที่บริเวณแผล เพื่อหาชิ้นส่วน DNA ของเชื้อ หลังจากนั้นจะส่งตรวจด้วยวิธีที่เรียกว่า PCR สามารถใช้วิธีนี้ตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสได้พร้อมกันหลายชนิด และสามารถเก็บสิ่งส่งตรวจไว้ได้นานถึง 14 วัน โดยไม่มีผลต่อความแม่นยำของการตรวจ


การตรวจโรคแผลริมอ่อนในปัจจุบันนี้ ยังไม่สามารถตรวจได้จากการเจาะเลือด แต่การตรวจเลือดอาจใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น บางรายอาจได้รับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี เพราะมักเป็นโรคที่เกิดร่วมกันได้สูง ทั้งนี้แพทย์จะตรวจบริเวณขาหนีบเพื่อดูว่ามีต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วยหรือไม่ด้วย หากต่อมน้ำเหลืองมีหนองจะได้พิจารณาดูดหนองออก

 

นอกจากนี้ยังมีการตรวจพบโรคแผลริมอ่อนบ่อยครั้งจากการตรวจหาดีเอ็นเอของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคแผลริมอ่อน เช่น

  • ตรวจทางช่องคอ THROAT SWAB DNA TEST FOR 12 INFECTIONS

  • ตรวจทางช่องคลอด VAGINAL SWAB DNA TEST FOR 12 INFECTIONS

  • ตรวจทางปัสสาวะ URINE PCR DNA TEST FOR 12 INFECTIONS

  • ตรวจทางทวารหนัก ANAL SWAB DNA TEST FOR 12 INFECTIONS

รูปภาพประกอบ: การรักษาโรคแผลริมอ่อน. คำอธิบาย: วิธีและแนวทางการรักษาโรคแผลริมอ่อน เช่น การใช้ยา, การดูแลแผล, และกิจกรรมที่ส่งเสริมการฟื้นฟูสุขภาพ
การรักษาโรคแผลริมอ่อน

การรักษาโรคแผลริมอ่อน

โรคแผลริมอ่อนส่วนใหญ่รักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะการใช้ยาจะช่วยให้ผู้ป่วยหายได้ไวขึ้น และลดรอยแผลเป็น แต่ในบางรายที่มีอาการต่อมน้ำเหลืองบวมจนมีขนาดใหญ่อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด

โดยแพทย์จะวินิจฉัยและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้ ดังนี้

  • การรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะมีอยู่หลายชนิด เช่น ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ยาซิโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) ยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ซึ่งจะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและบรรเทาอาการให้ดีขึ้นภายใน 7 วัน เมื่อใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและถูกประเภท แต่สำหรับผู้ที่เกิดการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยอาจตอบสนองต่อยาได้ช้าลง และบางรายที่ใช้ยาไม่ได้ผลภายใน 7 วัน อาจจำเป็นต้องวินิจฉัยโรคใหม่อีกครั้ง

  • การผ่าตัด จะรักษาแผลริมอ่อนจะทำก็ต่อเมื่อเกิดแผลลุกลามจากต่อมน้ำเหลืองที่โตขึ้นจนกลายเป็นฝีอักเสบ และมีแผลขนาดใหญ่  ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด เพื่อระบายเอาหนอง หรือฝีออก และลดโอกาสปวดบวมของแผล ซึ่งแพทย์อาจใช้การผ่าตัดห รือเจาะเอาหนองออก ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน การรักษาอาจใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน ในระหว่างนี้ ในระหว่างนี้ ผู้ป่วยควรงดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแผลจะหายสนิทดี ดูแลความสะอาดของร่างกายและแผล    

  • นอกจากการรักษาด้วยการกินยา และการผ่าตัดแล้วก็ควรที่จะทำการดูแลตัวเองเพื่อให้หายจากโรคแผลริมอ่อนได้เร็วมากขึ้น และลดอัตราการเกิดโรคซ้ำ เช่น

    • ทำความสะอาดและล้างอวัยวะเพศบ่อยๆ 

    • งดการมีเพศสัมพันธ์ รอจนกว่าจะแน่ใจว่าแผลหายและไม่มีการติดเชื้อซ้ำ เพื่อลดอัตราการแพร่เชื้อให้กับคู่นอน นอกจากนี้การมีเพศสัมพันธ์ยังทำให้มีอาการเจ็บจากการที่แผลโดนเสียดสี และเสี่ยงต่อการแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นได้

    • งดดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด จนกว่าแผลจะหาย

    • ใช้น้ำเกลือล้างทำความสะอาดบริเวณแผลแล้วเช็ดแผลให้แห้ง


การป้องกันโรคแผลริมอ่อน

วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือ ป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อโรคตั้งแต่แรก ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์

  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย

  • ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคนี้ หรือมีบาดแผลบริเวณอวัยวะเพศ

  • รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ

  • ควรตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกปี

  • ผู้ที่เป็นโรคควรงดการมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ หรือในรายที่คาดว่าได้รับเชื้อควรงดการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 10 วัน และไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ

  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมึนเมา หรือยาเสพติดประเภทต่างๆ (การดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมึนเมา หรือการใช้ยาเสพติดต่างๆ มีผลทำให้ขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ และอาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันได้)

  • สำหรับสตรีมีครรภ์ทุกราย แพทย์แนะนำว่าควรได้รับการตรวจคัดกรองแผลริมอ่อนระหว่างการตั้งครรภ์


โรคแผลริมอ่อน เป็นโรคที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพเพศ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากการมีแผลที่รุนแรงอาจทำให้มีโอกาสในการติดเชื้อไวรัส  ฉะนั้นการเข้าใจถึงสาเหตุ, อาการ, การรักษา, และการป้องกันเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถดูแลสุขภาพเพศของเราได้อย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย รวมถึงการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ ก็เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันโรคนี้ เพื่อให้สามารถดูแลสุขภาพเพศของตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ


Comments


bottom of page