ไวรัสตับอักเสบ เป็นไวรัสที่เป็นอันตรายต่อตับ และเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดโรคทางตับมากมาย ไวรัสตับอักเสบมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ, บี, ซี, ดี และอี ซึ่งแต่ละชนิดจะมีลักษณะการติดต่อ และอาการแสดงที่แตกต่างกันออกไป
โรคไวรัสตับอักเสบบี ถือว่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากไวรัสตับอักเสบบี ทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ตับ เซลล์ตับถูกทำลาย หากเป็นเรื้อรังจะเกิดพังผืด จะทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคตับแข็ง และโรคมะเร็งตับ และยังสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสกับของเหลวในร่างกายที่ติดเชื้อ เช่น เลือด, น้ำลาย, ของเหลวในช่องคลอด, และน้ำอสุจิ ทำให้มีความเสี่ยงในการถ่ายทอดไวรัสระหว่างบุคคล นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่ไวรัสนี้จะถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกในกรณีที่มีการติดเชื้อ
การเข้าใจถึงโรคไวรัสตับอักเสบบี จะช่วยในการวางแผนการรักษา การป้องกันอย่างเหมาะสม รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อ เพื่อลดโอกาสที่จะเป็นโรค หรือเสี่ยงต่อการพัฒนาโรคร้ายแรงทางตับ
ไวรัสตับอักเสบบี คืออะไร?
ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B หรือ HBV) คือ โรคที่มีการติดเชื้อของตับ ที่มาจากการที่ตับติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ทำให้เกิดอาการบวมของเนื้อเยื่อในตับ และมีปฎิกิริยาต่อระบบภูมิต้านทานของร่างกาย ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสมีการอักเสบของเซลล์ตับ และทำให้เซลล์ตับถูกทำลาย
โดยที่โรคไวรัสตับอักเสบบีสามารถแบ่งได้ 2 ชนิด คือ
ไวรัสตับอักเสบบี เฉียบพลัน
เป็นการติดเชื้อที่กินระยะเวลาไม่นานมักมีอาการของโรคที่ปรากฏอย่างชัดเจน และจะหายได้เองภายใน 6 เดือน แต่หากร่างกายไม่สามารถหายได้เองก็สามารถนำไปสู่การติดเชื้อในระยะยาว หรือไวรัสตับอักเสบเรื้อรังได้
ไวรัสตับอักเสบบี เรื้อรัง
เป็นการติดเชื้อที่กินระยะเวลานานกว่า 6 เดือน ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลียอย่างต่อเนื่อง หรือไม่มีอาการเลย พบได้บ่อยในผู้ที่ติดเชื้อตั้งแต่เด็กหรือทารกแรกเกิด ไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังสามารถนำไปสู่โรคตับชนิดอื่น ๆ ได้ เช่นโรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับ
สาเหตุโรคไวรัสตับอักเสบ บี
สาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B Virus) เชื้อไวรัสชนิดนี้จะติดต่อผ่านคนสู่คน โดยติดเชื้อผ่านสารคัดหลั่งในร่างกาย เช่น เลือด น้ำอสุจิ หรือของเหลวอื่น ๆ ในร่างกาย หากผู้ที่ได้รับเชื้อมาไม่มีภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบ บี ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อ เมื่อเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 45-90 วัน แล้วจึงเริ่มแสดงอาการ ซึ่งบางรายอาจจะนานถึง 180
ใครที่มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
โดยสามารถรับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้โดยวิธีดังต่อไปนี้
ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อโดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นโรคนี้ มีโอกาสจะติดโรคได้สูงถึงร้อยละ 30–50
ผู้ที่มีการใช้อุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนของเลือดร่วมกัน เช่น เข็มฉีดยา มีดโกนหนวด แปรงสีฟัน การสัก เป็นต้น
ผู้ที่ได้รับเชื้อจากการได้รับเลือดจากผู้ที่เป็นพาหะของโรคนี้ ปัจจุบันพบการติดต่อทางนี้น้อยลง เพราะมีการตรวจเลือดก่อนที่จะนำมาให้ผู้ป่วยเสมอ
การสัมผัสกับเลือด น้ำเลือด น้ำคัดหลั่ง โดยผ่านเข้าทางบาดแผล
ผู้ที่มีการทำงานของตับผิดปกติ หรือมีภาวะตับอักเสบ
ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ต้องฟอกไต หรือจำเป็นต้องได้รับยากดภูมิต้านทาน หรือยาเคมีบำบัด
ผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็ง
ผู้ที่ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น
การถ่ายทอดจากมารดาที่ติดเชื้อสู่ทารก (ถ้าแม่มีเชื้อลูกมีโอกาสได้รับเชื้อ 90%)
บุคลากรทางการแพทย์
อาการโรคไวรัสตับอักเสบบี
อาการของโรคไวรัสตับอักเสบบี แบ่งได้ ดังนี้
ระยะเฉียบพลัน
ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการภายใน 1-4 เดือนหลังติดเชื้อ ดังนี้
อาการไข้ ตัวเหลืองตาเหลือง(ดีซ่าน) ปวดท้องใต้ชายโครงขวา แน่นท้อง ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม
อาการอื่นๆ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสียและอาเจียน อ่อนเพลีย ผื่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรง เกิดจากการที่เซลล์ตับถูกทำลายเป็นจำนวนมาก ในกรณีนี้อาจทำให้เกิดภาวะตับวายได้
อาการตับอักเสบระยะเฉียบพลันจะดีขึ้นใน 1-4 สัปดาห์ และจะหายเป็นปกติเมื่อร่างกายสามารถกำจัดและควบคุมเชื้อไวรัสตับอักเสบได้ ซึ่งมักใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน แต่ผู้ป่วยส่วนน้อย (5-10%) ไม่สามารถกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้หมด ทำให้ผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง
ระยะเรื้อรัง
แบ่งผู้ป่วยได้เป็น 2 กลุ่มคือ
พาหะ คือ ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย ระยะนี้มักไม่มีอาการผิดปกติ ดำเนินชีวิตได้ตามปกติ มักจะพบในช่วงวัยรุ่น จนถึงอายุ 40 ปี แต่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ผลการตรวจเลือดพบค่าการทำงานของตับอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี
ตับอักเสบเรื้อรัง เกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัย บางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติ แต่เมื่อตรวจเลือดจะพบค่าการทำงานของตับสูงขึ้น แสดงถึงว่าตับมีการอักเสบเรื้อรัง และสามารถทำให้ตับแข็งได้ ในระยะนี้จึงจำเป็นต้องรักษา และการติดเชื้อแบบเรื้อรังพบบ่อยในเด็กที่ติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิด
ระยะตับแข็ง และมะเร็งตับ
เป็นระยะสุดท้ายของโรคตับ เกิดจากการอักเสบของตับเรื้อรัง จะมีอาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง ดีซ่าน ท้องมาน แขนขาบวม ตัวบวม
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไวรัสตับอักเสบบี
โรคภาวะตับอักเสบบีสามารถพัฒนากลายเป็นโรคร้ายได้ ดังนี้
ตับแข็ง มีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 25 % โดยตับจะเกิดพังผืดขึ้นส่งผลต่อการทำงานของตับ
ตับวายเฉียบพลัน เป็นภาวะที่ตับหยุดการทำงาน และสามารถส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไม่มีการปลูกถ่ายตับ
มะเร็งตับ เมื่อมีการพัฒนาเป็นมะเร็งตับสามารถสังเกตอาการของผู้ป่วยได้ คือจะมีน้ำหนักลด ตาเหลืองผิวเหลือง และเบื่ออาหาร
ภาวะที่เกี่ยวกับเลือด เช่น ภาวะโลหิตจาง และการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบบี
เจาะเลือดตรวจค่าการทำงานของตับ (liver function test)
เจาะเลือดตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
ตรวจHBsAg (แอนติเจนไวรัสตับอักเสบบี): ถ้าเป็น ผลบวก แปลว่า ผู้ป่วยกำลังมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
ตรวจ HBeAG บ่งบอกถึงโรคอยู่ในระยะการแบ่งตัวของไวรัสตับอักเสบบี (Viral replication)
ตรวจ HBV-DNA บ่งบอกถึงปริมาณเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
Anti-HBS (ภูมิคุ้มกันต่อ HBsAg): ถ้าเป็น ผลบวก แปลว่า ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยได้รับการฉีดวัคซีน หรือเคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบและหายจากโรคแล้ว ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันจึงไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น และไม่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอีก
การวินิจฉัยว่าเป็นไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ต้องเจาะเลือดตรวจซ้ำอีกครั้งที่ 6 เดือนหลังจากวินิจฉัยว่าเป็นไวรัสตับอักเสบบีแบบเฉียบพลัน หากพบว่าร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ จึงจะวินิจฉัยว่าเป็น “โรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง
การตัดชิ้นเนื้อจากตับไปตรวจ แพทย์จะใช้เข็มแทงผ่านผิวหนังเพื่อเก็บชิ้นเนื้อจากตับ การตรวจนี้ไม่ได้ทำในผู้ป่วยทุกราย ทำเฉพาะในผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังที่ต้องการติดตามการดำเนินไปของโรค เช่น ต้องการทราบภาวะพังผืดในตับและการอักเสบของเซลล์ตับ ซึ่งจะมีผลในการเริ่มต้นการรักษา หรือสงสัยมะเร็งตับ เป็นต้น
การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี
ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี ที่ควรได้รับการรักษาจะมีลักษณะดังนี้
HBsAg ถ้าเป็น ผลบวก เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าไวรัสกำลังมีการแบ่งตัวอย่างมาก คือ
HBeAg ถ้าเป็น ผลบวก ปริมาณไวรัสมากกว่าหรือเท่ากับ 20,000 IU/ml
HBeAg ถ้าเป็น ผลลบ ปริมาณไวรัสมากกว่าหรือเท่ากับ 2,000 IU/ml
ระดับ ALT มากกว่าหรือเท่ากับ 1.5 เท่าของค่าปกติอย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน (ยกเว้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีหลักฐานว่ามีตับแข็งหรือภาวะตับวาย พิจารณาให้การรักษาถึงแม้จะมี ALT ปกติ ไม่จำเป็นต้องรอห่างกันเกิน 3 เดือน)
ต้องไม่มีโรคอื่นที่เป็นสาเหตุหลักของตับอักเสบ
วิธีการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง มีดังนี้
การใช้ยาชนิดรับประทาน ไปยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสตับอักเสบบี
การใช้ยาฉีด เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานของผู้ป่วย ที่เรียกว่า ยาฉีดเพ็กไกเลดเตด อินเตอร์เฟียรอน (pegylated interferon) ยาตัวนี้มีฤทธิ์ไปกระตุ้นภูมิต้านทานของผู้ป่วยให้ต่อสู้ควบคุมไวรัสตับอักเสบบีเป็นหลัก แต่ก็มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสบ้าง จะใช้เวลารักษานาน 48 สัปดาห์ สามารถได้ผลตอบสนองระยะยาว 6 เดือน
การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี
มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
หลีกเลี่ยงการสัมผัสเลือดและสารคัดหลั่งของผู้ป่วย
ไม่ควรรับประทานยาพร่ำเพรื่อติดต่อกันเป็นเวลานาน หากไม่ได้อยู่ในความดูแลของแพทย์
งดดื่มแอลกอฮอล์
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานโรค
ตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรตรวจเช็คตับปีละ 1 ครั้ง และตรวจคัดกรองมะเร็งตับเป็นระยะ
ควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสตับอักเสบ หากร่างกายยังไม่มีภูมิคุ้มกัน
ผู้ที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี
วิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี คือ การให้วัคซีนก่อนการสัมผัสโรค เมื่อฉีดวัคซีน ครบถ้วนตามเกณฑ์แล้วจะมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคสูงถึง ร้อยละ 90-95 % จึงควรใส่ใจและเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบถ้วนตามที่แพทย์กำหนด
ทารกแรกเกิด เด็ก และผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเมื่อแรกเกิด
ผู้ที่ตรวจเลือดไม่พบว่าติดเชื้อมาก่อน และยังไม่มีภูมิต้านทานต่อไวรัสตับอักเสบบี
ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและมีอายุน้อยกว่า 60 ปี
ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางพฤติกรรมทางเพศ เช่น รักร่วมเพศ มีคู่นอนหลายคน
ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต
ผู้ป่วยที่ได้รับเลือดบ่อยๆ
ผู้ที่ใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น
ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่ทำงานในสถานพยาบาล
ผู้ที่จะเดินทางเข้าไปยังประเทศที่เป็นแหล่งระบาด หรือมีความชุกของโรคสูง
โรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นภัยร้ายต้นเหตุที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบตับ และสุขภาพของมนุษย์ การรุนแรงของโรคนี้ไม่เพียงแค่สร้างความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคตับแข็ง แต่ยังเพิ่มโอกาสในการพัฒนามะเร็งตับอีกด้วย ภัยร้ายนี้มีต้นเหตุที่ตับถูกทำลายจากการอักเสบที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบบี ฉะนั้นการรู้จัก และเข้าใจโรคไวรัสตับอักเสบบีเป็นสำคัญมาก เพื่อการวางแผนการรักษาและป้องกันที่มีประสิทธิภาพ การคัดกรองและการฉีดวัคซีนต้านไวรัสตับอักเสบบีเป็นวิธีที่สำคัญในการป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงการส่งเสริมการให้วัคซีนในกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดโอกาสที่จะเป็นโรคหรือมีความเสี่ยงต่อการพัฒนาโรคร้ายแรงทางตับ
Comentarios