top of page
Siri Writer

สารเสพติด กับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี

Updated: Jan 11, 2024

การใช้สารเสพติด  เป็นสาเหตุหนึ่งในการแพร่เชื้อเอชไอวี เช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือวัสดุฉีดอื่นๆ ที่ปนเปื้อนเชื้อเอชไอวีร่วมกัน ซึ่งรวมทั้งการดื่มแอลกอฮอล์ และการกินยา การสูบบุหรี่ หรือการสูดดมยา ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการติดเชื้อเอชไอวีด้วยเช่นกัน เพราะสารเหล่านี้ ทำให้ผู้เสพขาดวิจารณญาณในการตัดสินใจที่ถูกต้อง ซึ่งอาจนำไปสู่พฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยง เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย การมีคู่นอนหลายคน ที่ทำให้ผู้คนมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อ และแพร่เชื้อเอชไอวีมากขึ้น และสำหรับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี การใช้สารเสพติด หรือแอลกอฮอล์นั้น สามารถเร่งการลุกลามของเชื้อเอชไอวี ซึ่งส่งผลต่อการกินยาต้านไวรัสเอชไอวี ทำให้การรักษาเอชไอวีแย่ลง 

ภาพรวมเกี่ยวกับสารเสพติดและความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี
สารเสพติด กับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี

ความเกี่ยวข้องระหว่างการใช้สารเสพติด กับเอชไอวี

การใช้สารเสพติด หมายถึง การใช้สารเสพติด ทั้งแบบฉีด และแบบไม่ฉีด เช่น ฝิ่น เฮโรอีน ยาบ้า โคเคน ยาสูดพ่น (poppers)  และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นการใช้เพื่อความบันเทิง ซึ่งอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี หรือส่งต่อไปยังผู้อื่นเพิ่มมากขึ้น และยังรวมถึงการใช้ยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์ และยาที่จำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์ในทางที่ผิด ซึ่งยาบางชนิดมีสารกระตุ้น ก็อาจทำให้เกิดพฤติกรรมที่เสี่ยงได้เช่นกัน ซึ่งการใช้สารเสพติดเหล่านี้ อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพราะทั้งสารเสพติด และแอลกอฮอล์ มีผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง และทำลายตับได้


สารเสพติดที่นิยมใช้กันทั่วไป 

สารเสพติดที่นิยมใช้กันทั่วไป  ที่ทำให้ผู้เสพมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ดังนี้

  • แอลกอฮอล์ (Alcohol) การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป โดยเฉพาะการดื่มหนักนั้น ทำให้มีพฤติกรรมที่เพิ่มโอกาสในการได้รับ หรือแพร่เชื้อเอชไอวี เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ไม่ใช้ยาป้องกันเอชไอวี หรือไม่ใช้ยารักษาเอชไอวี และทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ได้รับกระทบ หรือก่อให้เกิดผลเสียต่อผลการรักษาเอชไอวี นั้นมีประสิทธิภาพลดลงได้

  • ฝิ่น (Opioids) ซึ่งเป็นยาประเภทหนึ่งที่ใช้ลดความเจ็บปวด รวมถึงเฮโรอีนที่ผิดกฎหมาย เฟนทานิลฝิ่นสังเคราะห์ และยาแก้ปวดที่ต้องสั่งโดยแพทย์ เช่น ออกซีโคโดน ยาเหล่านี้มักถูกฉีดเข้าไป และมักจะมีการใช้เข็มฉีดยา กระบอกฉีดยา หรืออุปกรณ์ฉีดอื่นๆ ร่วมกัน ก็มีโอกาสเสี่ยงได้รับเชื้อ หรือแพร่เชื้อเอชไอวีได้เพิ่มมากขึ้น 

  • ยาบ้า (Methamphetamine, Meth) ยาบ้า. ยาบ้าเป็นยากระตุ้นประสาท ทำให้ผู้ใช้รู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา หรือได้ยิน และเห็นภาพหลอน นอนไม่หลับ  ส่วนใหญ่จะเสพโดยการกลืนเม็ดลงไปในกระเพาะอาหาร หรือเสพโดยการเผาไฟแล้วสูบควันและมักใช้ร่วมกับสารอื่นๆ สำหรับผู้ที่ฉีดยาบ้า  โดยใช้เข็ม กระบอกฉีดยา และอุปกรณ์ฉีดอื่นๆ ร่วมกัน จึงมีโอกาสได้รับเชื้อ หรือแพร่เชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้น รวมถึงการทำให้มีพฤติกรรมทางเพศเสี่ยงที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้น เช่น บางคนใช้ยาบ้าเพื่อเพิ่มประสบการณ์ทางเพศ  โดยการมีเพศสัมพันธ์แบบหลายคน และเป็นการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย 

ภาพรวมเกี่ยวกับสารเสพติดที่นิยมใช้กันทั่วไป
สารเสพติดที่นิยมใช้กันทั่วไป
  • โคเคน (Cocaine)  เป็นสารที่ได้จากธรรมชาติ โดยสกัดมาจากใบของต้นโคคา (erythroxylum coca) มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทอย่างแรง รูปแบบ โคเคนที่นิยมเสพส่วนใหญ่ ได้แก่

    • โคเคนไฮโดรคลอไรด์ จะมีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว เสพโดยการสูดผงยาเข้าโพรงจมูก (snort) หรือนำไปละลายน้ำแล้วฉีดเข้าหลอดเลือดดำ

    • ฟรีเบสโคเคน จะมีลักษณะเป็นก้อนแข็งสีขาว ไปจนถึงสีน้ำตาลเข้มคล้ายดินลูกรัง มีชื่อเรียกเฉพาะว่า แคร็ก (crack) หรือ ร็อค (rock) เสพโดยการนำไปเผาไฟแล้วสูบควัน (smoke)เข้าปอด

  • สารสูดดม (Inhalants) หรือ เอมิลไนไตรท์ (Amyl Nitrite) เป็นสารระเหยประเภทหนึ่งที่เดิมทีถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ เพื่อรักษาอาการปวดเค้นหัวใจและแก้พิษจากไซยาไนด์โดยการดม แต่ปัจจุบันมีคนบางกลุ่มนำเอมิลไนไตรท์มาใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยใช้เป็นยาปลุกเซ็กซ์ชนิดหนึ่งที่รู้จักกันแพร่หลายในชื่อป๊อปเปอร์ (Popper) นิยมใช้ในกลุ่มชายรักชาย 

  • สารเสพติดเพื่อความบันเทิง (Club Drugs)  เป็นการใช้สารเสพติด และวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและระบบประสาท ประกอบไปด้วยสารเสพติดหลากหลายชนิดด้วยกัน ได้แก่ ยาอี ยาเค และยานอนหลับ เป็นต้น ซึ่งสารเสพติดเหล่านี้ถูกนำมาสังเคราะห์และแปรรูปให้มีลักษณะเป็นผงสีขาว ไว้ใช้สำหรับสูดดมให้เกิดอาการมึนเมา จึงเรียกได้ว่ามีลักษณะคล้ายเคนมผงที่เรารู้จักกันนั่นเอง  ไว้ใช้สำหรับสูดดมให้เกิดอาการมึนเมา ทำให้เกิดการเคลิบเคลิ้ม ตื่นตัว และคึกคัก จึงมักมีการนำไปผสมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพื่อเพิ่มความสนุกสนานในการท่องราตรี 


การใช้สารเสพติด เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างไร?

สารเสพติด และแอลกอฮอล์ ส่งผลต่อสมอง ทำให้การตัดสินใจได้ไม่ดี ขาดความยับยั้งชั่งใจลง ซึ่งผู้เสพสารเสพติด หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจตัดสินใจได้ไม่ดี และกล้าเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยงบางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงในการรับเชื้อ หรือแพร่เชื้อเอชไอวี เช่น 

  • การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หรือช่องคลอดโดยไม่มีเครื่องมือป้องกันเอชไอวี เช่น การกินยาต้านไวรัส  มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย หรือการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน หรือการแลกเปลี่ยนเพศสัมพันธ์ กับสารเสพติด

  • หากมีการฉีดสารเสพติดเพื่อความบันเทิง โดยมีการใช้เข็มฉีดยา กระบอกฉีดยา หรือเครื่องมือฉีดอื่นๆ ร่วมกัน จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการติดเชื้อโรคที่เกิดจากเลือด รวมถึงเอชไอวี และไวรัสตับอักเสบ

ภาพรวมเกี่ยวกับผลกระทบของการใช้สารเสพติดต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี
การใช้สารเสพติดส่งผลต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีอย่างไร?

การใช้สารเสพติดส่งผลต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีอย่างไร?

การใช้สารเสพติด และแอลกอฮอล์ อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และส่งผลต่อการรักษาเอชไอวีของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ดังนี้

  • ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เพราะเชื้อเอชไอวีจะทำลายระบบภูมิคุ้มกันมากขึ้น ทำให้ร่างกายต่อสู้กับการติดเชื้อเอชไอวี และมะเร็งบางชนิดได้ยากขึ้น และทำให้การติดเชื้อเอชไอวีแย่ลงได้

  • ทำลายตับ และทำให้เกิดโรคตับได้ เพราะหน้าที่หลักของตับ คือ การกำจัดสารอันตราย หรือสารพิษออกจากเลือด  การใช้สารเสพติด และดื่มแอลกอฮอล์ เป็นการทำลายตับ ทำให้ตับขับสารพิษออกจากร่างกายได้ยากขึ้น การสะสมของสารพิษอาจทำให้ร่างกายอ่อนแอ เกิดอาการตับอักเสบ หรือโรคตับได้

  • สารเสพติดบางชนิด มีปฏิกิริยากับยารักษาเอชไอวี  เพราะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ หรือมีการใช้ยาเกินขนาดเนื่องจากปฏิกิริยาระหว่างสารเสพติด และยาต้านไวรัสเอชไอวี บางชนิด (ARV) เช่น ยาอี (MDMA) หรือแกมมา-ไฮดรอกซีบิวทีเรต (GHB) 

  • ทำให้ยากต่อการกินยารักษาเอชไอวี ให้เป็นประจำทุกวัน เนื่องจากผู้ติดเชื้อเอชไอวี ต้องกินยาเป็นประจำทุกวันเพื่อสุขภาพที่ดี การใช้สารเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้ยากต่อการกินยาให้ถูกต้อง ตรงเวลา ตามแนวทางการรักษาเอชไอวีในแต่ละวัน เพราะการลืมกินยา หรือขาดยารักษาเอชไอวี จะทำให้เอชไอวีเพิ่มจำนวน และทำลายระบบภูมิคุ้มกันได้

  • ผลข้างเคียงจากยารักษาเอชไอวีจะมีมากขึ้น ทำให้การต่อสู้กับการโรคติดเชื้อฉวยโอกาสก็ทำได้ยากขึ้น ดังนี้

    • การติดเชื้อในปอด เช่น โรคปอดบวม จากการสูดดมยาบางชนิด เช่น กัญชา

    • ภาวะขาดน้ำ อ่อนเพลีย และระคายเคืองผิวหนังจากการใช้ยาบางชนิด เช่น โคเคน หรือยาบ้าแบบคริสตัล (Crystal Meth) ทำให้คุณติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

    • ความเสียหายของตับจากการใช้แอลกอฮอล์มากเกินไป ยาเพื่อความบันเทิง และยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคตับเรื้อรัง มะเร็ง และไวรัสตับอักเสบ

    • ทำให้การบาดเจ็บของเซลล์ประสาทมีมากขึ้น และมีปัญหาด้านการคิด การเรียนรู้ และความจำ มากกว่า เมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ไม่ใช้สารเสพติด หรือดื่มแอลกอฮอล์

    • ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสำหรับการติดเชื้อเอชไอวีที่ส่งผ่านเลือดรวมถึงโรคตับอักเสบบีและซี หากฉีดสารเสพติด

ภาพรวมเกี่ยวกับการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี
การป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี

การป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี

การป้องกันที่ดีที่สุด คือ เลิกใช้สารเสพติด และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี ดังนี้

  1. ควรใช้เข็ม และกระบอกฉีดยาที่สะอาดใหม่ทุกครั้งที่เสพสารเสพติด

  2. ห้ามใช้เข็ม กระบอกฉีดยา หรืออุปกรณ์ยาอื่นๆ ร่วมกันกับผู้อื่น

  3. หากต้องใช้เข็ม และกระบอกฉีดร่วมกัน ควรใช้สารฟอกขาวเพื่อทำความสะอาด การทำความสะอาดเข็ม และหลอดฉีดยาด้วยสารฟอกขาวสามารถลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และไวรัสตับอักเสบได้อย่างมาก 

  4. สอบถามแพทย์ หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพเกี่ยวกับการใช้ยาป้องกันก่อนสัมผัส หรือยาเพร็พ (PrEP) เพื่อป้องกันเอชไอวี เมื่อกินยาตามที่กำหนด PrEP จะมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันเอชไอวี จะมีประสิทธิภาพน้อยลงมากหากไม่ได้กินตามที่กำหนด

  5. สอบถามแพทย์ หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพเกี่ยวกับการป้องกันโรคหลังสัมผัสเชื้อ หรือยาเป๊ป (PEP) หากมีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี ในช่วง 72 ชั่วโมงที่ผ่านมา และไม่ได้กินยาเพร็พ (PrEP) มาก่อน

  6. ใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หรือช่องคลอด หรือเลือกกิจกรรมที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า เช่น ออรัลเซ็กซ์ หรือการงดเว้นหรือไม่มีเพศสัมพันธ์ก็เป็นทางเลือกได้เช่นกัน

  7. ตรวจหาเชื้อเอชไอวีอย่างน้อยปีละครั้ง


การใช้สารเสพติดมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งร่างกาย และจิตใจของบุคคลอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากผลกระทบทางสังคม และการเศรษฐกิจ การใช้สารเสพติดยังเป็นปัจจัยที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีได้ เพราะ การใช้สารเสพติด หรือแอลกอฮอล์นั้น ทำให้ผู้เสพขาดวิจารณญาณในการตัดสินใจที่ถูกต้อง ซึ่งอาจนำไปสู่พฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงติดเชื้อ และแพร่เชื้อเอชไอวีมากขึ้น และสำหรับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี อาจทำให้การรักษาเอชไอวีแย่ลง  ฉะนั้นเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ควรมีความเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้สารเสพติด


Comments


bottom of page