top of page
Siri Writer

การติดเชื้อไวรัสเอชไอวีในหญิงตั้งครรภ์

Updated: Jan 7, 2024

การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ทำให้เกิดกลุ่มอาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคเอดส์ (AIDS) ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเอชไอวีที่หายขาด แต่สามารถควบคุมเชื้อเอชไอวีได้ ด้วยการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี ที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และลดภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้อฉวยโอกาสได้ ซึ่งเชื้อเอชไอวี สามารถแพร่กระจายผ่านตัวกลางบางอย่างเท่านั้น เช่น เลือด น้ำนม อสุจิ น้ำหล่อลื่นจากอวัยวะเพศชาย และของเหลวจากช่องคลอด หรือทวารหนัก


ฉะนั้นในหญิงตั้งครรภ์ทุกคน ควรต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวีอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เพราะหากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเอชไอวี จะทำให้ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีด้วย ดังนั้นหากตรวจพบเชื้อเร็ว รักษาเร็ว จะช่วยลดความเสี่ยงที่ทารกจะติดเชื้อเอชไอวี โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ เพื่อให้แม่มีสุขภาพที่ดี ได้รับยาต้านไวรัสที่เหมาะสม และลดอัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ทารกในครรภ์ได้ด้วย

ภาพรวมการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีในหญิงตั้งครรภ์: การเข้าใจความเสี่ยงและวิธีการป้องกัน
การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ในหญิงตั้งครรภ์

ถ้าผู้หญิงมีเชื้อเอชไอวี จะสามารถมีบุตรได้หรือไม่? และถ้ามีแล้วบุตรจะติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่?

ผู้หญิงที่มีเชื้อเอชไอวีสามารถมีลูกได้ หากถ้ายังไม่ได้รับการรักษาเอชไอวี ก็จะสามารถส่งต่อเชื้อเอชไอวีไปสู่ลูกได้ แต่หากได้รับการรักษาเอชไอวีอย่างเหมาะสม โอกาสที่จะส่งต่อเชื้อไปสู่ลูกจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การรักษาเอชไอวีในปัจจุบันสามารถช่วยให้ผู้หญิงหลายคนที่มีเชื้อเอชไอวีสามารถตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งการปกป้องลูกจากการติดเชื้อเอชไอวีขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพของแม่ในระหว่างการตั้งครรภ์ ในช่วงการคลอด และหลังคลอด ด้วยการรับประทานยาต้านไวรัสเอชไอวี เพื่อลดโอกาสที่เชื้อไวรัสเอชไอวีจะถูกส่งต่อไปยังลูก ดังนั้นการดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์ ควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ อย่างเคร่งครัด จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะส่งต่อเชื้อไวรัสเอชไอวีไปยังลูกได้


การถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก

โอกาสที่ลูกจะได้รับเชื้อเอชไอวีจากแม่ สามารถเกิดขึ้นได้ 3 ช่วง ดังนี้


ช่วงแรก เป็นช่วงที่ทารกยังอยู่ในครรภ์ 

ในระหว่างตั้งครรภ์ เชื้อเอชไอวีสามารถผ่านทางรก  (transplacental  transmisssion) ไปสู่ทารกในครรภ์ได้ ทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อได้ ซึ่งอาจพบได้ตั้งแต่ระยะแรกของการตั้งครรภ์ ช่วงนี้ป้องกันได้ยาก จะป้องกันได้ด้วยการให้แม่กินยาต้านไวรัสเอชไอวี  ซึ่งต้องเป็นการให้ยาชนิดแรงๆ แต่เนิ่นๆ เช่น การตั้งครรภ์ใหม่ๆ ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นอันตรายต่อทารกที่กำลังสร้างแขนสร้างขาขึ้นหรือไม่

การถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก: ความเสี่ยงและวิธีป้องกันในช่วงการตั้งครรภ์และการคลอด
การถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก

ช่วงที่ ๒ เป็นช่วงระหว่างการคลอดลูก

ในขณะคลอดลูก (intrapartum) หรือ ๑-๒ สัปดาห์ก่อนคลอด เชื้อเอชไอวี อาจเข้าสู่ตัวลูกระหว่างการบีบรัดตัวของมดลูกตอนเจ็บท้องคลอด หรือการสัมผัสเลือด และสารคัดหลั่งขณะคลอด เพราะเลือดแม่ที่มีเชื้อเอชไอวี ไปปนเปื้อนบนตัวเด็กขณะคลอด ช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของการติดเชื้อเอชไอวีในเด็ก

การป้องกันในช่วงนี้อาจทำได้หลายวิธี 

  • การล้างช่องคลอดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเอชไอวีก่อนเด็กคลอด 

  • วิธีการทำคลอดที่ทำให้มีการปนเปื้อนเลือดแม่น้อยที่สุด เช่น การผ่าตัดทำคลอดที่หน้าท้อง

  • การล้างตัวเด็กให้เร็วที่สุดหลังคลอด 

  • การให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี แก่แม่ในช่วงท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ เพื่อลดปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือดก่อนคลอด และเพื่อให้มียาต้านไวรัสเอชไอวีผ่านไปสู่ตัวลูกด้วย 

  • การให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี แก่ลูกในช่วงสั้นๆ หลังคลอด คล้ายการให้ยาป้องกันในคนที่ถูกเข็มที่เปื้อนเลือดเอชไอวี


ช่วงที่ ๓ เป็นช่วงการให้นมลูก

ในระหว่างให้นมลูก  (breastfeeding) เพราะน้ำนมจากแม่สามารถแพร่เชื้อไวรัสเอชไอวีไปยังลูกได้ ในทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่ พบว่ายิ่งดูดนมแม่นานจะยิ่งติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้น การป้องกันในการติดเชื้อเอชไอวีช่วงนี้ คือ การใช้นมผงเลี้ยงลูกแทนนมแม่ตั้งแต่เกิด ซึ่งเป็นวิธีที่สำคัญที่ทำให้ลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่ 


วิธีช่วยปกป้องลูกน้อยจากเชื้อเอชไอวีในระหว่างตั้งครรภ์

ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวี หากมีเชื้อเอชไอวี ก็ควรเข้ารับการรักษาเอชไอวีก่อน และระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในทารกได้ หากรับประทานยาต้านไวรัสเอชไอวีตลอดการตั้งครรภ์ จนถึงการคลอดลูก และให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีแก่ทารกเป็นเวลา 4 ถึง 6 สัปดาห์หลังคลอด ทำให้ความเสี่ยงในการแพร่เชื้อเอชไอวีไปยังทารกอาจเป็น 1 ใน 100 (1 เปอร์เซ็นต์) หรือน้อยกว่า  นั่นทำให้ผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 99 จะไม่แพร่เชื้อเอชไอวีไปยังทารกในครรภ์

ก่อนการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีสำหรับหญิงตั้งครรภ์: คำแนะนำและข้อมูลสำคัญที่ควรทราบ
ก่อนการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี สำหรับหญิงตั้งครรภ์

ก่อนการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี สำหรับหญิงตั้งครรภ์

ก่อนการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี สำหรับหญิงตั้งครรภ์ จะมีการประเมินหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีดังนี้


การซักถามประวัติเบื้องต้น

  • ประวัติการได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวี เพื่อการรักษา หรือเพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก

  • สถานะการติดเชื้อของทารกในครรภ์ก่อน

  • ระยะเวลาที่รู้ว่าติดเชื้อเอชไอวี

  • การดื้อยา การแพ้ยา การหยุดยา

  • การแสดงของการติดเชื้อเอชไอวี

  • การติดเชื้อโรคฉวยโอกาส

  • ตรวจระดับเม็ดเลือดขาว CD4 ของหญิงตั้งครรภ์


การตรวจร่างกาย

  • ส่งตรวจตาเพื่อดูการอักเสบของจอประสาทตาในรายที่ติดเชื้อ Cytomegalovirus หรือToxoplasmosis

  • ตรวจภายในเพื่อตรวจการติดเชื้อราในช่องคลอด และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก


การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

  • การตรวจเลือดเพื่อฝากครรภ์ตามปกติ

  • การตรวจเลือดเพื่อประเมินความเหมาะสมในการให้ยาต้านไวรัส หรือเพื่อเป็นค่าพื้นฐานก่อนการให้ยา ได้แก่

  • การตรวจระดับเม็ดเลือดและเกร็ดเลือด (CBC with Platelet)

  • การส่งตรวจการทำงานของไต (BUN/Cr)

  • การส่งตรวจการทำงานของตับ (Liver Function Test)

  • การตรวจระดับเม็ดเลือดขาว CD4 หรือจำนวนเชื้อไวรัส viral load


อาจพิจารณาการตรวจคัดกรองเพิ่มเติม ดังนี้

  • CD4 count ทันทีและติดตามทุก 6 เดือน

  • Viral load ที่อายุครรภ์ 36 สัปดาห์  และกินยาต้านไวรัสมาแล้วอย่างน้อย 4 สัปดาห์ขึ้นไป

  • ตรวจภายใน และคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม เนื่องจากสตรีตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  • ตรวจคัดกรองภาวะติดเชื้อร่วมอื่นๆ (co-infection) เช่น Anti-HCV

  • คัดกรองประวัติสัมผัสวัณโรค  อาการและอาการแสดงของวัณโรค เช่น ไอ มีไข้ น้ำหนักลด

  • ตรวจพิเศษอื่นๆ เพื่อสืบค้นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสตามอาการ


ผลการติดเชื้อเอชไอวีที่มีผลต่อการตั้งครรภ์

การติดเชื้อเอชไอวี ไม่ได้มีผลทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิดในทารก แต่พบว่าการติดเชื้อเอชไอวีทำให้เพิ่มการแท้งบุตร ทารกโตช้าในครรภ์ ทารกตายตอนคลอด การคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักน้อย อัตราการตายปริกำเนิด และอัตราตายของทารก แต่หากสตรีตั้งครรภ์ได้รับยา HARRT ตั้งแต่แรกที่มาฝากครรภ์ พบว่าภาวะทารกโตช้าในครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด และทารกน้ำหนักน้อยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวี 


ดังนั้นการเตรียมสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อเอชไอวี เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ และการคลอด โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการตั้งครรภ์ คือ ต้องมีปริมาณไวรัสเอชไอวี (viral load) น้อยกว่า 50 copies/mL , CD4 > 350 cell/mm

การรักษาเอชไอวีในหญิงตั้งครรภ์: คำแนะนำและการดูแลสุขภาพในระหว่างการตั้งครรภ์
การรักษาเอชไอวีในหญิงตั้งครรภ์

การรักษาเอชไอวีในหญิงตั้งครรภ์ 

หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีควรรับประทานยาต้านไวรัสเอชไอวี ซึ่งยาต้านไวรัสเอชไอวีสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อเอชไอวีไปยังทารก และยังช่วยดูแลสุขภาพของแม่ได้อีกด้วย


สำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ ที่ไม่เคยได้รับยารักษาเอชไอวี

หากอยู่ในช่วงไตรมาสแรก แพทย์จะพิจารณาว่าควรเริ่มการรักษาเอชไอวีได้หรือไม่ ดังนี้

  • อาการคลื่นไส้อาเจียนอาจทำให้ยากต่อการรับประทานยาต้านไวรัสเอชไอวีตั้งแต่เนิ่นๆ ในระหว่างตั้งครรภ์

  • เป็นไปได้ว่ายาอาจส่งผลต่อลูกน้อยของคุณ แพทย์จะสั่งยาที่ปลอดภัยสำหรับใช้ระหว่างตั้งครรภ์

  • โดยทั่วไปเชื้อเอชไอวีจะแพร่เชื้อไปยังทารกในช่วงปลายการตั้งครรภ์  หรือระหว่างการคลอดบุตร เอชไอวีสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ของการตั้งครรภ์หากตรวจพบปริมาณไวรัสได้

  • ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการรักษาจะได้ผลดีที่สุดในการป้องกันเอชไอวีในทารก หากเริ่มก่อนตั้งครรภ์ หรือโดยเร็วที่สุดในระหว่างตั้งครรภ์


สำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ ที่กำลังใช้ยารักษาเอชไอวี

หากอยู่ในช่วงไตรมาสแรกให้ปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับการปฏิบัติตามแผนการรักษาปัจจุบันของคุณ ดังนี้

  • จะทำการรักษาเอชไอวีต่อ หรือหยุดการรักษาเอชไอวีในช่วงไตรมาสแรก เพราะการหยุดยารักษาเอชไอวี อาจทำให้ปริมาณไวรัสของคุณเพิ่มขึ้น หากปริมาณไวรัสของคุณเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงในการติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นด้วย และอาจทำให้เกิดปัญหากับทารกในครรภ์ ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่สำคัญ

  • ดูว่ายาต้านไวรัสเอชไอวี มีผลกระทบอย่างไรบ้างต่อทารกในครรภ์

  • ดูว่ามีความเสี่ยงต่อการดื้อยาหรือไม่ เพราะหากยาต้านไวรัสเอชไอวีที่รับประทานไม่สามารถต้านเชื้อเอชไอวีได้อีกต่อไป ก็จะส่งผลต่อหญิงตั้งครรภ์ และทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น อย่าหยุดรับประทานยาต้านไวรัสเอชไอวโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อน


ยารักษาเอชไอวี ปลอดภัยที่จะใช้ในระหว่างตั้งครรภ์หรือไม่?

ยารักษาเอชไอวีส่วนใหญ่มีความปลอดภัยที่จะใช้ในระหว่างการตั้งครรภ์ โดยทั่วไปยารักษาเอชไอวีไม่ได้มีผลทำให้เกิดความเสี่ยงที่ทารกจะพิการแต่กำเนิด


หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี ควรเริ่มรับประทานยารักษาเอชไอวีเมื่อใด?

หญิงมีครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีทุกคน ควรเริ่มรับประทานยารักษาเอชไอวีโดยเร็วที่สุดในระหว่างตั้งครรภ์ ในกรณีส่วนใหญ่ผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวีก็จะมีแผนการรักษาเอชไอวีอยู่แล้ว  เมื่อมีการตั้งครรภ์ก็ควรใช้แผนการรักษาเดิมต่อไปตลอดการตั้งครรภ์


การผ่าตัดคลอดสามารถลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อเอชไอวีได้หรือไม่?

การผ่าตัดคลอด สามารถลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้ โดยจะแนะนำให้ทำการผ่าตัดคลอดก่อนกำหนดเวลา เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก


สรุปวิธีการดูแลหญิงตั้งครรภ์เพื่อลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก เพื่อให้การดูแลอย่างครอบคลุม และต่อเนื่อง มีดังนี้

  • ฝากครรภ์โดยเร็วก่อน 12 สัปดาห์ เพื่อได้รับการดูแลสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ และลูกในครรภ์ 

  • รับการปรึกษาพร้อมสามี เพื่อตรวจหาโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม และตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี 

  • หากหญิงตั้งครรภ์ และคู่มีผลการตรวจเลือดเอชไอวีเป็นบวก จะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมโดยหญิงตั้งครรภ์จะได้รับยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์ประสิทธิภาพสูง (HAART) เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก

  • เด็กที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะได้รับยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์ประสิทธิภาพสูง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และได้รับนมผสมเพื่อทดแทนนมแม่นานถึง 18 เดือน

Comentarios


bottom of page