โรคไวรัสตับอักเสบซี นับว่ามีความสำคัญเป็นอันดับรองลงมาจากโรคไวรัสตับอักเสบบี เนื่องจากผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ เนื่องจากมักไม่แสดงอาการ ทำให้เมื่อติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เกิดการดำเนินของโรคแบบค่อยเป็นค่อยไป หรืออาจมีอาการน้อยและอาการเหมือนโรคทั่วไป เช่น เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ไข้ต่ำๆ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ปัสสาวะสีเข้ม และผิวหนังหรือตาเหลือง (ดีซ่าน)เป็นต้น จึงไม่ได้สนใจ หากไม่ได้ไปพบแพทย์หรือตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับก็จะไม่ทราบว่าตนเองมีตับอักเสบเรื้อรัง จนโรคจะดำเนินไปจนเข้าสู่ระยะตับแข็ง
ฉะนั้นการตรวจพบ และการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถป้องกันความเสียหายร้ายแรงของตับและปรับปรุงสุขภาพในระยะยาวได้ เพราะยังไม่มีวัคซีนสำหรับโรคตับอักเสบซี แต่สามารถรักษาได้ด้วยยาต้านไวรัส
ไวรัสตับอักเสบซี คืออะไร?
ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C หรือ HCV) คือ โรคที่ตับเกิดการอักเสบ และเสียหายจากการติดเชื้อไวรัสไวรัสตับอักเสบซี สามารถติดต่อกันทางเลือด หรือเพศสัมพันธ์ คล้ายกับไวรัสตับอักเสบบี แต่ไม่สามารถติดต่อกันได้ทางการให้นมบุตร การสัมผัส การกอด การจูบ การจาม หรือไอรดกัน การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำด้วยกัน และการใช้ถ้วยชามร่วมกัน
โดยผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการแสดงชัดเจนในช่วงแรก แต่สามารถนำไปสู่การเกิดอาการที่รุนแรงต่อตับได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบบเรื้อรังมีโอกาสสูงที่จะเกิดโรคตับอย่างรุนแรง หรือโรคมะเร็งตับตามมา โดยการรักษาอาจช่วยกำจัดเชื้อไวรัสให้หายขาดอย่างถาวร หรือช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการและดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติได้
สาเหตุโรคไวรัสตับอักเสบซี
สาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C Virus) เมื่อเชื้อไวรัสตับอักเสบซี เมื่อเข้าไปในร่างกายจะแบ่งตัว และอาศัยอยู่ในตับ ระยะแรกทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งมักจะมีอาการไม่มาก ทำให้ผู้รับเชื้อไม่ทราบว่ามีตับอักเสบ โดยประมาณเกือบ 8% ของผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีการติดเชื้อเรื้อรัง และตามมาด้วยตับอักเสบแบบเรื้อรังแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ค่อยมีอาการชัดเจน ผ่านไปประมาณ 10-30 ปีจึงเข้าสู่ระยะตับแข็ง เมื่อมีโรคตับแข็งเกิดขึ้นจะมีโอกาสเกิดมะเร็งตับได้
ไวรัสตับอักเสบซี เป็นเชื้อไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA) ประกอบด้วย 6 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ที่ 1 ถึง 6 โดยการแบ่งสายพันธุ์ไม่เกี่ยวกับความรุนแรงแต่เกี่ยวกับการรักษา ซึ่งสายพันธุ์ 2 และ 3 เป็นสายพันธุ์ที่พบบ่อย ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจว่าไวรัสตับอักเสบซีที่เป็นนั้นเป็นชนิดอะไร เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาโรคต่อไป เนื่องจากการรักษาไวรัสแต่ละชนิดมีความยากง่ายแตกต่างกัน ระยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการ) :ประมาณ 6-8 สัปดาห์
ใครที่มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
โดยสามารถรับเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้โดยวิธีดังต่อไปนี้
ผู้ที่เคยได้รับเลือด และสารเลือด หรือรับบริจาคอวัยวะก่อนปี ก่อนปี พ.ศ.2535 เนื่องจากยังไม่มีการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะก่อนปี พ.ศ.2535
ผู้ที่สัมผัสหรือมีประวัติสัมผัสเลือด หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส ตับอักเสบ ซี
ผู้ที่มีประวัติใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น หรือผู้ที่มีการฉีดสารเสพติดเข้าเส้นเลือด ถึงแม้ว่าทดลองใช้เพียงครั้งเดียว
ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์
ผู้ที่มีภาวะไตวายเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้รับการฟอกไตเป็นประจำ หรือผู้ที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
ผู้ที่มีผลเลือดการทำงานของตับพบการอักเสบ หรือมีค่าเอนไซม์ของตับผิดปกติ
ชายรักชาย และพนักงานบริการทางเพศ หรือผู้ที่สำส่อนทางเพศ
ผู้ที่มีการสักตามตัว การใช้เข็มที่ติดเชื้อโรคสักผิวหนัง เจาะหู ฝังเข็ม
บุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกเข็มตำจากผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง
ผู้ที่เคยรับการรักษาจากผู้ที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข เช่น ฉีดยา ทำฟัน หรือหัตถการอื่น ๆ
การใช้ของส่วนตัวที่เปื้อนเลือดร่วมกัน เช่น มีดโกน หรือกรรไกรตัดเล็บ
ทารกที่เกิดจากแม่ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซี (ติดได้แต่พบน้อย)
อาการโรคไวรัสตับอักเสบซี
ส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี จะไม่รู้ตัว เพราะมักจะไม่มีอาการแสดงชัดเจน จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อร่างกายเริ่มแสดงอาการออกมาตอนที่ตับได้รับความเสียหายมากแล้ว มีเพียงผู้ติดเชื้อบางส่วนเท่านั้นที่มีอาการแสดงให้เห็นในช่วง 6 เดือนแรกหลังจากการติดเชื้อ แต่อาการที่แสดงออกมาจะเกิดเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังการติดเชื้อเท่านั้น อาการของโรคไวรัสตับอักเสบซี แบ่งได้ ดังนี้
ระยะที่ 1 ตับอักเสบเฉียบพลัน
หลังจากไวรัสตับอักเสบ ซี เข้าสู่ร่างกายแล้วจะทำให้เกิดการ อักเสบของตับ แต่ส่วนมากผู้ป่วยจะไม่มีอาการ หรืออาจจะแสดงอาการดังต่อไปนี้
มีไข้หรืออุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สบายตัว
ปวดท้อง ไม่อยากอาหาร
จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ที่เรียกว่า ดีซ่าน
ระยะที่ 2 ตับอักเสบเรื้อรัง
ส่วนในผู้ป่วยที่ยังมีเชื้อไวรัสหลงเหลืออยู่ในร่างกายเป็นเวลาหลายปี อาจกลายเป็นไวรัสตับอักเสบ ซี แบบเรื้อรัง โดยโรคไวรัสตับอักเสบ ซี แบบเรื้อรังมักจะแสดงอาการหลังจากเกิดการติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 10 ปี ซึ่งอาจไม่มีอาการใด ๆ เลย หรืออาจจะแสดงอาการดังต่อไปนี้
เป็นไข้ ไม่สบายตัว
รู้สึกอ่อนเพลียตลอดเวลา
ปัสสาวะมีสีเข้ม
เกิดผื่นคันตามผิวหนัง
ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ
อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง ท้องอืด
มีอาการบวมที่ขา เกิดรอยช้ำ หรือมีเลือดออกง่าย
มีปัญหาเกี่ยวกับความจำในระยะสั้น สมาธิ และความคิด
อารมณ์แปรปรวน เกิดความวิตกกังวล หรือมีภาวะซึมเศร้า
ระยะที่ 3 ตับแข็ง
ในระยะแรก ยังไม่มีอาการ หรือความผิดปกติ ผู้ป่วยยังสามารถมีชีวิต ทำงานได้ ตามปกติเหมือนเดิมจนกระทั่งผู้ป่วยสูญเสียการทำงานของตับมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะเริ่มมี อาการต่าง ๆ ซึ่งอาการแสดงแบ่งเป็น 2 ระยะ
อาการที่เกิดจาการสูญเสียการทำงานของเซลล์ตับ ทำให้การสร้างสารอาหาร พลังงาน และการทำลายพิษต่าง ๆ ผิดปกติ อาจพบอาการ ดังนี้
อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ผอมลง
ตัวเหลือง ตาเหลือง
ท้องมาน ขาบวม
ผิวดำคล้ำ แห้ง คันโดยไม่มีแผล หรือผื่นมากกว่าเดิม
เลือดกำเดาออก เลือดออกตามไรฟัน
ผิวหนังช้ำ เขียวง่าย
ไวต่อยาหรือสารพิษต่าง ๆ มากกว่าปกติ
สมองมึนงง ซึม สับสน หรือโคม่า
อาการที่เกิดจากภาวะตับแข็ง (Cirrhosis)
อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ ถ่ายเป็นเลือด เนื่องจากมีการแตกของหลอดเลือดโป่งพองในหลอดอาหาร (Esophageal varices)
ม้ามโต
ซีด เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ
มะเร็งตับ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไวรัสตับอักเสบซี
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี เป็นเวลานานต่อเนื่องหลายปี หรือเรียกว่าโรคตับอักเสบเรื้อรังจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายประการ ดังนี้
โรคตับแข็งมักเกิดหลังจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี มาแล้วประมาณ 20–30 ปี โดยเกิดจากการที่ตับอักเสบและถูกทำลายจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
ภาวะตับวายอาจเกิดจากการเป็นโรคตับแข็งในระยะที่มีความรุนแรงมากจนทำให้ตับหยุดการทำงาน
โรคมะเร็งตับที่แม้จะมีโอกาสเกิดได้น้อย แต่ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน
การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบซี
การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ ซี จะทำโดยการตรวจเลือดเพื่อหาว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถหาทางรักษาโรคได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น
ภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบซี (anti-HCV) เป็นภูมิที่บอกว่ามีหรือเคยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ถ้าให้ผลบวก แสดงว่าเคยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมาก่อนโดยที่ขณะนี้อาจมี หรือไม่มีไวรัสอยู่ในเลือดก็ได้
การนับปริมาณไวรัสโดยวิธี polymerase chain reaction (PCR) ถ้าให้ผลบวกแสดงว่ากำลังมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
การตรวจการทำงานของตับเพื่อดูค่าการอักเสบของตับ (AST, ALT)
การตรวจหาปริมาณไวรัสในเลือด (Viral Load)
ตรวจแบบ HCV-RNA เพื่อตรวจหาสารพันธุกรรม RNA ของไวรัส
การเจาะชิ้นเนื้อตับเพื่อการวินิจฉัย โดยจะทำในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น
การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี
การรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี แพทย์จะพิจารณาตามภาวะของโรค และโรคร่วมต่างๆ ที่ผู้ป่วยเป็น เช่น
ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซี บางรายเมื่อตรวจเลือดพบค่าการอักเสบของตับ แพทย์จะนัดตรวจเลือดอีกครั้ง 6-12 เดือน
เด็กที่เกิดจากแม่ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีไม่ควรเจาะเลือดก่อนอายุ 12 เดือนเนื่องจากเชื้อจากแม่ยังไม่หมด แนะนำให้ตรวจ anti-HCV เมื่อเด็กมีอายุ 18 เดือนขึ้นไป
โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้โดยการรับประทานยาร่วมกับยาฉีด สามารถกำจัดเชื้อให้หายขาดอย่างถาวร โดยประเมินจากจำนวนเชื้อไวรัสในเลือดหลังการรักษา ซึ่งจะช่วยให้อาการตับอักเสบดีขึ้น และหายไป ป้องกันไม่ให้เกิดตับแข็ง และมะเร็งตับ
ในผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ ซึ่งในการติดเชื้อช่วงเริ่มแรก หรือแบบเฉียบพลัน อาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษาในทันที เนื่องจากร่างกายอาจกำจัดเชื้อไวรัสได้เอง โดยแพทย์อาจทำการตรวจเลือดเพื่อดูความเป็นไปได้ของโรคควบคู่ไปด้วย
ส่วนผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบ ซี แบบเรื้อรัง มีความจำเป็นที่จะต้องรับการรักษา โดยแพทย์จะพิจารณาภาวะสุขภาพของผู้ป่วยก่อนทำการรักษา เช่น ความรุนแรงของโรค สายพันธ์ุของไวรัส และพยาธิสภาพที่ตับ ซึ่งโรคไวรัสตับอักเสบ ซี อาจสามารถรักษาด้วยการฉีดยาอินเตอเฟอรอน และการรับประทานยาต้านไวรัส แต่ผลการรักษาอาจแตกต่างกันออกไปตามภาวะสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน
การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบซี
โรคไวรัสตับอักเสบซี ยังไม่มีวัคซีนป้องกันเหมือนกับโรคไวรัสตับอักเสบ เอ และบี แต่สามารถป้องกันตัวเอง หรือ สามารถลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้หลายวิธี ดังนี้
หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยหรือการที่ไม่รู้ประวัติสุขภาพของคู่นอน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้
ไม่ควรใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี รวมไปถึงอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ร้ายแรงกว่าด้วย
สวมถุงมือถ้าต้องสัมผัสเลือด
ห้ามใช้มีดโกนหนวด กรรไกรตัดเล็บ แปรงสีฟันร่วมกัน
การเจาะ หรือสักตามร่างกายควรเลือกร้านที่มีมาตรฐาน และมีการฆ่าเชื้ออุปกรณ์อย่างถูกสุขอนามัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี ตามมา
บุคลากรทางการแพทย์ควรสวมถุงมือ แว่นตา หรือชุดคลุม เมื่อต้องสัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยทุกครั้ง
ควรดูแลสุขภาพตับให้ดีด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ
หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำร้ายตับอย่างการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้สุขภาพกายและสุขภาพตับแข็งแรง รวมถึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ด้วย
โรคไวรัสตับอักเสบชนิดซีเป็นภัยที่คุณควรให้ความสนใจอย่างมากเนื่องจากมีผลกระทบต่อสุขภาพตับ และอาจเป็นอันตรายถ้าไม่รักษาอย่างเหมาะสม การทราบถึงอาการ และปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณรักษาตัวเอง ป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงการตรวจสุขภาพตับอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ สุขภาพที่ดีเป็นปัจจัยที่สำคัญในการรับมือกับภัยที่อาจเกิดจากโรคไวรัสตับอักเสบชนิดซี
コメント