top of page
Siri Writer

โรคหูดหงอนไก่ : สาเหตุ อาการ และวิธีป้องกันที่ควรรู้

Updated: Dec 16, 2023

โรคหูดหงอนไก่ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่พบได้ทั้งในเพศชาย และเพศหญิง เกิดขึ้นจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดที่ทำให้เกิดหูด หรือติ่งเนื้อขรุขระคล้ายหงอนไก่ขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ, ขาหนีบ, หรือทวารหนัก ทำให้รู้สึกคัน ซึ่งสามารถป้องกันในเบื้องต้นได้โดยการสวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง และการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค และลดความรุนแรงของอาการในกรณีที่ติดเชื้อการมีความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคนี้จะช่วยให้คุณดูแลสุขภาพของตนเอง และคนรอบข้างได้อย่างเหมาะสม


ภาพรวมเกี่ยวกับโรคหูดหงอนไก่: สาเหตุ, อาการ, และวิธีป้องกันที่ควรรู้ เพื่อความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาและป้องกันโรค
โรคหูดหงอนไก่ สาเหตุ อาการ และวิธีป้องกันที่ควรรู้

โรคหูดหงอนไก่ คืออะไร?

โรคหูดหงอนไก่ หรือโรคหูดอวัยวะเพศ (condylomata acuminata ,genital warts)  เป็นโรคที่มีลักษณะเเป็นติ่งเนื้อลักษณะขรุขระคล้ายหงอนไก่ขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ได้แก่ ใต้หนังหุ้มปลาย รูเปิดท่อปัสสาวะ เส้นสองสลึง ขาหนีบ หรือทวารหนัก ฯลฯ มีขนาดเล็กมากจนแทบมองไม่เห็นไปจนถึงขนาดใหญ่ ทำรู้สึกคัน แสบร้อน หรือมีตกขาว จนเกิดการระคายเคืองขณะสัมผัสส่วนสาเหตุของโรคเกิดจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัส ผ่านการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน แม้ว่าที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ หลายคนจะไม่มีอาการใด ๆ และหายไปเองตามธรรมชาติ แม้ว่าจะเป็นโรคที่หายได้เองแต่ก็สามารถเกิดซ้ำได้มากถึงร้อยละ 30-70 หลังจากรักษาหายแล้วในรอบแรก ทั้งนี้อาจเกิดจากการมีพฤติกรรมเสี่ยง หรือแม้แต่ประสิทธิภาพของยาที่ใช้รักษาครั้งก่อนไม่ดีเท่าที่ควร


สาเหตุโรคหูดหงอนไก่ 

สาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human papilloma virus: HPV) ที่มีจำนวนกว่า 40 สายพันธุ์ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับผิวหนังหรือเยื่อบุผนังภายในของผู้ที่เป็นโรคนี้ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ หรือจากแม่สู่ลูกผ่านการคลอดแบบธรรมชาติ การติดเชื้อทำให้เนื้อเยื่อเสียหาย และเกิดรอยโรคซึ่งเป็นลักษณะของความผิดปกติที่แสดงออกทางผิวหนัง โดยไวรัสเอชพีวี สายพันธุ์ที่ 6 และสายพันธุ์ที่ 11 เป็นสายพันธุ์หลักที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหูดหงอนไก่ ที่บริเวณผิวหนัง และเยื่อบุผิวภายในร่างกาย โดยธรรมชาติ เชื้อไวรัสเอชพีวี ชนิดที่ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ ไม่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง เว้นแต่มีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี สายพันธุ์ความเสี่ยงสูงร่วมด้วย ที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก หรือโรคมะเร็งทวารหนักได้ ระยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการ) : ประมาณ 3-4 เดือนหลังได้รับเชื้อ แต่บางรายอาจแสดงอาการประมาณ 1 เดือน ถึง 2 ปี โดยผู้ที่สัมผัสเชื้อนี้อาจจะไม่ติดโรคทุกราย เพราะขึ้นอยู่กับภาวะภูมิคุ้มกันและจำนวนเชื้อที่ได้รับ


ใครที่มีความเสี่ยงติดโรคหูดหงอนไก่ 

การมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด หรือทางทวารหนัก และยังสามารถติดต่อได้โดยไม่ต้องมีการสอดใส่ แต่พบได้น้อย

  • การเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ

  • การสัมผัสกับอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่มีเชื้อไวรัสเอชพีวี เช่น ปาก มือ นิ้วมือ นิ้วเท้า

  • การใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน  เช่น แก้วน้ำ ลิปสติก ผ้าเช็ดตัว สบู่ มีดโกน หรือ อุปกรณ์ของเล่นสำหรับมีเพศสัมพันธ์ (Sex toy)

  • การทำออรัลเซ็กส์ (Oral sex)  หรือการรับการทำออรัลเซ็กส์ จากผู้ที่มีเชื้อไวรัสเอชพีวี ที่อวัยวะเพศ ปาก ริมฝีปาก หรือลิ้น

  • การสัมผัสแบบแนบชิด เนื้อแนบเนื้อ หรือแม้แต่การมีเพศสัมพันธ์โดยปราศจากการหลั่ง

  • ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี เป็นเบาหวานที่ควบคุมไม่ดี หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หูดมักมีขนาดใหญ่ ดื้อต่อการรักษา มีอัตราการกลับเป็นซ้ำสูง และมีโอกาสเกิดเป็นรอยโรคมะเร็งมากขึ้น

  • เป็น  หรือเคยเป็นโเริมมาก่อน

  • จากแม่ที่เป็นโรคหูดหงอนไก่ สู่ลูกผ่านการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ

  • การสูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงตามจำนวนบุหรี่ที่สูบต่อปี


ภาพรวมเกี่ยวกับอาการของโรคหูดหงอนไก่: รู้จักกับลักษณะและอาการที่เกิดขึ้นในผู้ที่ต้องเผชิญกับโรคนี้
อาการโรคหูดหงอนไก่

อาการโรคหูดหงอนไก่

อาการของหูดหงอนไก่ที่สามารถเห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือ เกิดติ่งเนื้อที่มีลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือที่ทวารหนัก ขนาดของหูดหงอนไก่อาจเล็กจนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า หรืออาจใหญ่จนทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้ โดยหูดหงอนไก่ เป็นตุ่มหรือแผ่นนูน นิ่มๆ คล้ายดอกกะหล่ำ สีชมพูหรือสีเดียวกับผิวหนัง ยื่นออกมาบริเวณอวัยวะเพศและบริเวณใกล้เคียง


ลักษณะเฉพาะโรคหูดหงอนไก่ มีดังนี้

  • ติ่งเนื้อผิวเรียบ หรือผิวขรุขระนูนยื่นออกจากผิวหนังเป็นหยัก ๆ หรือเป็นตะปุ่มตะป่ำ

  • ตุ่มเนื้อ ติ่งเนื้อ หรือก้อนเนื้อขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ไม่เท่ากัน

  • ตุ่มเนื้อ ติ่งเนื้อ หรือก้อนเนื้อสีขาว สีเนื้อ สีชมพู หรือสีแดง

  • ตุ่มเนื้อ ติ่งเนื้อ หรือก้อนเนื้อตุ่มเดียว หรือหลาย ๆ ตุ่มขึ้นเป็นกระจุกรวมกัน

  • มีอาการคัน แสบร้อน รู้สึกไม่สบายตัวอย่างมากหรือเจ็บบริเวณที่เป็นหูดหงอนไก่

  • มีเลือดออกที่ติ่งเนื้อ หรือไหลออกทางช่องคลอด โดยเฉพาะขณะมีเพศสัมพันธ์


บริเวณที่มักพบโรคหูดหงอนไก่ มีดังนี้

  • เยื่อบุผิวหนังอวัยวะเพศชาย หรืออวัยวะเพศหญิง

  • ใต้หนังหุ้มปลายองคชาต หนังหุ้มองคชาต หนังหุ้มอัณฑะ

  • บริเวณลำองคชาติที่ขลิบแล้ว

  • ปาก ริมฝีปาก คอหอย

  • ปากมดลูก ภายในช่องคลอด

  • ท่อปัสสาวะ

  • รอบทวารหนัก ฝีเย็บ รูทวารหนัก

  • ขาหนีบ

  • ลำไส้ตรง หรือลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย

  • รอบปากช่องคลอด ผนังช่องคลอด

  • แคมเล็ก หรือแคมใน (Labia minora)

  • แคมใหญ่ หรือแคมนอก (Labia minora)


อาการอื่น ๆ ของโรค

ส่วนใหญ่ ไม่มีอาการร่วมอื่นๆ  ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดของรอยโรค หากมีขนาดใหญ่มากอาจ

ทำให้มีอาการดังนี้

  • เกิดการระคายเคืองขณะสัมผัส

  •  เจ็บปวด คัน แสบร้อนบริเวณอวัยวะเพศ

  • มีเลือดออกจากติ่งหงอนไก่

  • ฝ่ายหญิงจะมีตกขาวผิดปกติ

  • มีติ่ง หรือก้อนโตมากจนอุดกลั้นท่อปัสสาวะ  ทวารหนัก หรือช่องคลอด

  • เกิดแผล และติดเชื้อบริเวณเนื้อเยื่อหูด

  • หากมีภาวะดังกล่าวระหว่างตั้งครรภ์ จะทำให้หูดโตเร็วขึ้น

  • สามารถเกิดซ้ำได้ถึงร้อยละ 30-70 ภายในเวลา 6 เดือนหลังการรักษา

  • หากติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่รุนแรงขณะตั้งครรภ์ ทารกอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้


ภาวะแทรกซ้อนของโรคหูดหงอนไก่: รู้จักกับภาวะแทรกซ้อนและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากโรคหูดหงอนไก่
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหูดหงอนไก่ 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหูดหงอนไก่ 

โดยทั่วไป เชื้อไวรัสเอชพีวี ที่เป็นสาเหตุของโรคหูดหงอนไก่จะไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง แต่หากมีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี หลายสายพันธุ์รวมกัน โดยเฉพาะสายพันธุ์ชนิดความเสี่ยงสูง ก็อาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคหูดหงอนไก่ได้

  • การตกขาวที่มากผิดปกติ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งที่ปากหรือคอหอยในเพศหญิง และมะเร็งองคชาต หรือมะเร็งทวารหนักในเพศชาย

  • หากอาการหูดหงอนไก่ที่เกิดขึ้นไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม หรือผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ก็อาจทำให้หูดหงอนไก่กลับมาเป็นซ้ำได้ อีกทั้งผู้ป่วยโรคหูดหงอนไก่อาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเพศหญิง เพราะธรรมชาติของการติดเชื้อไวรัสมักจะติดเชื้อพร้อมกันหลายสายพันธุ์ ทำให้อาจได้รับเชื้อไวรัสเอชพีวีที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้

  • สำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ที่ป่วยด้วยโรคหูดหงอนไก่ หูดอาจมีขนาดใหญ่จนทำให้ผนังมดลูกขยายตัวได้ไม่เต็มที่ หรืออาจทำให้เกิดเลือดออกขณะคลอด รวมถึงอาจส่งผลให้ทารกที่เกิดมามีหูดหงอนไก่เกิดขึ้นบริเวณคอจนไปขัดขวางทางเดินหายใจ หลอดลม หรือคอหอยที่ปิดกั้นทางเดินหายใจจนทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนและเสียชีวิต และทำให้ทารกต้องเข้ารับการผ่าตัดโดยด่วนเพื่อรักษาอาการ


การวินิจฉัยโรคหูดหงอนไก่: ขั้นตอนและเทคนิคที่ใช้ในการตรวจหาและรู้จักกับกระบวนการวินิจฉัยของโรคนี้
การวินิจฉัยโรคหูดหงอนไก่

การวินิจฉัยโรคหูดหงอนไก่ 

ขั้นตอนแรก แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคหูดหงอนไก่ขั้นตอนแรก จะพิจารณาจากลักษณะเฉพาะภายนอกของโรค ร่วมกับการตรวจชิ้นเนื้อเพื่อยืนยันโรค สำหรับการวินิจฉัยหูดหงอนไก่ หรือหูดอวัยวะเพศ ที่เกิดขึ้นภายในอวัยวะ ในร่างกาย เช่น ปากมดลูก สูตินรีแพทย์จะทำการตรวจภายในเพิ่มเติมเพื่อความถูกต้อง แม่นยำในการวินิจฉัยโรค การตรวจวินิจฉัยหูดหงอนไก่มีวิธีการ ดังนี้

  • การตรวจภายใน (Pelvic exam) เป็นการตรวจภายในโดยสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานสตรีทั้งภายในและภายนอก รวมถึงอวัยวะข้างเคียง โดยเรียงจากอวัยวะภายนอกสู่อวัยวะภายใน เช่น บริเวณรอบปากช่องคลอด แคมนอก แคมใน ผนังช่องคลอด หรือปากมดลูก ทั้งนี้เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัย แพทย์อาจใช้วิธีการส่องกล้องตรวจปากมดลูกด้วยวิธีการตรวจคอลโปสโคป (Colposcope) หรือการส่องกล้องขยายเพื่อตรวจหาความผิดปกติบริเวณช่องคลอด เนื้อเยื่อบุผิว (Epithelium) และอวัยวะภายนอกสตรี

  • การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (ThinPrep Pap Test) ผู้ที่มีเลือดออกทางช่องคลอด มีหนอง หรือมีสารคัดหลั่งทางช่องคลอด สูตินรีแพทย์อาจขอให้มีการตรวจ ThinPrep Pap Test เพิ่มเติมเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากอาจเป็นจากเชื้อไวรัสเอชพีวี ชนิดความเสี่ยงสูงที่อาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งปากมดลูกได้

  • การตรวจหาสายพันธุ์เชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV DNA Test) เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี แบบเจาะลึกระดับ DNA เพื่อค้นหาเชื้อไวรัสเอชพีวีที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคหูดหงอนไก่ รวมถึงเชื้อไวรัสเอชพีวี ชนิดความเสี่ยงสูงที่อาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งปากมดลูก

  • การตรวจทางทวารหนัก (Rectal exam) เป็นการตรวจหาความผิดปกติทั้งภายในทวารหนัก บริเวณหูรูดและผิวภายนอกทวารหนักโดยการส่องกล้องดูทวารหนัก (Anoscope)


การรักษาโรคหูดหงอนไก่

เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคหูดหงอนไก่ แพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาหลายวิธีเพื่อให้ได้ผลดีในการรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้หูดหงอนไก่ขยายใหญ่ขึ้น หรือเพิ่มจำนวนมากขึ้น รวมถึงป้องกันไม่ให้เป็นพาหนะนำโรคสู่ผู้อื่น ผู้ที่เป็นหูดหงอนไก่ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายที่ดี อาจหายจากอาการของโรคเองโดยไม่ต้องรับการรักษา อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสจะคงอยู่ในร่างกายตลอดไปโดยไม่แสดงอาการใด ๆ และมีโอกาสกลับมาเป็นโรคซ้ำ เมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ  โดยมีวิธีดังนี้

  • การรักษาโดยการทายา (Topical medications) โดยแพทย์จะทำการนัดทายาที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละครั้ง ทุกสัปดาห์ เป็นการทายาทั้งภายนอกและอวัยวะภายในที่เป็นหูด โดยยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์โรคหูดหงอนไก่ ทำให้เซลล์เสื่อมสภาพและหลุดออกไป เช่น ยาอิมิควิโมด 5% (5% Imiquimod) ยาโพโดฟิลอก 5% (0.5% Podofilox) หรือ สารละลายกรดไตรคลอโรอะเซติกเข้มข้น 80-90 % (80-90 % Trichloroacetic acid) ทั้งนี้เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ดี แพทย์จะขอให้ปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนทายา เพื่อป้องกันไม่ให้บริเวณที่ทายาโดนน้ำอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง

  • การผ่าตัดชิ้นเนื้อออก (Surgical excision) แพทย์จะพิจารณาทำการรักษาโดยการผ่าตัด โดยเฉพาะหูดหงอนไก่ที่มีขนาดใหญ่ หรือในผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา การตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ หรือคุณแม่ที่เป็นหูดหงอนไก่ที่กำลังจะคลอดบุตร แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดคลอดเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก

  • การจี้ร้อนด้วยไฟฟ้า (Electrocautery) เป็นการรักษาด้วยการจี้หูดด้วยความร้อนสูง เพื่อกำจัดเนื้อเยื่อที่เติบโตผิดปกติ

  • การจี้เย็นด้วยไนโตรเจนเหลว (Liquid nitrogen cryotherapy) เพื่อยับยั้งการเติบโตของหูด ช่วยให้ผิวฟื้นตัว และให้รอยโรคหลุดไป

  • การรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser treatments) โดยแพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยวิธีการนี้กับหูดหงอนไก่ที่มีลักษณะขึ้นเป็นวงกว้างและรักษาได้ยาก


การป้องกันโรคหูดหงอนไก่: รู้จักกับมาตรการและวิธีป้องกันโรคหูดหงอนไก่ที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน
การป้องกันโรคหูดหงอนไก่

การป้องกันโรคหูดหงอนไก่

วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ ด้วยวิธีดังนี้

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ ถึงแม้ถุงยางอนามัยไม่สามารถยับยั้งการแพร่เชื้อไวรัสเอชพีวี ได้ทั้งหมด เพราะเชื้อสามารถกระจายอยู่ได้ทั่วไป บริเวณฝีเย็บ หัวหน่าว รอบทวารหนักเป็นต้น (ทั้งนี้การสวมใส่ถุงยางอนามัยช่วยลดโอกาสการติดต่อได้มากกว่าการไม่สวมใส่ นอกจากนั้นยังช่วยลดการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้แก่ เชื้อเอชไอวี หนองในแท้ หนองในเทียม และโรคเริม ได้อีกด้วย)

  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หากมีอาการของโรค เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสอวัยวะของผู้ที่เป็นโรคหูดหงอนไก่

  • หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หลีกเลี่ยงพฤติกรรมโลดโผนทางเพศ

  • การขลิบอวัยวะเพศชาย (Male circumcision) ช่วยลดโอกาสการสะสมของเชื้อไวรัสเอชพีวีได้ และลดการแพร่เชื้อไปยังผู้หญิง

  • รักษาความสะอาดของร่างกาย

  • รักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ

  • การตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  • ตรวจสุขภาพประจำปี หรือการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน

  • การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV vaccine)เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ทั้ง 9 สายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์ที่ 6 และ 11 ที่เป็นสาเหตุของโรคหูดหงอนไก่

    • การฉีดวัคซีนจะต้องฉีด 3 เข็ม และควรฉีดก่อนเริ่มมีเพศสัมพันธ์ สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-26 ปี

    • ฉีดได้ทั้งเพศชาย และเพศหญิง

    • ห้ามฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์


โรคหูดหงอนไก่ ไม่ใช่โรคร้ายแรง สามารถป้องกันได้โดยรับการฉีดวัคซีนป้องกัน และสามารถรักษาให้หายได้ โดยเมื่อพบอาการแสดงของโรค ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการ และรับการรักษาที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลามและแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ผู้ที่เคยเป็นและรักษาจนหายดีแล้ว ควรรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเพื่อให้ภูมิคุ้มกันคงที่ เพียงเท่านี้ก็จะมีสุขอนามัยที่ดี และลดโอกาสการเป็นโรคซ้ำ หรือความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนได้



Comments


bottom of page