top of page
Siri Writer

การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี

Updated: Dec 27, 2023

การติดเชื้อเอชไอวี เป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่พบได้มากที่สุดในประเทศไทย ผู้ติดเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่นั้น มักจะถูกเลือกปฏิบัติและกีดกันอยู่เสมอ ฉะนั้นการที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีนั้นสามารถทำได้ เพียงแค่เรียนรู้ทำความเข้าใจ ว่าเชื้อเอชไอวีนั้นแพร่เชื้ออย่างไร และจะสามารถป้องกันตัวเองจากเชื้อเอชไอวีได้อย่างไรบ้าง ก็ทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย โดยเฉพาะคนในครอบครัวนั้น เป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะนอกจากคอยให้กำลังใจแล้ว ยังต้องดูแลผู้ป่วยให้มีพลานามัยสมบูรณ์ และสร้างสิ่งแวดล้อมบริเวณที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี

ภาพแสดงการสร้างชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุขและความเป็นไปได้ในการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี
การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี

เชื้อ เอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus : HIV) คือ เชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า CD4 (ซีดีโฟร์) หรือ ทีเซลล์ (T cells) ซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค และเชื้อไวรัสต่าง ๆ เมื่อเซลล์ CD4 ถูกทำลายจนอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะถูกเชื้อไวรัสเอชไอวีโจมตีจนไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ หรือเม็ดเลือดขาว CD4 จนมีปริมาณไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุให้เกิดอาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายลดต่ำลง ทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ เช่น วัณโรค ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น รวมทั้งมะเร็งบางชนิด อย่าง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง  ได้มากกว่าคนปกติ ซึ่งอาการอาจจะรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป และอาจเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต ทั้งนี้ยังรวมไปถึงโรคเอดส์ ที่เป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี


เชื้อเอชไอวีสามารถติดต่อได้ทางไหนบ้าง?

เชื้อเอชไอวี แพร่กระจายผ่านตัวกลางบางอย่างเท่านั้น เช่น เลือด น้ำนม อสุจิ น้ำหล่อลื่นจากอวัยวะเพศชาย และของเหลวจากช่องคลอดหรือทวารหนัก  สามารถติดต่อได้ ดังนี้

การมีเพศสัมพันธ์

เพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันทำให้มีการแลกเปลี่ยนสารคัดหลั่งระหว่างกัน ซึ่งเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์


เลือด

ได้รับเลือดที่มีเชื้อผ่านผ่านผิวหนังที่มีแผล หรือเยื่อบุผิวบริเวณต่าง ๆ เช่น ช่องปาก ตา ช่องคลอด การใช้อุปกรณ์เกี่ยวกับเลือดใดๆ ก็ตาม (เข็ม กระบอกฉีดยา มีด) ร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดอุบัติเหตุเข็มตำ จะมีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวี


จากแม่สู่ลูกในครรภ์ และการให้นมบุตร

ทารกที่เกิดจากคุณแม่ที่มีเชื้อเอชไอวีจะเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีประมาณ 30% ยิ่งถ้าคลอดแบบธรรมชาติ และกินนมแม่ก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการถ่ายทอดเชื้อมากขึ้น เพราะทารกได้สัมผัสกับสารคัดหลั่งที่มีเชื้อเอชไอวี ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อสู่ทารก แพทย์มักจะแนะนำให้คุณแม่ที่มีเชื้อเอชไอวีกินยาต้านในระหว่างตั้งครรภ์

ภาพแสดงขั้นตอนการเตรียมตัวในการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผ่านการเรียนรู้, การปรับตัวทั้งทางกายและจิตใจ, และการเตรียมรับมือกับสถานการณ์
เตรียมตัวอย่างไรหากต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี

เตรียมตัวอย่างไรหากต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี

ผู้ที่อาศัยอยู่กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรเตรียมความพร้อมสำหรับการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี ดังนี้


ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวี

ทั้งสาเหตุของโรค ลักษณะอาการ การติดต่อ การรักษา เพราะนอกจากช่วยให้ดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างเหมาะสมแล้ว ยังทำให้เข้าใจว่าคนทั่วไปนั้นอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างปกติ อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระยะต้น ๆ ที่รับประทานยาเป็นประจำทุกวัน อาจช่วยป้องกันไม่ให้การติดเชื้อลุกลามไปเป็นโรคเอดส์และทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีชีวิตอยู่ได้นานเหมือนคนปกติ


ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

แม้ไข้หวัดใหญ่บางชนิดจะไม่รุนแรงสำหรับคนทั่วไป ทว่าอาจส่งผลรุนแรงต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้ ดังนั้นคนใกล้ชิดซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจนำเชื้อโรคแพร่สู่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี จำเป็นต้องป้องกันตนเอง และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ อีกทั้งควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคติดต่อชนิดอื่น ๆ ด้วย


ข้อควรปฏิบัติสำหรับการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี

  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรค และตรวจคัดกรองโรค เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ หรือวัคซีนป้องกันวัณโรค อีกทั้งยังควรตรวจคัดกรองโรค เพื่อให้แน่ในว่าไม่มีโรคอื่นๆ ติดมาในครอบครัวและตัวผู้ติดเชื้อเอชไอวี เอง

  • กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือ เพื่อลดความเสี่ยงในการนำเชื้อโรคไปสู่ตัวผู้ติดเชื้อเอชไอวี ควรแยกผู้ป่วยโรคอื่นๆ ไม่ให้ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี

  • หากผู้ติดเชื้อเอชไอวี เกิดบาดแผล ควรรีบทำความสะอาดล้างแผล และปิดแผลเพื่อป้องกันเชื้อโรค

  • สามารถรับประทานอาหารร่วมกัน เข้าห้องน้ำ ซักผ้า ใช้สบู่ และใช้ยาสีฟันร่วมกันได้ตามปกติ โดยไม่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการส่งต่อเชื้อเอชไอวีแต่อย่างใด

  • สวมถุงมือยางทุกครั้งเมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อเอชไอวี 

  • ล้างมือด้วยสบู่หลังจากสัมผัสสารคัดหลั่งทุกครั้ง แม้ขณะสัมผัสจะสวมถุงมือก็ตาม

  • ควรทิ้งขยะที่มีสารคัดหลั่งปะปน เช่น ผ้าอนามัย ผ้าพันแผล ใส่ถุงพลาสติกที่ปิดมิดชิด และแยกจากขยะชนิดอื่น ๆ

  • ล้างทำความสะอาดของเสียจากร่างกายผู้ป่วยตามห้องน้ำหรือโถสุขภัณฑ์ให้สะอาดก่อนใช้งานต่อ โดยสวมถุงมือยางขณะทำความสะอาดทุกครั้ง


ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี

  • ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ไม่ควรใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ทั้ง แปรงสีฟัน มีดโกนหนวด เสื้อผ้า กรรไกรตัดเล็บ หรือเครื่องประดับ เช่น ต่างหู เพราะอาจจะมีการปนเปื้อนของสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อเอชไอวี ในสิ่งเหล่านี้ได้

  • รับประทานยาตามหมอสั่ง ไปพบคุณหมอตามนัดเพื่อตรวจดูและติดตามอาการของโรค

  • มีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยสวมถุงยางอนามัยป้องกันโรคทุกครั้ง

  • พักผ่อนให้เพียงพอ 

  • หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคติดต่อ เช่น ไข้หวัดใหญ่ เพราะหาก ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ติดโรคเหล่านี้ ก็อาจจะมีอาการที่รุนแรงกว่าผู้อื่นได้ เนื่องจากมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ หรือภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนปกติทั่วไป หากติดเชื้อโรคอื่น ๆ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่าคนอื่นได้นั่นเอง

ภาพแสดงกระบวนการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ทำได้อย่างเหมาะสม การให้ความสนใจและการดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจ, การติดตามการรักษาทางการแพทย์
การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีต้องทำอย่างไร

การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีต้องทำอย่างไร?

การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี จำเป็นต้องใช้ความใส่ใจและอดทนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการรุนแรง เพราะนอกจากจะมีสุขภาพอ่อนแอมากแล้ว อาจมีภาวะสมองเสื่อมร่วมด้วย ควรปฎิบัติดังนี้ 

  • ปฏิบัติตัวต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหมือนคนปกติ ลักษณะการพูดคุยหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิมอาจทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรู้สึกแปลกแยก อีกทั้งควรรับฟังปัญหาและให้คำปรึกษาที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วย พยายามอธิบายให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าใจว่าการรักษาทันทีเมื่อตรวจพบว่าติดเชื้อนั้นส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมอย่างมาก

  • สร้างวินัยให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรับประทานยาเป็นประจำ ควรศึกษาข้อมูลของยาแต่ละชนิดที่แพทย์แนะนำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรับประทาน ทั้งเวลาที่ต้องรับประทานและผลข้างเคียงของยา เพราะการรับประทานยาไม่สม่ำเสมอจะทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง และอาจทำให้เชื้อดื้อยาชนิดนั้นหรือยาชนิดใกล้เคียง ส่งผลให้การรักษามีข้อจำกัดและทำได้ยากยิ่งขึ้น

  • สร้างสิ่งแวดล้อมบริเวณที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม ควรคำนึงถึงความสะดวกสบายและความปลอดภัยของผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นหลัก โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการรุนแรง เช่น จัดพื้นที่บริเวณที่อยู่อาศัยให้รองรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ใช้รถเข็น วางสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในที่ที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหยิบใช้ง่าย เก็บสิ่งของมีคมให้มิดชิด เป็นต้น

  • ดูแลด้านอาหารการกิน พยายามช่วยให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรับประทานอาหารได้อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงความสะอาดเป็นอันดับแรก ทั้งความสะอาดของวัตถุดิบ เครื่องใช้ในครัว และผู้ประกอบอาหาร ผู้ป่วยควรบริโภคอาหารที่ปรุงสุก เน้นอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนและอุดมไปด้วยเส้นใย หลีกเลี่ยงอาหารทะเลดิบและไข่ดิบ ส่วนผักและผลไม้สดควรล้างน้ำให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทาน

  • ดูแลสุขภาพทั่วไปของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ดูแลควรหมั่นพลิกตัวและทำกายภาพบำบัดตามคำแนะนำของแพทย์ให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เคลื่อนไหวลำบากหรือจำเป็นต้องนอนอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน รวมถึงเลือกใช้วัสดุที่นิ่มเพียงพอปูรองใต้ผิวหนัง เช่น ฟูก หรือฟองน้ำรังไข่ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจตามมา ได้แก่ แผลกดทับ ข้อติดแข็ง ปอดบวม เป็นต้น

  • หากมีความเสี่ยงสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ควรพบแพทย์ทันที ภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี เพื่อรับยาต้านไวรัส (Post -Exposure Prophylaxis: PEP) ลดโอกาสติดเชื้อเอชไอวี โดยจะต้องรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลา 28 วัน ผลการป้องกันของยาต้านไวรัสจะให้ประสิทธิภาพสูงสุดกรณีรับยาภายใน 24 ชม. หลังรับเชื้อ 


สิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี คือการป้องกันการติดเชื้อระหว่างตัวผู้ติดเชื้อเอชไอวี และสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้าน อีกทั้งยังควรป้องกันไม่ให้นำเชื้อโรคอื่นๆ ไปติดผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพราะผู้ติดเชื้อเอชไอวีนั้น จะมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอกว่าคนปกติ หากติดเชื้อโรคอื่น ๆ ขึ้นมา ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่าคนปกติทั่วไป โดยการรักษาอย่างเข้มงวดเรื่องสุขภาพส่วนตัวและการป้องกันการติดเชื้อรอบข้าง เป็นเป้าหมายที่สำคัญเพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งกายและใจได้ในระยะยาว


Comments


bottom of page