top of page
Siri Writer

โรคเริมที่อวัยวะเพศ เกิดจากอะไร ทำไมเป็นแล้วไม่หายขาด

Updated: Dec 16, 2023

โรคเริมที่อวัยวะเพศ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อย นอกจากโรคเริมที่ปากซึ่งเจอได้บ่อย ๆ แล้ว ยังมีโรคเริมที่อวัยวะเพศ ที่สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย มักพบในวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีกิจกรรมทางเพศเป็นประจำ เพราะเชื้อไวรัสเริมมักแพร่กระจายโดยการสัมผัสทางผิวหนังระหว่างมีเพศสัมพันธ์ โดยผู้ติดเชื้อไวรัสอาจมีอาการเล็กน้อยมากหรือไม่แสดงอาการเลย แต่ก็ยังสามารถแพร่เชื้อไวรัสไปยังคนอื่นได้ ฉะนั้นเราควรที่จะรู้จักโรคเริมที่อวัยวะเพศ ว่าเกิดจากอะไร ถ้าเป็นแล้วต้องรักษาอย่างไร ไม่ให้เกิดกลับมาเป็นโรคซ้ำอีก จนถึงช่วยลดระดับความรุนแรงควบคุมการลุกลามของโรคเริม และวิธีการป้องกันโรคเริมที่อวัยวะเพศที่ถูกต้อง

ภาพรวมของโรคเริมที่อวัยวะเพศ: สาเหตุและความลับที่ควรรู้ เพื่อคำแนะนำในการป้องกันและรักษาเริ่มที่อวัยวะเพศให้เหมาะสม
โรคเริมที่อวัยวะเพศ เกิดจากอะไร ทำไมเป็นแล้วไม่หายขาด

โรคเริมที่อวัยวะเพศ คืออะไร?

โรคเริมที่อวัยวะเพศ (Genital Herpes) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ชนิดที่สามารถส่งผลต่ออวัยวะเพศได้ โดยเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ โรคเริมที่อวัยวะเพศอาจมีอาการเจ็บ คัน เกิดบาดแผลหรือตุ่มพองบริเวณอวัยวะเพศ และอาจมีอาการเจ็บขณะปัสสาวะร่วมด้วย 


โดยเพศหญิงจะมีความเสี่ยงต่อโรคมากกว่าเพศชาย ในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ บางรายอาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีกครั้งเมื่อร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วย หรือในช่วงที่มีประจำเดือน  เพราะเชื้อไวรัสนี้จะคงอยู่ในร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อไปตลอด ถึงแม้จะไม่มีอาการใดๆ เกิดขึ้นเลยก็ตาม โดยอาการที่ปรากฏในระยะหลังๆ นี้ จะมีความรุนแรงน้อยกว่า และหายเร็วกว่าที่เคยแสดงอาการในครั้งแรก และความถี่ของการแสดงอาการของโรคจะน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปหลายๆปี


สาเหตุโรคเริมที่อวัยวะเพศ

สาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus: HSV) ที่สามารถติดต่อผ่านทางผิวหนังและทางเพศสัมพันธ์ โดยไวรัสชนิดนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ HSV-1 เป็นไวรัสที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคเริมที่ปาก และ HSV-2 เป็นไวรัสที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคเริมที่อวัยวะเพศ ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้ง่ายถึงแม้จะไม่มีบาดแผลเปิด  


ไวรัส HSV สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง และฝังตัวอยู่ภายในเส้นประสาทบริเวณเชิงกราน โดยอาการของโรคจะปรากฏขึ้นเมื่อเชื้อไวรัสเคลื่อนตามเส้นประสาทออกมายังผิวหนัง นอกจากนี้ ไวรัสทั้งสองชนิดยังพบได้ในสารคัดหลั่ง อย่างน้ำลาย อสุจิ หรือตกขาว 

ระยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการ) : ประมาณ 3 – 14 วัน


ใครที่มีความเสี่ยงติดโรคเริมที่อวัยวะเพศ

ผู้ที่ติดเชื้ออาจแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ทั้งที่ไม่มีอาการใด ๆ ดังนั้นโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับ และติดเชื้อโรคจึงสูงขึ้นตาม ดังนี้

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยผ่านการสอดใส่ระหว่างอวัยวะเพศชาย-หญิง การมีเพศสัมพันธ์ทางประตูหลังหรือทางทวารหนัก หรือการสัมผัสถูไถระหว่างอวัยวะเพศหญิง-หญิง

  • ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย

  • ผู้ที่มีทำออรัลเซ็กส์ หรือได้รับการทำออรัลเซ็กส์จากผู้ที่ติดเชื้อโรคเริมที่อวัยวะเพศ

  • ผู้ที่สัมผัสผิวหนัง หรือสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ เช่น น้ำลาย อสุจิ น้ำเหลือง

  • ผู้ที่สัมผัสแบบแนบชิด เนื้อแนบเนื้อ แม้ปราศจากการหลั่ง

  • ผู้ที่สัมผัสกับแผลติดเชื้อ หรือตุ่มน้ำพอง รวมถึงคุณแม่ติดเชื้อที่ให้นมบุตร

  • การติดเชื้อจากแม่สู่ลูกผ่านการคลอดบุตร โดยคุณแม่ที่ติดเชื้อขณะตั้งครรภ์

  • ผู้ที่ใช้เซ็กส์ทอย (Sex toy) ร่วมกันกับผู้ที่ติดเชื้อ

รายละเอียดของอาการโรคเริมที่อวัยวะเพศ: ภาพลักษณ์ทางทัศนศาสตร์เกี่ยวกับลักษณะและอาการของโรคนี้
อาการโรคเริมที่อวัยวะเพศ

อาการโรคเริมที่อวัยวะเพศ

อาการเริ่มต้นด้วยอาการคันยุบยิบบริเวณที่ติดเชื้อไวรัส HSV จากนั้นจะเกิดตุ่มน้ำพองใส อักเสบ และเจ็บแสบบนฐานของผื่นบวมแดงที่รวมกลุ่มกันบนผิวหนัง โดยมีอาการประมาณ 2-3 วันจนถึง 1-2 สัปดาห์

  • ในเพศชาย จะปรากฏอาการของโรคบริเวณอวัยวะเพศ ถุงอัณฑะ สะโพก ต้นขาต้านใน  ก้น และทวารหนัก

  • ในเพศหญิง จะปรากฏอาการของโรคบริเวณอวัยวะเพศ ช่องคลอด สะโพก ต้นขาต้านใน  ก้น และทวารหนัก


โรคเริมที่อวัยวะเพศสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ผ่านการสัมผัส จากนั้นตุ่มน้ำพองใสจะแตกออก มีเลือดไหลซึม แล้วจึงตกสะเก็ดเมื่อแผลสมานตัว เริมเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อาจมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก โดยหลังจากที่อาการของโรคหายไปแล้ว เชื้อไวรัส HSV จะยังคงฝังตัว หลบซ่อนอยู่บริเวณปมประสาท (Ganglion) ของร่างกายโดยไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมาตราบจนภูมิคุ้มกันของร่างกายลดต่ำ อาการของโรคเริมจึงจะเริ่มปรากฎให้เห็นขึ้นอีกครั้ง โดยอาการของโรคเริม มีดังนี้

  • มีตุ่มน้ำพองใส หรือแผลพุพองเล็ก ๆ ที่ขึ้นบริเวณรอบ ๆ อวัยวะเพศ

  • เกิดรอยแตก หรือรอยแดงบริเวณรอบ ๆ อวัยวะเพศ แต่ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บหรือคัน

  • มีอาการคันระคายเคือง เจ็บแสบที่อวัยวะเพศ หรือรอบ ๆ ทวารหนัก

  • มีอาการเจ็บแสบที่อวัยวะเพศขณะมีเพศสัมพันธ์ (dyspareunia)

  • มีอาการเหมือนมีหนามแหลมเล็ก ๆ ทิ่มตำ อาการแสบคับหรือแสบร้อน

  • มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต หรือบวม และอ่อนเพลีย เป็นต้น 

  • มีอาการปวดแสบขณะปัสสาวะ โดยเฉพาะในเพศหญิง เนื่องจากมีแผลบริเวณอวัยวะเพศ

  • มีอาการตกขาว (ในเพศหญิง) มีกลิ่นคาว

  • อวัยวะเพศบวมแดง


ระยะเวลาในการแสดงอาการจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคน โดยอาการอาจปรากฏทันทีหลังได้รับเชื้อหรือปรากฏหลังจากการรับเชื้อมาแล้วนานหลายเดือนหรือเป็นปี ในกรณีที่ผู้ป่วยแสดงอาการทันทีหลังการติดเชื้อ อาการที่เกิดขึ้นอาจมีความรุนแรงมาก  โดยมีปัจจัยมากระตุ้น เช่น เครียด ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ พักผ่อนน้อย


ภาวะแทรกซ้อนของโรคเริมที่อวัยวะเพศ

คือการแพร่เชื้อลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ เช่น

  • เสี่ยงติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น

  • ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวี เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า

  • อาจส่งผลให้เกิดการอักเสบบริเวณท่อปัสสาวะ ซึ่งอาการบวมที่เกิดขึ้นอาจขัดขวางช่องทางปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ท่อสวนเพื่อระบายปัสสาวะ

  • การอักเสบบริเวณทวารหนัก เนื่องจากผู้ป่วยอาจติดเชื้อเริมที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย มักพบในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก

  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื่องจากเชื้อไวรัสอาจก่อให้เกิดการอักเสบบริเวณเยื่อบุผิวและน้ำไขสันหลัง ซึ่งอยู่ล้อมรอบสมองและไขสันหลัง

  • อาจเกิดบาดแผลบริเวณอื่นในช่วงเวลาที่มีการติดเชื้อ เช่น สะโพก ขาหนีบ ต้นขา นิ้ว หรือตา เป็นต้น

  • หากเกิดในระหว่างการคลอด หรือการตั้งครรภ์อาจส่งผลให้เด็กติดเชื้อและส่งผลถึงสมองของทารก อาจทำให้ทารกตาบอดหรือถึงขั้นเสียชีวิต

การกลับมาเป็นโรคเริมที่อวัยวะเพศซ้ำ: สาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
การกลับมาเป็นโรคเริมที่อวัยวะเพศซ้ำ เกิดจากอะไร?

การกลับมาเป็นโรคเริมที่อวัยวะเพศซ้ำ เกิดจากอะไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดจากโรคเริม และยังสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ภายใน 7 วัน หลังจากการเป็นครั้งแรก เพราะเชื้อไวรัสเริมยังคงฝังอยู่ในปมประสาทและมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำอีกได้ แต่ยังมียาที่ช่วยลดระดับความรุนแรง และควบคุมการลุกลามของเชื้อโรคเริมได้ โดยปัจจัยที่สามารถกระตุ้นให้เป็นโรคเริมซ้ำ ได้แก่

  • ภูมิคุ้มกันร่างกายลดต่ำลง

  • การเจ็บป่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยเล็กน้อย หรือการเจ็บป่วยรุนแรง

  • การติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ ซ้ำ หรือมีไข้สูง

  • ความเหนื่อยล้าทางร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงการหักโหมมากจนเกินไป

  • พักผ่อนไม่เพียงพอ

  • การบาดเจ็บ หรือมีการผ่าตัดที่กระทบต่อเส้นประสาท

  • การใช้ยาหรือการรักษาที่มีการกดภูมิคุ้มกัน เช่น การทำเคมีบำบัด การใช้ยาสเตียรอยด์ 

  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ระหว่างมีประจำเดือน

  • อากาศร้อน การอยู่ท่ามกลางแสงแดด

  • การขาดสารอาหาร

  • สภาวะอารมณ์ ความเครียด ความวิตกกังวล ฯลฯ


การวินิจฉัยโรคเริมที่อวัยวะเพศ

โดยทั่วไป แพทย์จะวินิจฉัยโรคเริมที่อวัยวะเพศ ได้จากการตรวจร่างกาย ด้วยการตรวจสอบแผล หรือดูลักษณะของตุ่มน้ำใสบริเวณอวัยวะเพศ หลังจากนั้นแพทย์จะทำการทดสอบทางแล็บปฏิบัติการเพิ่มเติม ดังนี้

  • การทดสอบ Polymerase Chain Reaction หรือ PCR Test เป็นการคัดลอกดีเอ็นเอ (DNA) ของผู้ป่วยจากตัวอย่างเลือด เนื้อเยื่อบริเวณที่มีบาดแผล ทางเดินปัสสาวะ หรือน้ำไขสันหลัง ทำให้สามารถตรวจพบเชื้อไวรัส HSV และระบุชนิดของไวรัสได้อย่างชัดเจน แพทย์จึงมักใช้วิธีนี้ในการวินิจฉัยโรคเริมที่อวัยวะเพศ เนื่องจากมีความแม่นยำสูง และสามารถระบุชนิดของเชื้อไวรัส HSV ได้อย่างชัดเจน

  • การเพาะเชื้อ แพทย์จะนำตัวอย่างเนื้อเยื่อ หรือขูดบาดแผลเพื่อนำตรวจหาเชื้อไวรัส HSV อย่างละเอียดด้วยกล้องจุลทรรศน์ในห้องทดลอง

  • การตรวจเลือด จะเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส HSV และภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสในร่างกายของผู้ป่วย

คำอธิบายภาพของการรักษาโรคเริมที่อวัยวะเพศ: วิธีการและแนวทางในการจัดการโรคนี้ในภาพลักษณ์
การรักษาโรคเริมที่อวัยวะเพศ

การรักษาโรคเริมที่อวัยวะเพศ

ในปัจจุบันโรคเริมที่อวัยวะเพศยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุม และบรรเทาอาการได้โดยการใช้ยาต้านไวรัส ซึ่งจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นในผู้ที่เพิ่งมีอาการ บรรเทาความรุนแรง ลดระยะเวลา และความถี่ของการกลับมาเกิดโรคซ้ำ อีกทั้งลดโอกาสการแพร่เชื้อไวรัสไปยังผู้อื่น ซึ่งแพทย์ใช้ยารักษาโรคเริม ดังนี้

ยาสำหรับรับประทาน

  • ยาต้านไวรัส HSV ได้แก่ ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ยาแฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) ยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir)

  • ยาระงับความเจ็บปวดชนิดรับประทาน เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen)

  • ยาต้านการอักเสบกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs)

แนะนำให้ทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคเริม


ยาทาภายนอก 

  • ยาแก้ปวดชนิดที่ทาลงบนแผลเริมชนิดที่เป็นเนื้อครีม หรือขี้ผึ้ง เช่น ยาเบนโซเคน (Benzocaine) ยาไลซีน (L-lysine) ยาโดโคซานอล (Docosanal)

  • อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) เพนซิโคลเวียร์ (Penciclovir) อาจช่วยลดอาการปวด ทำให้ผื่นแห้งเร็วขึ้น รวมถึงอาจช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส

  • ใช้น้ำเกลือล้างแผล เช็ดทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศรอบนอก เพื่อฆ่าเชื้อโรค แล้วเช็ดให้แห้ง

  • อาจใช้วิธีการอาบน้ำอุ่น แช่น้ำอุ่น หรือสวมเสื้อผ้าหลวมๆ เพื่อบรรเทาอาการปวด


ทั้งนี้ ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้คุณหมอทราบว่าเป็นโรคเริมที่อวัยวะเพศ คุณหมอจะได้แนะนำวิธีคลอดที่ช่วยลดความเสี่ยงที่ทารกจะติดเชื้อเริมจากแม่ในระหว่างคลอด เช่น การผ่าคลอด

คำอธิบายภาพของการป้องกันโรคเริมที่อวัยวะเพศ: มาตรการและวิธีป้องกันการติดเชื้อในภาพลักษณ์
การป้องกันโรคเริมที่อวัยวะเพศ

การป้องกันโรคเริมที่อวัยวะเพศ 

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันโรคเริม แต่อาจลดความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อและการแพร่เชื้อไวรัสต้นเหตุของเริมที่อวัยวะเพศได้ด้วยวิธีต่าง ๆ

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะถุงยางอนามัยสำหรับสตรี ซึ่งพบว่าสามารถป้องกันได้มากกว่าถุงยางอนามัยสำหรับบุรุษ แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันการติดต่อได้ทั้งหมด

  • การใช้ยาต้านไวรัส ช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคได้บ้าง

  • การใช้หลายวิธีร่วมกันคือ ใช้ทั้งถุงยางอนามัย และยาต้านไวรัส พบว่า สามารถป้องกันกระจายได้มากกว่าการใช้วิธีใดวิธีหนึ่งเดี่ยวๆ

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผล น้ำลาย หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย

  • งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแผลจะหายสนิท (ระยะแพร่เชื้อคือ ตั้งแต่มีอาการนำจนถึงแผลตกสะเก็ด)

  • สำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคเริมแล้ว ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดโรคซ้ำ

  • หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะหรือสิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะแก้วน้ำ ช้อนส้อม

  • ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ  และตรวจสุขภาพเป็นประจำ

  • ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ

  • แบ่งเวลาให้มีการพักผ่อนที่เพียงพอ

  • หาวิธีการจัดการความเครียด ความวิตกกังวล ให้เหมาะสม

  • รักษาสุขอนามัยเป็นประจำ เช่น การล้างมือให้สะอาด

  • หากเป็นโรคเริมซ้ำบ่อย มากกว่า 6 ครั้งต่อปี หรือมีอาการรุนแรง หรือการเป็นซ้ำส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณารับประทานยาต้านไวรัสทุกวัน เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ


โรคเริม แม้จะเป็นโรคที่ไม่รุนแรง แต่ก็อาจสร้างความรำคาญใจแก่ผู้ที่เป็น เพราะโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาด และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ จึงควรรักษาสุขอนามัยเป็นประจำ ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ หากเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาทันที  และควรตรวจสุขภาพเป็นประจำเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อควบคุม และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในระบบสุขภาพของบุคคลและสังคมทั้งหมด

Comments


bottom of page