top of page

เข้าใจโรคหนองใน ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

Updated: Dec 24, 2023

โรคหนองใน เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ถือเป็นภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างมาก โดยเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่พบได้ทั้งในเพศชาย และเพศหญิง โดยเชื้อโรคสามารถแพร่กระจายด้วยการสัมผัสกับอวัยวะเพศ หรือของเหลวในร่างกาย แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งการเข้าใจโรคหนองในเป็นขั้นตอนสำคัญในการป้องกัน จะช่วยลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสในการรักษาสำหรับสุขภาพที่ดีที่สุด

ภาพที่เกี่ยวข้องกับเข้าใจโรคหนองใน ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม
เข้าใจโรคหนองใน ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

โรคหนองใน คืออะไร?

โรคหนองใน หรือโรคหนองในแท้ (Gonorrhea) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่พบได้บ่อยมากที่สุดอีกโรคหนึ่ง เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่สามารถพบได้ในน้ำอสุจิ และของเหลวในช่องคลอด โดยแพร่เชื้อผ่านทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ปาก หรือทางทวารหนัก โดยไม่สวมถุงยางอนามัย ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ นอกจากนี้พบว่าโรคหนองในสามารถถ่ายทอดได้โดยการสัมผัสโดยตรงด้วย เช่น ทารกที่คลอดผ่านทางช่องคลอดของมารดาที่ติดเชื้อ ทำให้เกิดการติดเชื้อที่เยื่อบุตา เป็นต้น


โดยอาการที่แตกต่างกันในผู้หญิงและผู้ชาย ผู้หญิงมักไม่รู้สึกอาการ แต่การติดเชื้อที่ไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก และมีปัญหาในระหว่างตั้งครรภ์ ส่วนผู้ชาย ได้แก่ ปวดหรือแสบร้อนขณะปัสสาวะ มีของเหลวไหลออกจากอวัยวะเพศ และบางครั้งก็ปวดอัณฑะ ซึ่งโรคหนองในสามารถรักษาได้และรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ และป้องกันได้โดยการสวมถุงยางอนามัยอย่างถูกต้อง


สาเหตุโรคหนองใน

มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria gonorrhoeae) ที่พบในน้ำอสุจิ และของเหลวในช่องคลอด ซึ่งสามารถติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก ไม่ว่าผ่านทางช่องคลอด ทางปาก หรือทางทวารหนัก และการติดเชื้อของทารกที่คลอดผ่านทางช่องคลอดของมารดาที่ติดเชื้อ โดยเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย โกโนเรียนี้มีชีวิตอยู่นอกร่างกายได้ไม่นาน จึงไม่สามารถติดเชื้อผ่านทางการไอ จาม การกอด หรือการใช้สิ่งของส่วนตัว และสถานที่ร่วมกัน เช่น โถชักโครก ผ้าเช็ดตัว จานชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ อ่างอาบน้ำ และสระว่ายน้ำ

ระยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการ) :ประมาณ 1 – 14 วัน แต่ที่พบบ่อยคือ 3 – 5 วัน


ใครที่มีความเสี่ยงติดโรคหนองใน

ผู้ที่ติดเชื้ออาจแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ทั้งที่ไม่มีอาการใด ๆ ดังนั้นโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับ และติดเชื้อโรคจึงสูงขึ้นตาม ดังนี้

  • ผู้ที่ไม่สวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือแผ่นยางอนามัย (Dental Dam) สำหรับออรัลเซ็กส์

  • ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีคู่นอนหลายคน

  • ผู้ที่เคยเป็นโรคหนองใน หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ มาก่อน

  • ผู้ที่มีการใช้ไวเบรเตอร์ (Vibrator) หรือเซ็กซ์ทอย (Sex Toy) อื่น ๆ ร่วมกับผู้อื่นโดยไม่ได้ล้างทำความสะอาด หรือไม่ได้สวมถุงยางอนามัยชิ้นใหม่ครอบอุปกรณ์ก่อนใช้

  • ผู้ที่มีการร่วมเพศทางปากจะทำให้เชื้อสามารถติดต่อจากปากไปอวัยวะเพศ หรือจากอวัยวะเพศไปยังปาก

  • การติดเชื้อของทารกที่คลอดผ่านทางช่องคลอดของมารดาที่ติดเชื้อ ซึ่งการผ่าคลอดจะไม่ทำให้ทารกติดเชื้อหนองใน

ภาพที่เกี่ยวข้องกับอาการของโรคหนองใน
อาการโรคหนองใน

อาการโรคหนองใน

โรคหนองในอาจไม่มีอาการแสดง อาการแสดงอาจมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับตำแหน่งหรืออวัยวะที่มีการติดเชื้อ เช่น ท่อปัสสาวะ บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ทวารหนัก และมีข้อแตกต่างกันในเพศหญิง และเพศชาย ดังนี้


อาการหนองในเพศหญิง

ผู้หญิงส่วนใหญ่มักไม่มีอาการหนองในปรากฏให้เห็น แต่กรณีที่มีอาการ อาจพบสัญญาณการติดเชื้อต่าง ๆ ภายในไม่กี่วัน หรือหลายสัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อ เช่น

  • มีตกขาวผิดปกติ ตกขาวมีสีเหลือง หรือสีเขียวเพิ่มขึ้น

  • ตกขาวมีกลิ่นเหม็น

  • เจ็บคอ

  • มีไข้

  • คันบริเวณปากช่องคลอด

  • มีสารคัดหลั่ง (discharge) ออกมาทางทวารหนัก

  • รู้สึกอยากปัสสาวะบ่อยขึ้น และเจ็บหรือแสบร้อนขณะปัสสาวะ หรือขับถ่าย

  • ปวดแปลบที่ท้องน้อย หรืออุ้งเชิงกราน หรือปวดท้องด้านล่างอย่างรุนแรง

  • รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ และบางครั้งอาจมีเลือดออกด้วย

  • มีเลือดออกเป็นหยด ๆ ในช่วงรอบเดือน หรือประจำเดือนมามากผิดปกติ

  • เกิดฝีหนองภายในร่างกาย และปวดท้องน้อยเรื้อรัง

อาการหนองในเพศชาย

ผู้ชายมักจะมีอาการหนองในแสดงให้เห็นได้ชัดเจนกว่าผู้หญิง โดยอาการมักเกิดขึ้นภายใน 2–30 วันหลังจากได้รับเชื้อ ซึ่งกรณีที่เพิ่งจะมีอาการหลังจากได้รับเชื้อมาแล้วหลายสัปดาห์ อาจทำให้ไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ และนำเชื้อไปแพร่สู่ผู้อื่นได้ โดยอาการหนองในของผู้ชาย มีดังนี้

  • เจ็บคอ

  • ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะแสบขัด

  • มีของเหลวลักษณะคล้ายหนองสีขาว เหลือง หรือเขียวออกจากท่อปัสสาวะ โดยจะเกิดภายใน 14 วันแรกของการติดเชื้อ

  • ปลายองคชาตบวม หรือสีผิดปกติ

  • รูเปิดท่อปัสสาวะแดงหรือบวม

  • ปวดและบวมบริเวณลูกอัณฑะบวม

นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดอาการที่บริเวณอื่น และทำให้เกิดอาการต่างกัน เช่น

  • การติดเชื้อที่ทวารหนัก ทำให้รู้สึกเจ็บและคันบริเวณทวารหนัก รู้สึกเจ็บขณะถ่ายอุจจาระ และมีเลือดหรือของเหลวไหลออกจากทวารหนัก

  • การติดเชื้อในลำคอ ทำให้เกิดอาการเจ็บคอเรื้อรัง ภายในลำคอแดงและอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม

  • การติดเชื้อที่ดวงตา มักเกิดจากการสัมผัสช่องคลอดหรือบริเวณอื่นที่ติดเชื้อ แล้วใช้มือสัมผัสดวงตาโดยไม่ได้ล้างมือให้สะอาด ทำให้รู้สึกปวดหรือระคายเคืองตา เปลือกตาบวม ตาแดงและอักเสบ มีขี้ตาสีขาวหรือเหลืองที่ดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง และตาไม่สู้แสง

  • การติดเชื้อตามข้อต่อต่าง ๆ หรือที่เรียกว่าภาวะข้ออักเสบติดเชื้อ (Septic Arthritis) อาจทำให้ข้อต่อบวมแดง รู้สึกอุ่นหรือเจ็บบริเวณข้อต่อ โดยจะเจ็บมากเมื่อเคลื่อนไหวร่างกาย

ภาพที่เกี่ยวข้องกับภาวะแทรกซ้อนของโรคหนองใน
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหนองใน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหนองใน

  • ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีสูงขึ้น

  • เชื้อโรคอาจแพร่กระจายกระแสเลือด ตามด้วยอาการติดเชื้อที่ข้อ โดยเข้าสู่ข้อกระดูก และโรคข้ออักเสบ อาจอันตรายจนเสียชีวิตได้

  • ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ทำให้เกิดพังผืดในท่อนําไข่และมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะมีบุตรยากและการตั้งครรภ์นอกมดลูก

  • การแท้งบุตรหรือการคลอดก่อนกําหนด

  • หากติดเชื้อโรคหนองในระหว่างตั้งครรภ์ สามารถแพร่เชื้อไปยังบุตรได้ในระหว่างที่คลอดบุตร ซึ่งจะทำให้ทารก เกิดอาจมีภาวะเยื่อบุตาอักเสบ หรือตาบอด

  • ในผู้ชายที่พบได้ คือ การอักเสบของท่อเก็บเชื้ออสุจิในถุงอัณฑะ (Epididymitis) ซึ่งจะทำให้เจ็บอัณฑะ เจ็บถุงอัณฑะ อาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากในชาย และในบางรายอาจทำให้เป็นหมันได้

ภาพที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการการวินิจฉัยโรคหนองใน
การวินิจฉัยโรคหนองใน

การวินิจฉัยโรคหนองใน

การเก็บตัวอย่างของเหลวบริเวณช่องคลอด หรือปากมดลูกในผู้หญิง หรือเก็บตัวอย่างปัสสาวะในผู้ชายมาตรวจทางห้องปฎิบัติการ เพื่อย้อมสีกรัม (gram stain) ตรวจหาเชื้อแบคทีเรียไนซีเรียโกโนเรีย เพาะเชื้อ หรือตรวจพิเศษหาพันธุกรรมของเชื้อแบคทีเรีย (Nucleic acid amplification tests; NAAT)

หากสงสัยว่าอาการที่พบคล้ายกับอาการติดเชื้อหนองใน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา โดยแพทย์จะตรวจการติดเชื้อหนองในด้วยการตรวจภายใน (Pelvic Exam) และเก็บตัวอย่างเชื้อจากบริเวณที่อาจมีการติดเชื้อเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ดังนี้

  • การใช้สำลีป้ายเก็บตัวอย่างภายในลำคอ ช่องคลอด ท่อปัสสาวะ และทวารหนัก

  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจหาเชื้อที่บริเวณท่อปัสสาวะ

นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วย เพราะคนที่เป็นหนองในมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น เช่น หนองในเทียมร่วมด้วย หากผลตรวจระบุว่าติดเชื้อหนองใน แพทย์อาจให้ตรวจเลือดเพื่อหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นเพิ่มเติม เช่น การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) โรคไวรัสตับอักเสบบี และโรคซิฟิลิส


การรักษาโรคหนองใน

  • การรักษาทำได้โดยการฉีดยาปฏิชีวนะ เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว หรืออาจให้รับประทานยาเซฟิซิม (Cefixime) หากอาการไม่ดีขึ้น ควรกลับมาพบแทย์ทันทีเนื่องจากเชื้ออาจดื้อยา ผู้ป่วยควรงดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 7 วันหลังเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

  • ควรแจ้งผลตรวจโรคหนองในให้คู่นอนทราบ และแนะนำให้คู่นอนที่มีเพศสัมพันธ์ภายใน 60 วันก่อนที่ผู้ป่วยมีอาการโรคหนองในไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจ และรักษาเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำหลังจากผู้ป่วยรักษาหายแล้ว หรือป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น

  • เนื่องจากผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วย แนะนําให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามหลังการรักษา และ 3 เดือนหลังจากได้รับการรักษาเพื่อทำการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

ภาพที่เกี่ยวข้องกับวิธีการป้องกันโรคหนองใน
การป้องกันโรคหนองใน

การป้องกันโรคหนองใน

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

  • ไม่มีคู่นอนหลายคน หรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย

  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ หากคุณและคู่ของคุณมีตกขาว หรือของเหลวออกมาทางอวัยวะเพศ หรือรู้สึกแสบขัดเมื่อปัสสาวะ

  • แนะนำผู้ป่วยงดมีเพศสัมพันธ์ 7 วันหลังให้การรักษาและจนกระทั่งคู่นอนได้รับการรักษาแล้ว

  • แนะนำให้นำคู่เพศสัมพันธ์ที่มีเพศสัมพันธ์ภายใน 60 วันก่อนที่ผู้ป่วยมีอาการ ให้ได้รับ การตรวจและรักษาเช่นเดียวกับผู้ป่วย

  • รับประทานยา หรือรับการรักษาจนครบตามแผนการรักษาของแพทย์

  • ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ตกขาวมีกลิ่นหรือสีผิดปกติ หรือมีหนองไหลจากอวัยวะสืบพันธุ์ ควรปรึกษาแพทย์ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง

  • หากคู่เพศสัมพันธ์มีอาการต้องสงสัยการติดเชื้อหนองใน ควรแนะนำให้มาปรึกษาแพทย์

  • อาการติดเชื้อหนองในควรหายเกือบสนิทภายใน 24 ชั่วโมง หากไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน แนะนำให้ผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์ เพื่อพิจารณาตรวจหาว่าเป็นเชื้อหนองในชนิดดื้อยา หรือมีการติดเชื้ออื่น หรือมีภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อร่วมด้วย

  • ไม่ใช้เซ็กซ์ทอยร่วมกับผู้อื่น หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรทำความสะอาดเซ็กซ์ทอย หรือใช้ถุงยางอนามัยชิ้นใหม่กับเซ็กซ์ทอยทุกครั้งที่ใช้เซ็กซ์ทอยร่วมกับผู้อื่น

  • หากมีประวัติเสี่ยง ควรไปตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆแม้ว่าจะไม่มีอาการใด ๆ

  • ดูแลความสะอาดร่างกาย และความสะอาดของเสื้อผ้า ชุดชั้นใน ไม่ใส่ซ้ำ ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น

  • ดูแลความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ทุกครั้งหลังขับถ่ายโดยล้างจากด้านหน้าไปด้านหลัง แล้วซับให้แห้งด้วยผ้าหรือทิชชูที่สะอาด


อาการหนองในมักติดต่อกันผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ติดเชื้อ และบางกรณีอาจไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการช้า หากมีอาการของโรคหนองใน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจประเมิน และรักษาอย่างเหมาะสม หากได้รับการรักษาเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อรุนแรง และการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว และควรให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อโรคหนองในได้


Comments


12 Terry Francine St.

San Francisco, CA 94158

Opening Hours

Mon - Fri

8:00 am – 8:00 pm

Saturday

9:00 am – 7:00 pm

​Sunday

9:00 am – 9:00 pm

bottom of page