เชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) เป็นสาเหตุหลักของโรคเอดส์ที่กำลังเป็นปัญหาสาธารณะทั่วโลก เมื่อร่างกายได้รับเชื้อเอชไอวี มันจะทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคต่าง ๆ ผลลัพธ์คือการบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายอ่อนแอ และเปิดโอกาสให้โรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เข้าทำลาย
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ สิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้เพื่อปกป้องตนเอง คือ การรู้ถึงสถานะกาติดเชื้อเอชไอวีของตนเอง และวิธีเดียวที่จะทราบคือ การตรวจหาเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่ทุกคนควรทำเพื่อรักษาสุขภาพ และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเอชไอวีในชุมชน
การตรวจหาเชื้อเอชไอวี คืออะไร?
การตรวจหาเชื้อเอชไอวี คือ การนำสารคัดหลั่งจากร่างกายไปตรวจหาเชื้อเอชไอวี ในห้องปฏิบัติการ โดยสามารถเก็บตัวอย่างได้จากการขูดเซลล์ หรือน้ำลายในช่องปาก แต่ที่นิยมในปัจจุบัน ก็คือ การตรวจจากเลือด ซึ่งมีให้บริการทั่วไปตามคลินิก และโรงพยาบาลต่างๆ นอกจากนี้หากไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ก็สามารถปรึกษาเภสัชกรเพื่อซื้อชุดตรวจเอชไอวี แบบตรวจเชื้อเอชไอวีด้วยตัวเองมาใช้ได้ แต่หากได้ผลตรวจเป็นบวก ก็ยังคงต้องตรวจยืนยันผลอีกครั้งในห้องปฏิบัติการด้วยเช่นกัน
ความสำคัญของการตรวจหาเชื้อเอชไอวี
โดยทั่วไปผู้ติดเชื้อเอชไอวี จะไม่ค่อยแสดงอาการให้เห็นชัดเจน กว่าที่อาการจะเริ่มแสดงออกมาเชื้อเอชไอวี ก็อาจลุกลามรุนแรงมากขึ้น ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงต่ำมาก จนเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา เช่น โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมซิสติส, วัณโรค หรือเชื้อไวรัสขึ้นจอประสาทตา เป็นต้น
การตรวจหาเชื้อเอชไอวี ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะการจะรู้ตัวว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวี หรือไม่นั้น ต้องทำการตรวจหาเชื้อเอชไอวี เพียงอย่างเดียว คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ร่างกายแข็งแรงอยู่ไม่จำเป็นจะต้องทำการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ทั้งๆ ที่ตนเอง เคยมีโอกาส หรือเคยมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้ได้รับเชื้อเอชไอวี ซึ่งถ้าหากนิ่งนอนใจ อาจทำให้เชื้อเอชไอวี มีความรุนแรงมากขึ้น และจะกลายเป็นโรคเอดส์ที่ทำการรักษาได้ยากยิ่งขึ้น
ดังนั้น หากมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อเอชไอวี ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ยิ่งถ้ามีพฤติกรรมที่เสี่ยงอยู่แล้ว ควรที่จะตรวจหาเชื้อเอชไอวีบ่อยๆ ด้วยเช่นเดียวกับ การตรวจสุขภาพประจำปี รวมถึงชวนคู่นอนของตัวเอง เข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย เพราะการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดความกังวลใจ ถ้าผู้รับการตรวจ มีผลเป็นบวก ติดเชื้อเอชไอวี จะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง รวดเร็ว ได้รับทราบข้อมูลในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รวมถึงเทคนิคในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคเพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายจนนำไปสู่ผู้ป่วยโรคเอดส์เต็มขั้น และเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี หรือถ้ามีผลเลือดเป็นลบ จะได้รับทราบข้อมูลในการปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อในอนาคตต่อไป
ใครที่ควรได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี
ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองจะติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ จากพฤติกรรมเสี่ยงด้านเรื่องเพศ
ผู้ที่สงสัยว่าคู่นอนของตนจะมีพฤติกรรมเสี่ยง
ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่มีความเสี่ยงโดยไม่ได้ป้องกัน
ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายทางทวารหนักโดยไม่ได้ป้องกัน
ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ผู้ติดสารเสพติดที่ใช้เข็มร่วมกัน
หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่วางแผนจะมีครอบครัว หรือต้องการตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยต่อทั้งแม่และลูก
ทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี
ผู้ป่วยวัณโรค เพราะวัณโรคเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วยเอดส์ และการติดเชื้อเอชไอวี ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดวัณโรค
บุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดอุบัติเหตุที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี
ผู้ที่ต้องการเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ (ใช้ในบางประเทศ) จึงต้องการข้อมูลสนับสนุนเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพของร่างกาย
ประโยชน์ที่ได้จากการตรวจหาเชื้อเอชไอวี
สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที ไม่ต้องรอให้แสดงอาการ คือ เมื่อ ตรวจแล้วพบว่าตนเอง ติดเชื้อเอชไอวีจริง ประโยชน์อย่างแรกเลย คือ สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที ไม่ต้องรอให้แสดงอาการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาเป็นอย่างมาก
ได้รับการรักษา จะทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถทำงานได้อย่างปกติ คือ เมื่อ ตรวจแล้วพบว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวีจริง ประโยชน์ที่สอง คือ จะทำให้สามารถควบคุมโรค และวางแผนดูแล สุขภาพของตนให้แข็งแรงได้ เมื่อรวมกับการรักษาด้วย จะทำให้โรคไม่แสดงอาการ และสามารถ ทำงาน ได้อย่างปกติเหมือนคนปกติทั่วไป
สามารถวางแผนป้องกันคู่ของตนเองไม่ให้ติดเชื้อ และชวนคู่ไปตรวจเลือดด้วย คือ เมื่อ ตรวจแล้วพบว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวีจริง ประโยชน์ที่สาม คือ ช่วยให้สามารถวางแผนป้องกัน การส่งต่อ เชื้อเอชไอวีไปยังคู่ของตนเองเพื่อไม่ให้ติดเชื้อได้ และทางที่ดีควรชวนคู่นอนของคุณ ไปตรวจ เลือดด้วยเช่นกัน
สามารถวางแผนป้องกันการติดเชื้อไปสู่ลูกได้ คือ เมื่อ ตรวจแล้วพบว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวีจริง ประโยชน์ที่สี่ คือ สามารถวางแผนป้องกันการติดเชื้อไปสู่ลูกได้ สำหรับแม่ตั้งครรภ์ หรือผู้ที่กำลังวางแผนมีบุตร จำเป็นอย่างมาก ที่จะต้องตรวจเลือดก่อน และหากมีการติดเชื้อเอชไอวี จะต้องปรึกษา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเข้ารับการรักษา และวางแผนป้องกัน เพื่อไม่ให้ลูก หรือทารกในครรภ์ให้ปลอดภัย จากการติดเชื้อเอชไอวี
สามารถป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวีได้ คือ เมื่อ ตรวจแล้วพบว่าตนเองไม่ติดเชื้อเอชไอวี หรือ ผลเลือดปกติ ประโยชน์ที่ห้า ก็จะช่วยให้ระมัดระวังตนเองมากขึ้น สามารถป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวีได้
มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ และการป้องกันตนเองได้อย่างถูกต้อง
การตรวจหาเชื้อเอชไอวี มีวิธีอะรไรบ้าง?
เมื่อสงสัยว่าอาจติดเชื้อเอชไอวี หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้ได้รับเชื้อเอชไอวี สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
การทดสอบด้วยการเจาะเลือด
เป็นวิธีทั่วไปที่คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงเป็นวิธีแรก ในการตรวจหาเชื้อเอชไอวี แพทย์จะทำการเจาะเลือดจากเส้นเลือดดำที่แขนของเรา และเลือดจะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อทำการทดสอบ และวินิจฉัยหาเชื้อเอชไอวี โดยการ ตรวจหาเชื้อเอชไอวีในปัจจุบัน มี 4 แบบหลัก ๆ คือ
การตรวจหาแอนติเจนของเชื้อเอชไอวี (HIV p24 Antigen Testing) คือ การตรวจโปรตีนของเชื้อที่ชื่อว่า p24 Antigen เป็นการตรวจการติดเชื้อในระยะแรก ซึ่งร่างกายผู้ได้รับเชื้อเอชไอวี ยังไม่สร้างแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV) หรือมีระดับแอนติบอดีที่ต่ำ จนไม่สามารถตรวจวัดได้ โดยสามารถตรวจได้ภายหลังการติดเชื้อประมาณ 14-15 วัน
การตรวจหาแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV Testing) คือ การตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Antibody) ของร่างกายที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองการที่มีเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย เป็นการตรวจที่สามารถทราบผลใน 1-2 ชั่วโมงหลังการตรวจ แต่เป็นผลย้อนหลังไปประมาณ 3-4 สัปดาห์ หรือประมาณ 1 เดือน หากมีพฤติกรรมเสี่ยงมาไม่ถึง 1 เดือน ถึงผลเลือดจะออกมาเป็นลบ (Negative = ไม่พบเชื้อเอชไอวี) แพทย์จะลงความเห็นว่า เชื้ออยู่ในช่วงระยะฟักตัว หรือยังตรวจไม่พบด้วยวิธีการตรวจแบบ Anti-HIV
การตรวจโดยใช้ชุดตรวจแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อเอชไอวี และตรวจแอนติเจนของเชื้อเอชไอวีพร้อมกัน (HIV Ag/Ab Combination Assay) หรือเรียกอีกอย่างว่า ตรวจแบบใช้น้ำยา Fourth Generation ซึ่งเป็นการตรวจ Anti-HIV และ HIV p24 Antigen ในคราวเดียวกัน ปัจจุบันน้ำยาประเภทนี้มีการใช้อย่างแพร่หลาย โดยสามารถตรวจพบเชื้อเอชไอวีได้เร็วที่สุด 14-15 วัน หรือ 2 สัปดาห์ หลังติดเชื้อเอชไอวี
การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี หรือ Nucleic Acid Test (NAT) เป็นวิธีที่มีความไวมากที่สุด คือ การตรวจ HIV RNA หรือ Proviral DNA นี้ มีการใช้เพื่อติดตามปริมาณไวรัส (Viral Load) ก่อน และหลังการรักษา ซึ่งเป็นวิธีที่มีความรวดเร็วมาก สามารถตรวจการติดเชื้อเอชไอวีได้ตั้งแต่ 3-7 วันหลังติดเชื้อเอชไอวี โดยไม่ต้องรอ 14 วัน แพทย์มักจะนิยมใช้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการรับเชื้อเอชไอวี และปัจจุบันวิธีนี้ใช้ในการตรวจคัดกรองเลือดผู้บริจาคโลหิต แต่ยังไม่นำมาใช้ในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อเอชไอวีในสถานพยาบาล
การทดสอบด้วยน้ำลายในช่องปาก
การทดสอบนี้ใช้ไม้เก็บเชื้อกวาดเพื่อเก็บของเหลวจากภายในช่องปาก จากนั้นตัวอย่างจะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อทำการทดสอบ
การทดสอบแบบรวดเร็วด้วยเลือด หรือของเหลว
การตรวจในรูปแบบ Rapid HIV Test เป็นการตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้รวดเร็วที่สุด ใช้เวลารอผลเพียง 20 นาที ก็สามารถรับผลตรวจได้เลย แต่เป็นเพียงการตรวจเพื่อคัดกรองเอชไอวีเบื้องต้นเท่านั้น หากว่าการตรวจแบบ Rapid HIV Test ให้ผลเป็นบวก พบเชื้อเอชไอวี จะต้องเข้ารับการตรวจซ้ำอีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าการติดเชื้อเอชไอวีจริง ๆ หรือไม่ ด้วยวิธีการตรวจAnti-HIV หรือ NAT แล้วแต่ระยะเวลา ที่ได้รับเชื้อเอชไอวีมา ซึ่งการทดสอบแบบนี้ มักทำที่คลินิก หรือศูนย์ทดสอบต่างๆ
การทดสอบที่บ้าน ด้วยการซื้อชุดตรวจเอชไอวี
ที่มีจำหน่ายที่ร้านยา หรือทางออนไลน์ ใช้การเก็บตัวอย่างเลือด หรือของเหลวในช่องปากที่บ้าน และส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อทำการทดสอบ ใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน
การแปลผลการตรวจหาเชื้อเอชไอวี
การแปลผลการตรวจจะอาศัยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการควบคู่กับความเสี่ยงหรือพฤติกรรมของผู้เข้ารับการตรวจก่อนหน้าการตรวจเลือดดังต่อไปนี้
ผลเลือดเป็นลบ หรือ non-reactive ไม่มีเชื้อ หรืออาจยังไม่พบเชื้อ เนื่องจากอยู่ในระยะฟักตัว ซึ่งหากมีการติดเชื้อ จะสามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้ จึงควรมาตรวจซ้ำอีกครั้งในระยะ 3-6 เดือน หรือใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ แต่ถ้าผู้เข้ารับการตรวจไม่มีประวัติเสี่ยงต่อการรับเชื้อ และตรวจคัดกรองได้ผลลบ แสดงว่าผู้นั้นไม่ติดเชื้อเอชไอวี
ผลเลือดเป็นบวก หรือ reactive เจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตัวเอง และอาจจะนัดมาเจาะเลือดซ้ำเพื่อยืนยันผลอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงมีตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ เพิ่มเติมเช่น ปริมาณไวรัสในเลือด ปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาว ปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ลิมโฟไซต์ เพื่อใช้ประเมินและวางแผนการรักษาด้วยยาต้านไวรัสต่อไป
ผลเลือดเป็น Invalid คือ ผู้ที่มีผลตรวจเอชไอวี เป็นบวก แต่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อ ไม่สามารถแพร่เชื้อ เอชไอวีสู่ผู้อื่นได้ แต่ต้องทานยาอย่างสม่ำเสมอเพื่อคงสถานะตรวจสอบไม่พบเชื้อเอชไอวีนี้เอาไว้
การเตรียมตัวก่อนตรวจหาเชื้อเอชไอวี
สำหรับผู้ที่ต้องการตรวจเอชไอวี สามารถเตรียมตัวก่อนทำการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ดังนี้
ควรทบทวนระยะเวลาความเสี่ยงว่า ได้รับความเสี่ยงมากี่วันแล้ว โดยก่อนการตรวจควรจะอยู่ในระยะความเสี่ยงมาอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ หรือประมาณ 14 – 30 วัน หรือถ้าตรวจด้วยวิธี NAT สามารถเข้าตรวจได้หลังรับความเสี่ยงมาเกิน 7 วัน
การตรวจหาเชื้อเอชไอวี ไม่จำเป็นต้องงดน้ำหรืองดอาหาร สามารถรับประทานอาหารมาได้ตามปกติ แต่ควรงดดื่มชา กาแฟ น้ำหวาน
เตรียมใจให้พร้อมสำหรับการฟังผลลัพธ์ของการตรวจ
เตรียมบัตรประชาชนมาตรวจเอชไอวี ที่สถานพยาบาลที่ต้องการ หลังจากนั้นจะได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนจะเริ่มต้นตรวจหาเชื้อเอชไอวีต่อไป
แต่สำหรับผู้ที่ไม่กล้า ไม่สะดวก หรือไม่มีเวลที่จะไปตรวจที่สถานพยาบาล แต่ต้องการทราบผลตรวจ สามารถซื้อตรวจหาเชื้อเอชไอวี มาตรวจด้วยตนเองก่อนได้ โดยการตรวจจะรู้ผลได้ใน 10-20 นาที ซึ่งถ้าหากตรวจแล้วไม่พบเชื้อให้ทำการตรวจอีกครั้งในระยะเวลา 3 เดือน ส่วนถ้าหากพบผลเป็นบวกให้เดินทางไปตรวจอีกครั้งที่สถานพยาบาลเพื่อเข้าสู่กระบวนการรับคำแนะนำจากแพทย์ และรักษาต่อไป
ขั้นตอนการตรวจหาเชื้อเอชไอวี
สำหรับขั้นตอนการตรวจหาเชื้อเอชไอวี จากสถานพยาบาล จะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
เมื่อมาถึงสถานพยาบาลที่ทำการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ให้ยื่นบัตรประชาชนแก่เจ้าหน้าที่ พร้อมแจ้งว่ามาตรวจเชื้อเอชไอวี
ผู้เข้ามารับการตรวจจะได้รับคำแนะนำหรือคำปรึกษาจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพูดคุย ประเมินความเสี่ยงจากการซักถาม และมีการเซ็นชื่อในใบยินยอมเพื่อตรวจหาเชื้อเอชไอวี ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที
หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการเจาะเลือด เพื่อตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะสามารถรู้ผลได้ภายในวันเดียว แต่ทั้งนี้ ระยะเวลาการแจ้งผลจะขึ้นอยู่กับนโยบาบหรือข้อกำหนดของสถานพยาบาลนั้นๆ ด้วยว่าเป็นอย่างไร
เมื่อผลลัพธ์ออกมาเรียบร้อยจะเข้าสู่กระบวนการฟังผลตรวจเลือด ซึ่งถ้าผลออกมาว่าไม่พบเชื่อ แพทย์จะทำการแนะนำเพื่อการดูแลตนเอง และการวางแผนในการใช้ชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี ถ้าหากพบว่า มีเชื้อเอชไอวี จะได้รับคำแนะนในการดูแลตนเอง วิธีการรับการรักษา และแพทย์จะทำการตอบคำถามที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเอชไอวี เพื่อสร้างความเข้าใจ
สำหรับขั้นตอนการตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วยตัวเอง
ทำการซื้อชุดตรวจหาเชื้อเอชไอวี จากร้านขายยาทั่วไป
ให้ทำความสะอาดปลายนิ้วมือด้วยแผ่นแอลกอฮอล์ เช็ดให้สะอาด และรอจนปลายนิ้วมือแห้ง
บิดเข็มเจาะเลือดตามลูกศรเปิดฝาเข็มออกและกดเข็มเจาะเลือดลงที่ปลายนิ้วมือ
หยดเลือดลงในตลับตรวจบริเวณช่อง S ประมาณ 1 – 2 หยด
ใช้หลอด ดูดน้ำยาสำหรับตรวจ หยดลงในตลับตรวจบริเวณช่อง S อีกครั้งจำนวน 4 หยด
รอผลประมาณ 15-20 นาที ผลตรวจจะแสดงบริเวณช่อง T | C หากนานกว่านี้แล้วผลตรวจยังไม่แสดงถือว่าการตรวจผิดผลาด
การดูแลตัวเองหลังตรวจหาเชื้อเอชไอวี
กรณีที่ผลเลือดเป็นบวก แพทย์จะมีการแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตัวเอง และแนะนำการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น ตรวจค่า CD4 หรือการตรวจร่างกายเพื่อประเมินความพร้อม เมื่อต้องกินยาต้านไวรัสรวมถึงการรักษาโรคฉวยโอกาสที่อาจเกิดขึ้น
กรณีที่ผลเลือดเป็นลบ แพทย์อาจจะพูดคุย หรือแนะนำแนวทางการลดความเสี่ยงในอนาคต เช่น การใช้ถุงยางอนามัย การตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ หรือแนะนำให้มีการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ในกรณีมีความเสี่ยงทุก 3-6 เดือน
ตรวจหาเชื้อเอชไอวี ที่ไหนดี?
สามารถใช้สิทธิในการตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้งที่คลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย
สามารถใช้สิทธิในการตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้งที่โรงพยาบาลรัฐ ศูนย์อนามัย หรือคลินิกที่ร่วมรายการ
สามารถขอรับบริการตรวจหาเชื้อเอชไอวี และขอคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาล หรือหน่วยบริการประจำตามสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ รวมถึงสามารถเข้ารับการตรวจได้ที่ห้องปฏิบัติการ หรือคลินิกเทคนิคการแพทย์ทั้งของภาครัฐ และเอกชนได้ เช่นกัน
ตรวจหาเชื้อเอชไอวี ราคาเท่าไหร่?
ราคาการตรวจหาเชื้อเอชไอวี จะขึ้นอยู่กับวิธีการตรวจ และสถานพยาบาล เช่น
ตรวจแบบรู้ผลทันทีจะเริ่มต้นที่ 200 บาท
ตรวจด้วยวิธี PCR เริ่มต้นที่ 1,500 บาท (รู้ผล 1 สัปดาห์)
ตรวจที่โรงพยาบาลเอกชน ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 600-1,000 บาท
ตรวจด้วยชุดตรวจเอชไอวี ด้วยตัวเอง ราคาส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 500 บาท
ตรวจที่ LAB ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 500-2,500 บาท ขึ้นอยู่กับวิธีการตรวจ
ตรวจที่โรงพยาบาลของรัฐที่เข้าร่วมโครงการ โดยจะสามารถตรวจเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง
การตรวจหาเชื้อเอชไอวีเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการดูแลสุขภาพของเราเองและความปลอดภัยของผู้อื่นรอบตัวเรา การทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวี ช่วยให้เรามีความรู้ ความเข้าใจ เพื่อเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพของเราเอง และช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในชุมชน ฉะนั้นการส่งเสริมให้คนทุกระดับอายุ และทุกกลุ่มคน ทราบถึงความสำคัญของการตรวจหาเชื้อเอชไอวีเป็นการสร้างสังคมที่มีการปรับเปลี่ยนที่มีการป้องกัน และดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ การป้องกันตนเองและผู้อื่นไม่เพียงแต่เริ่มต้นจากความรู้เกี่ยวกับสถานะเชื้อเอชไอวี แต่ยังต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ การสนับสนุนและกระตุ้นให้ผู้คนสามารถเข้าถึงบริการตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้ง่ายๆ เพื่อลดการหลบหนี และเพิ่มโอกาสในการรักษาแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี
Commentaires