ไวรัส Human Papillomavirus (HPV) เป็นไวรัสที่แพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งในส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งช่องปาก และโรคมะเร็งทวารหนัก รวมถึงโรคหูดหงอนไก่ โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQ+ (เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล ทรานส์เจนเดอร์ และเควียร์) ที่มีพฤติกรรม และปัจจัยอื่นๆ อีกหลายประการ ทำให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส HPV ของ LGBTQ มีมากว่าคนกลุ่มอื่น
โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV ในกลุ่ม LGBTQ มีดังนี้
โรคหูดที่อวัยวะเพศ (Genital warts) หรือ หูดหงอนไก่ เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งระหว่างอวัยวะเพศชายกับช่องคลอด อวัยวะเพศชายกับทวารหนัก และทางช่องคลอดกับช่องคลอด รวมไปถึงการทำออรัลเซ็กส์จากผู้ที่ติดเชื้อไวรัส HPV ด้วย
โรคมะเร็งทวารหนัก (Anal Cancer) ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่หนัก มีประวัติเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก เปลี่ยนคู่นอนบ่อย และการมีเพศสัมพันธ์ผ่านทางทวารหนักโดยไม่ป้องกัน
โรคมะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV ชนิดก่อมะเร็ง มี 14 สายพันธุ์ ทําให้เป็นโรคร้ายมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด โดยสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกถึงประมาณร้อยละ 70 รองลงมาคือ สายพันธุ์ 45, 31 และ 33
โรคมะเร็งช่องปาก (Oral Cancer) เป็นอีกหนึ่งโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV ด้วยการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก หรือการทำ Oral Sex โดยอาการของโรคมะเร็งช่องปาก และลำคอ คือ มีอาการเจ็บคอเป็นเวลานาน ปวดหู เสียงแหบ ต่อมน้ำเหลืองบวม และน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
ความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส HPV ของ LGBTQ
หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นเชื้อที่ติดต่อได้เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว HPV เป็นเชื้อที่ไม่เลือกเพศ และทุกคนสามารถติดเชื้อได้เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือกลุ่ม LGBTQ เช่น
ความเสี่ยงในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM)
ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ HPV โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งทวารหนัก การศึกษาพบว่าความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ในกลุ่ม MSM สูงกว่าคนปกติทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจัยที่ทำให้ความเสี่ยงสูงขึ้นรวมถึง
การมีคู่นอนหลายคน
การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย
การไม่เข้าถึงการฉีดวัคซีน HPV อย่างแพร่หลาย
ความเสี่ยงในกลุ่มหญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับหญิง (WSW)
แม้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับหญิง (WSW) จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV ต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ แต่ก็ไม่ปลอดภัยจากความเสี่ยงนี้ การสัมผัสทางเพศโดยตรง เช่น การใช้ของเล่นทางเพศร่วมกัน หรือการสัมผัสทางช่องคลอด สามารถเป็นช่องทางการติดเชื้อได้เช่นกัน
ความเสี่ยงในกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender Individuals)
คนข้ามเพศ (Transgender) มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ที่แตกต่างกันไปตามการปฏิบัติทางเพศ และการเข้าถึงบริการสุขภาพ การศึกษาชี้ให้เห็นว่าคนข้ามเพศที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย หรือหญิงมีความเสี่ยงใกล้เคียงกับกลุ่ม MSM หรือ WSW ทั้งนี้การเข้าถึงการตรวจคัดกรอง และวัคซีนยังเป็นปัญหาหลักในกลุ่มนี้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ LGBTQ+ ติดเชื้อ HPV เพิ่มสูงขึ้น
การมีเพศสัมพันธ์กับหลายคน โดยการมีคู่นอนหลายคน และการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ HPV อย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย (MSM) ที่มักมีอัตราการติดเชื้อ HPV สูงกว่าเนื่องจากพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงกว่า
ขาดการตรวจสุขภาพเป็นประจำ เนื่องด้วยกลุ่ม LGBTQ+ บางส่วนอาจไม่เข้าถึงการบริการสุขภาพอย่างเหมาะสม หรือไม่ได้รับการแนะนำในการตรวจคัดกรอง HPV อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อและการพัฒนาไปสู่มะเร็งเพิ่มขึ้น
การใช้สารเสพติด มาจากการใช้สารเสพติด และการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV
ปัจจัยทางสุขภาพจิต เช่น ความเครียด และภาวะสุขภาพจิตที่ไม่ดี สามารถส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV สูงขึ้น
การตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัส HPV
กรณีที่เป็นผู้หญิง สามารถตรวจได้ด้วยวิธีแป๊บสเมียร์ (Pap Smear) ลิควิดเบส (Liquid Base) และ HPV DNA Test ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการเก็บตัวอย่างเซลล์บริเวณปากมดลูกไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
กรณีที่เป็นผู้ชาย การตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัส HPV จะมีวิธีการตรวจเหมือนกับผู้หญิงเลย เพียงแต่ว่าผู้ชายจะเก็บตัวอย่างเซลล์จากบริเวณองคชาต หรือปากทวารหนักแทน
การป้องกัน และลดความเสี่ยง
การป้องกัน และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ในกลุ่ม LGBTQ สามารถทำได้ดังนี้
การฉีดวัคซีน HPV ถือเป็นวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ และการเกิดมะเร็งที่เกี่ยวข้อง การฉีดวัคซีนควรเริ่มตั้งแต่อายุ 9-12 ปี แต่สามารถฉีดได้จนถึงอายุ 26 ปี หรือมากกว่านั้นในบางกรณี
การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันได้ 100% ก็ตาม
การตรวจสุขภาพ และคัดกรองเป็นประจำ เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และการตรวจหาเชื้อ HPV เป็นประจำ สามารถช่วยในการตรวจพบเชื้อในระยะเริ่มต้น และป้องกันการพัฒนาของมะเร็งได้
การสนับสนุนด้านสุขภาพจิต เช่น การให้คำปรึกษา และการดูแลสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ได้
การป้องกัน และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส HPV ในกลุ่ม LGBTQ+ จำเป็นต้องใช้มาตรการที่หลากหลายและครอบคลุม ตั้งแต่การฉีดวัคซีน การใช้ถุงยางอนามัย การตรวจสุขภาพประจำ และการดูแลสุขภาพจิต การให้ความรู้และการสนับสนุนจากชุมชนและบุคลากรทางการแพทย์เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้กลุ่ม LGBTQ+ สามารถป้องกันตนเองจากความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV และมีสุขภาพที่ดีในระยะยาว
Comments