ถุงยางอนามัยเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยงของการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี โรคซิฟิลิส โรคหนองใน โรคเริม โรคหูดหงอนไก่ และยังช่วยในเรื่องการคุมกำเนิด การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม โดยประสิทธิภาพจะมีมาก หรือน้อยขึ้นอยู่ว่าใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงการสวมถุงยางอนามัย 2 ชั้นระหว่างมีเพศสัมพันธ์ อาจไม่ได้ช่วยเพิ่มความปลอดภัยอย่างที่คาดหวัง แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะถุงยางอนามัยแตก หรือฉีก ขาดได้ ควรทำความเข้าใจก่อนว่าเหตุใดการใส่ถุงยางอนามัย 2 ชั้นจึงไม่มีประสิทธิภาพการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือการคุมกำเนิด
การสวมถุงยางอนามัย 2 ชั้น ช่วยป้องกันได้เพิ่มเป็นสองเท่าจริงหรือไม่?
การสวมถุงยางอนามัยชั้นเดียว โดยปกติสามารถป้องกันได้เกือบ 100%
ปกติการสวมถุงยางอนามัยที่ดี คือ ควรเลือกขนาดที่เหมาะสม ไม่เล็ก หรือใหญ่จนเกินไป ซึ่งจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันสูงสุดที่ประมาณ 98% สำหรับการใช้งานอย่างถูกวิธี
แต่มีโอกาสพลาดได้ 2%
เหตุผลที่มีโอกาสพลาดได้ 2% มาจากการหลายสาเหตุ เช่น ผลิตภัณฑ์ชำรุด หรือน้ำอสุจิไหลออกจากถุงยางอนามัยเข้าไปในช่องคลอด ทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้ในบางราย ซึ่งถ้าน้ำอสุจิไม่มีการตกค้างในช่องคลอด จะไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นแน่นอน แต่บ่อยครั้งที่เกิดความประมาท
สรุป คือ การสวมถุงยางอนามัย 2 ชั้น มีโอกาสพลาดมากขึ้น
การสวมถุงยางอนามัยเพิ่มขึ้นอีกชั้น ไม่ได้ช่วยเพิ่มโอกาสในการป้องกันการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือการตั้งครรภ์ แต่กลับเพิ่มโอกาสที่ถุงยางอนามัยทั้ง 2 ชั้น จะเกิดการเสียดสีกันเองระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ จนเกิดการฉีกขาด แตก หรือมีรอยรั่วได้ จึงทำให้มีโอกาสติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมได้ และเพิ่มโอกาสที่ถุงยางอนามัยจะหลุดเข้าไปค้างในช่องคลอดของฝ่ายหญิงมีสูงมากขึ้นด้วย และยังทำให้ความรู้สึกทางเพศลดลง เพราะการเพิ่มชั้นลาเท็กซ์ หรือโพลียูรีเทนสามารถลดความไวของทั้งคู่ได้ขณะมีเพศสัมพันธ์ เป็นผลทำให้การมีเพศสัมพันธ์มีความสนุกน้อยลง และอาจถึงจุดสุดยอดได้ยาก
ฉะนั้น จึงไม่ควรสวมถุงยางอนามัย 2 ชั้น เพราะแค่ชั้นเดียวก็เพียงพอ แค่ต้องมีความระมัดระวัง คอยสังเกตว่ามีฉีกขาด หรือรอยรั่ว บนถุงยางอนามัยหรือไม่ หรือควรเลือกถุงยางอนามัยที่มีคุณภาพสูง เพราะสองไม่ได้ดีกว่าหนึ่งในกรณีนี้ เน้นการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ก็เพิ่มความปลอดภัย และประสิทธิภาพสูงสุดได้แล้ว
การใช้ถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง
ใช้ถุงยางอนามัยที่ยังไม่หมดอายุ
ใช้มือฉีกซองถุงยาง ไม่ใช้กรรไกร หรือมีดตัด
ใช้ถุงยางอนามัยที่มีขนาดพอดี กับขนาดอวัยวะเพศ
ไม่ปล่อยให้อวัยวะเพศชายอ่อนตัวก่อนที่จะดึงออกมา
ไม่ใช้ถุงยางอนามัยซ้ำ
ไม่ใช้วาสลีน หรือน้ำมันทาบนถุงยางอนามัย
ประสิทธิภาพของถุงยางอนามัย
ถุงยางอนามัย เป็นเหมือนปราการป้องกันเลือด น้ำอสุจิ และสารคัดหลั่งจากช่องคลอดไม่ให้ส่งต่อไปยังคู่นอนในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เพราะเลือด น้ำอสุจิ และสารคัดหลั่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีโอกาสเป็นแหล่งเชื้อโรคได้ทั้งสิ้น
ด้านการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ถุงยางอนามัยช่วยป้องกันจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted disease; STD) เช่น ติดเชื้อเอชไอวี โรคหนองใน โรคหนองในเทียม และโรคไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น
ถุงยางอนามัยช่วยปกป้องจากโรคไม่พึงประสงค์ได้ดีที่สุด แม้จะป้องกันได้ไม่หมดทุกโรคก็ตาม ซึ่งมีปัจจัยที่ต้องคํานึงถึง ดังต่อไปนี้
เชื้อโรคสามารถแทรกซึมผ่านถุงยางอนามัยได้หรือไม่
การแพร่เชื้อมักจะมากับสารคัดหลังจากช่องคลอด หรือ อวัยวะเพศชายใช่หรือไม่
ใช้ถุงยางอนามัยถูกต้องหรือไม่ ถุงยางปริ แตก รั่ว หรือเลื่อนหลุดหรือไม่
ถุงยางอนามัยจะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้ตราบเท่าที่ของเหลว หรือบริเวณที่ปนเปื้อนเชื้อโรคถูกคั่นแบ่งด้วยถุงยางอนามัย ไม่เช่นนั้นถุงยางอนามัยก็คงไร้ความหมาย ดังเช่น กรณีออรัลเซ็กส์ เพราะเยื่อบุช่องปากที่สัมผัสบริเวณอวัยวะเพศ หรือสารคัดหลั่งที่มีเชื้อโรคโดยตรงก็อาจทำให้ติดโรคนั้นๆ มาได้
ด้านการป้องกันการตั้งครรภ์
หากใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี (Perfect use) โอกาสที่การคุมกำเนิดจะล้มเหลวมีอยู่เพียง 2% เท่านั้น เพราะหน้าที่ของถุงยางอนามัย คือ การป้องกันไม่ให้น้ำอสุจิ เล็ดลอดเข้าไปในบริเวณช่องคลอดได้ ซึ่งการสวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ จะช่วยให้มีโอกาสคุมกำเนิดได้มากขึ้น เมื่อมีการสวมถุงยางอนามัยที่ถูกวิธี ดังนั้นควรสวมถุงยางตลอดเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ และสังเกตให้ดีก่อนว่าถุงยางอนามัยที่สวมอยู่นั้น รั่วหรือชำรุดหรือไม่ ก็สามารถเพิ่มความสบายใจ และมั่นใจในการใช้ถุงยางอนามัยได้มากขึ้น
คําแนะนําในการใช้ถุงยางอนามัยให้ได้ผลมากที่สุด
ถุงยางอนามัยมีวันหมดอายุ ควรตรวจสอบวันหมดอายุก่อนนำมาใช้งานทุกครั้ง
ถุงยางอนามัยที่ทําจากลาเท็กซ์ หรือโพลียูริเทน มีคุณสมบัติปกป้องได้เหนือกว่าถุงยางจากธรรมชาติที่ทําจากหนังแกะซึ่งจะมีรูขนาดใหญ่กว่า เชื้อโรคบางชนิดสามารถผ่านได้
ต้องสวมถุงยางคลุมอวัยวะเพศชายทั้งลํา และสวมตั้งแต่ก่อนมีเพศสัมพันธ์ไปจนสิ้นสุดกระบวนการ
ระยะเวลาในการใช้งาน การใช้ 1 ชิ้นจะต้องใช้ไม่เกิน 30 นาที เพราะความสมบูรณ์ของตัวถุงยางอนามัยอาจจะเสื่อมสภาพลง ทำให้ถุงยางอนามัยรั่วได้ ควรใช้เพียงครั้งเดียว ใช้แล้วทิ้งเท่านั้น ห้ามนำกลับมาใช้ใหม่โดยเด็ดขาด
สวมถุงยางอนามัยชิ้นใหม่ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หลังจากเสร็จกิจแล้ว ถอดถุงยางอนามัยออกอย่างระมัดระวัง อย่าให้รั่ว หรือแตก หากใช้ถุงยางอนามัยเป็นประจํา โอกาสผิดพลาดจะน้อย
ห้ามใช้น้ำมัน หรือวาสลีน เพราะจะทําให้ถุงยางอนามัยอ่อนตัวลงและแตกง่าย ควรใช้เป็นสารหล่อลื่นแบบน้ำแทน
เก็บรักษาถุงยางอนามัยใหม่ ให้พ้นจากความร้อน หรือแสงแดด และไม่ควรเก็บในที่ชื้น เช่น ในช่องเก็บของบนพาหนะเนื่องจากมีความร้อนสูง และไม่ควรเก็บในที่ถูกทับ หรือบีบรัด เช่น กระเป๋ากางเกง กระเป๋าเงิน เพราะจะมีการกดทับหักงอ ทำให้ถุงยางอนามัยฉีกขาดได้ง่าย หรือซองบรรจุฉีกขาดทำให้มีการปนเปื้อนจากภายนอกได้
การเพิ่มถุงยางอนามัยให้เป็น 2 ชั้นอาจเห็นดูเป็นวิธีที่ง่ายในการเพิ่มการป้องกัน แต่ความจริงแล้วอาจส่งผลให้เกิดการเสียดสี การฉีกขาด แตก หรือมีรอยรั่วได้ ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มโอกาสติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม ฉะนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดควรให้ความสำคัญกับการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้อง และควรพิจารณาเพิ่มความปลอดภัยด้วยวิธีอื่นควบคู่กันไป เช่น กินยาต้านไวรัสควบคู่กับการใช้ถุงยางอนามัย หรือการกินยาคุมกำเนิดควบคู่กับการใช้ถุงยางอนามัยก็สามารถช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลังได้ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์หรือการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม
コメント