การรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ในปัจจุบันยังไม่มียา หรือวิธีการรักษาที่สามารถกำจัดเชื้อเอชไอวีให้หมดไปได้ อย่างไรก็ตามมียาที่เรียกว่ายาต้านเอชไอวี หรือยาต้านรีโทรไวรัส ที่สามารถช่วยชะลอการพัฒนาของเชื้อเอชไอวีได้บ้าง
การรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีในปัจจุบันมักเป็นการใช้ยาต้านเอชไอวี เป็นวิธีการที่ได้ผลดีที่สุด โดยผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะได้รับสูตรยาที่ประกอบด้วยอย่างน้อย 3 ชนิดต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน และควบคุมเชื้อไวรัส เพื่อให้การรักษามีผลเต็มที่ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรรับประทานยาต่อเนื่องทุกวันตลอดชีวิต การที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีปฎิบัติตามนี้ จะช่วยลดการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส และควบคุมปริมาณเชื้อไวรัสเอชไอวีในร่างกาย การหยุดรับประทานยา หรือกินยาไม่ตรงตามที่กำหนด อาจทำให้ปริมาณเชื้อไวรัสเอชไอวีเพิ่มขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวี ฉะนั้นความสม่ำเสมอในการรับประทานยาต้านเอชไอ วีและการติดตามการรักษาทางการแพทย์เป็นส่วนสำคัญของการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี
การตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้เร็ว รักษาเร็ว ช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคเอดส์ได้
การยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเอชไอวี พัฒนาเข้าสู่ระยะของโรคเอดส์ คือ หลักการสำคัญของการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพราะการตรวจวินิจฉัยโรคโดยเร็วเมื่อสัมผัส หรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และเข้ารับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส โดยเร็ว และอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน จะช่วยให้ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี มีภูมิคุ้มกันร่างกายคงที่ ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวเร็ว มีสุขภาพที่แข็งแรง ช่วยลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น และช่วยให้ใช้ชีวิตตามปกติได้
การรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี
เมื่อเชื้อเอชไอวีเข้าโจมตี และทำลายเซลล์ CD4 ( CD4 T lymphocyte )ทำให้การสูญเสียเซลล์ CD4 ทำให้ร่างกายต่อสู้กับการติดเชื้อและมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีได้ยาก ฉะนั้นยาต้านไวรัสเอชไอวี ช่วยลดปริมาณเอชไอวี (ปริมาณไวรัส) ในร่างกาย ดังนี้
ยาต้านไวรัสเอชไอวี มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อเอชไอวีในกระแสเลือด เมื่อจำนวนเชื้อลดลง ร่างกายก็สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น เพราะถ้ามีเชื้อเอชไอวี ในร่างกายน้อยลงจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีโอกาสฟื้นตัว และผลิตเซลล์ CD4 ได้มากขึ้น แม้ว่ายังมีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกาย แต่ระบบภูมิคุ้มกันก็แข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับการติดเชื้อเอชไอวี และมะเร็งบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเอชไอวี และยังช่วยลดการเสียชีวิตจากโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ ด้วย
ช่วยลดความเสี่ยงที่คุณจะแพร่เชื้อเอชไอวีไปยังผู้อื่น หรือคู่ครองที่ไม่มีเชื้อเอชไอวีผ่านการมีเพศสัมพันธ์
การกินยาต้านไวรัสเอชไอวี มีข้อควรคำนึงอยู่หลายประการ เมื่อแพทย์วินิจฉัย และให้การรักษา ผู้ติดเชื้อจะต้องประเมินว่าตนเองมีความพร้อมในการรับยาแล้วหรือยัง เพราะการกินยาต้านไวรัสเอชไอวี ต้องกินให้ถูกต้อง ตรงเวลา และต่อเนื่องตลอดชีวิต เนื่องจากยาไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสเอชไอวีให้หมดไปจากร่างกายได้ ยาจะช่วยควบคุมจำนวนเชื้อเอชไอวีให้มีน้อยที่สุด การกินยาตรงเวลา และต่อเนื่อง เพื่อไม่เปิดโอกาสให้เชื้อดื้อยาได้ง่าย และสามารถควบคุมเชื้อเอชไอวีไว้ได้ตลอดเวลา
ยาต้านไวรัสเอชไอวี มีด้วยกันหลายชนิด ออกฤทธิ์แตกต่างกันไป การเลือกใช้ยา แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม สำหรับผู้ป่วยแต่ละราย การรักษาที่จะให้ผลดี และช่วยลดปัญหาเชื้อดื้อยาได้ จะใช้ยา 3 ตัวรวมกัน หรือมากกว่า ที่เรียกว่า Highly Active Antiretroviral Therapy (HAART) การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นแนวทางในการใช้ยารักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี มี 3 แนวทาง คือ
หยุด หรือ ชะลอการเพิ่มปริมาณไวรัส และอัตราการตายของผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยใช้ ยาต้านไวรัส (Antiretrovirals)
เสริมภูมิต้านทานที่บกพร่อง โดยใช้ยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน
รักษาโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเชื้อฉวยโอกาส และโรคมะเร็ง
ดังนั้นผู้ป่วยควรให้ความสำคัญกับการรับประทานยา ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
เมื่อไร่ จึงควรเริ่มการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี
หากคุณติดเชื้อเอชไอวี ต้องเริ่มการรักษาด้วยยารักษาเอชไอวีโดยเร็วที่สุด หลังการวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวี ไม่ว่าคุณจะติดเชื้อเอชไอวี มานานแค่ไหน หรือมีสุขภาพแข็งแรงแค่ไหนก็ตาม ยารักษาเอชไอวี จะช่วยชะลอการลุกลามของเชื้อเอชไอวี และทำให้คุณมีสุขภาพแข็งแรงอยู่ได้นานหลายปี เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ติดเชื้อเอชไอวีในระยะเริ่มต้น หรือมีภาวะที่เป็นโรคเอดส์ในการเริ่มใช้ยาเอชไอวีทันที (การติดเชื้อเอชไอวีในระยะเริ่มแรก คือ ระยะเวลานานถึง 6 เดือนหลังการติดเชื้อเอชไอวี)
ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ตั้งครรภ์ และยังไม่ได้รับประทานยาเอชไอวีควรเริ่มรับประทานยาเอชไอวีโดยเร็วที่สุด เพื่อปกป้องสุขภาพของตนเอง และป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีไปยังทารก
ยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretrovirals: ARVs)
ยากลุ่มนี้จะช่วยยับยั้งไม่ให้เซลล์ของไวรัสแบ่งตัวขยายตัวแล้วแพร่กระจายลุกลามไปสร้างความเสียหายแก่เซลล์เนื้อเยื่ออวัยวะบริเวณอื่น ๆ ต่อไปได้
ยาต้านไวรัส มี 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
Reverse transcriptase inhibitors ยับยั้งขบวนการคัดลอก RNA ไปเป็น DNA ของไวรัส (reverse transcription) ยากลุ่มนี้ยังแบ่งย่อยเป็นกลุ่ม
Nucleoside reverse transcriptase inhibitors (NRTIs) ได้แก่ Abacavir (ABC), Didanosine (ddI), Emtricitabine (FTC), Lamivudine (3TC), Stavudine (d4T), Tenofovir (TDF), Zalcitabine (ddC), Zidovudine (AZT)
Non-nucleoside reverse transcriptase inhibitors (NNRTIs) ได้แก่ Delavirdine (DLV), Efavirenz (EFV), Etravirine (ETR), Nevirapine (NVP), Rilpivirine (RPV)
Protease inhibitors (PIs) ยับยั้งการสร้างโปรตีนของไวรัส ยากลุ่มนี้ได้แก่ Darunavir (DRV), Indinavir (IDV), Nelfinavir (NFV), Ritonavir (RTV), Saquinavir (SQV), Kaletra® (lopinavir/ritonavir, LPV/r), Reyataz® (atazanavir/ritonavir, ATV/r) เป็นต้น
Integrase strand transfer inhibitors (INSTIs) ยับยั้งไม่ให้ DNA ของไวรัสรวมตัวกับ DNA ของคน ยากลุ่มนี้ได้แก่ Dolutegravir (DTG), Elvitegravir (EVG), Raltegravir (RAL) เป็นต้น
Entry/Fusion inhibitors ยับยั้งไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์ได้ ยากลุ่มนี้ได้แก่ Enfuvirtide (INN), Maraviroc (EVG) เป็นต้น
สูตรยาต้านไวรัสในเด็กติดเชื้อเอชไอวี คือ 2 NRTIs + NNRTI หรือ Boosted PI
2 NRTIs ที่แนะนำเป็นอันดับแรก
เด็กติดเชื้อเอชไอวีอายุ ≤ 12 ปี แนะนำ AZT/3TC หรือ ABC/3TC
เด็กติดเชื้อเอชไอวีอายุ > 12 ปี แนะนำ TDF/3TC
NNRTI หรือ boosted PI ที่แนะนำเป็นอันดับแรก
เด็กติดเชื้อเอชไอวีอายุ < 3 ปี แนะนำให้ใช้ LPV/r
เด็กติดเชื้อเอชไอวีอายุ ≥ 3 ปี แนะนำให้ใช้ EFV
ส่วนใหญ่แพทย์จะรักษาด้วยการจ่ายยาต้านไวรัส ร่วมกันหลายตัว (Antiretroviral Therapy: ART) เป็นการให้ยาต้านรีโทรไวรัสตั้งแต่ 3 ตัวยา จากยาข้างต้น 2 กลุ่มขึ้นไป เพราะไวรัสเอชไอวีสามารถแบ่งตัวแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว และเชื้อจะดื้อยาได้ง่าย หากได้รับยาเพียงแค่ตัวเดียว หรือแพทย์อาจจ่ายยาสูตรผสม (Fixed Dose Combination) ซึ่งเป็นการรวมยาต้านเอชไอวีหลายชนิดไว้ในยาเม็ดเดียว
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีเชื้อเอชไอวีควรเข้ารับการตรวจหาปริมาณ CD4 ทุก ๆ 3–6 เดือน และรับประทานยารักษาอย่างถูกต้องต่อเนื่อง และแม้จะรับประทานยาควบคุมไวรัสไม่ให้พัฒนาไปยังระยะที่รุนแรงขึ้นได้ แต่เชื้อเอชไอวีจะยังคงอยู่ในร่างกาย และยังสามารถติดต่อไปยังบุคคลอื่นได้หากไม่มีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
ดังนั้น ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอาการป่วยอย่างรุนแรง ผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนที่เป็นการติดเชื้อแบบฉวยโอกาส ผู้ติดเชื้อที่ตั้งครรภ์ ผู้ที่ป่วยโรคเกี่ยวกับไตอันเป็นผลมาจากการติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตับอักเสบ บี หรือ ซี อยู่ในขณะนั้น หรือผู้ป่วยที่มีค่า CD4 ต่ำกว่า 350 เซลล์/ลูกบาศก์เมตร
ส่วนผู้ป่วยที่อยู่ในระยะเอดส์แล้ว การติดเชื้อเอชไอวีไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และเมื่อพัฒนาสู่ระยะเอดส์ ภูมิคุ้มกันร่างกายจะทำงานบกพร่องอย่างหนัก ทำให้เกิดการติดเชื้อ และเจ็บป่วยจนร่างกายอ่อนแอ และถึงแก่ชีวิตได้ในที่สุด ผู้ป่วยที่พัฒนาไปสู่ระยะเอดส์จึงควรไปพบแพทย์อยู่เสมอ เพื่อรับยาและรักษาอาการป่วยแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น โดยมีคนคอยดูแลอย่างใกล้ชิด
ผลข้างเคียงของยารักษาเอชไอวี
เช่นเดียวกับยาส่วนใหญ่ ยารักษาเอชไอวี อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงในบางคน ซึ่งยารักษาเอชไอวีที่ใช้ในปัจจุบันมีผลข้างเคียงน้อยลง และมีความรุนแรงน้อยกว่าเมื่อก่อน ผลข้างเคียงอาจแตกต่างกันไปตามยารักษาเอชไอวี แต่ละประเภท ผลข้างเคียงบางอย่างอาจเกิดขึ้นได้เมื่อคุณเริ่มใช้ยา และอาจเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน หรือหลายสัปดาห์เท่านั้น ดังนี้
อาการข้างเคียงในระยะสั้นและไม่รุนแรง พบได้และอาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น ภายในเวลาประมาณ 2 – 3 เดือน เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องอืด นอนไม่หลับ ฝันร้าย มีผื่นขึ้นเล็กน้อย
อาการข้างเคียงในระยะสั้นและรุนแรง เช่น ภาวะซีด ตับหรือตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ชาปลายมือปลายเท้า นิ่วในไต ซึ่งอาจพบได้ทุกช่วงของการกินยา และอาจทำให้เสียชีวิตได้ถ้าไม่รีบแก้ไข ดังนั้น ต้องติดตามอาการเหล่านี้อย่างใกล้ชิด มารับการตรวจตามนัดสม่ำเสมอ ถ้าพบอาการผิดปกติ เช่น ท้องอืด อาเจียน อ่อนเพลีย หมดแรง (อาการของภาวะกรดในเลือด) ต้องมาพบแพทย์ก่อนวันนัด
อาการข้างเคียงในระยะยาว มักพบหลังจากกินยาเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่ตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป บางรายพบได้ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี อาการข้างเคียงในระยะยาว เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ทำให้หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย การกระจายและสะสมของไขมันผิดปกติและผิดที่ มีไขมันพอกที่ต้นคอ ลำตัวอ้วน แขนขาลีบ แก้มตอบ
ยารักษาเอชไอวีอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย หากคุณพบผลข้างเคียงที่รุนแรง หรือทำให้คุณต้องการหยุดรับประทานยารักษาเอชไอวี ให้ปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนเพราะการหยุดยารักษาเอชไอวี อาจนำไปสู่การดื้อยา ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณ และเป็นการจำกัดทางเลือกการรักษาในอนาคตของคุณ
การดื้อยาต้านไวรัสเอชไอวี คืออะไร?
การดื้อยาต้านไวรัสเอชไอวี คือ การที่ยาต้านที่เราใช้อยู่ไม่สามารถควบคุมเชื้อเอชไอวีในร่างกายไม่ให้ก๊อปปี้เพิ่มได้แล้ว กรณีแบบนี้มักเกิดจากการกินยาต้านไม่ตรงเวลา เพราะหากใครที่ใช้ยาต้านไวรัสมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเกิน 6 เดือน แต่ปริมาณ HIV viral load ยังมีมากกว่า 1,000 ตัว/มิลลิลิตร หมายถึงการรักษาไม่เป็นผล และอาจมีภาวะดื้อยาร่วมด้วย โดยจะรู้ได้จากการตรวจเลือดแพทย์จะทราบได้ว่าคนไข้มีภาวะดื้อยาและต้องปรับสูตรยาหรือไม่
ข้อควรปฏิบัติในกินยาต้านไวรัสเอชไอวี
ยาต้านไวรัสเอชไอวี เป็นยาที่ต้องกินภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น ควรทำตามคำสั่งแพทย์เพื่อให้การรักษาได้ผลดี ดังนี้
กินยาตามที่กำหนด ให้ตรงเวลา ทุกมื้อ และทุกวัน
อย่าเปลี่ยนยาด้วยตนเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ ถ้าพบว่าปฏิบัติตามแผนการรักษาได้ยาก ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อค้นหาแนวทางการรักษาใหม่ที่เหมาะสม
หากจะใช้ยาอื่นนอกเหนือที่แพทย์สั่ง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
ควรกินยาอย่างสม่ำเสมอ หากหยุดยาระยะหนึ่งแล้วมารับประทานต่อ ก็อาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยา การรักษาจะยิ่งยากมากขึ้น
หากรับประทานยาต้านไวรัสเป็นเวลา 6 เดือน ขึ้นไปแพทย์แนะนำให้ตรวจค่าการทำงานของตับและการทำงานของไตเนื่องจากยาต้านไวรัสส่งผลต่อการทำงานของตับและไต
ในปัจจุบันการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีนั้น ด้วยสูตรยาที่มีความหลากหลายและครอบคลุมเชื้อที่ต่างกัน ร่วมกับการรักษาสนับสนุนอื่น ๆ ที่ทันสมัย ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันสูงขึ้นและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการดูแลรักษาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เป็นสิ่งสำคัญเพื่อควบคุมโรค และสามารถให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการเข้าใจและปฏิบัติตามแนวทางรักษาที่ถูกต้อง สามารถลดโอกาสที่เชื้อไวรัสเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้
นอกจากนี้ การสนับสนุนจากทีมแพทย์และผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพเป็นสำคัญเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด และช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนในการดูแลสุขภาพที่เต็มที่ การตรวจสอบสถานะกาติดเชื้อเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอก็เป็นสิ่งสำคัญเพื่อดูแลและควบคุมสุขภาพของตนเองอย่างเหมาะสม
Commentaires