top of page
Siri Writer

โรคฝีมะม่วง เกิดสาเหตุจากอะไร? รู้เร็ว รักษาได้

Updated: Dec 25, 2023

โรคฝีมะม่วง เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดการอักเสบ หรือติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศ รวมทั้ง อาการเลือดคั่งบริเวณอวัยวะเพศ ต่อมน้ำเหลืองโตที่ขาหนีบ ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดบวม และเดินลำบาก หากรู้สึกว่ามีอาการเจ็บปวดบริเวณอวัยวะเพศควรไปพบในทันที โรคนี้มักไม่เกิดในเพศหญิง เพราะในเพศหญิงจะมีการระบายน้ำเหลืองจากอวัยวะสืบพันธุ์ไปที่ต่อมน้ำเหลืองภายในท้องน้อย มากกว่ามาที่ขาหนีบ และเมื่อติดเชื้อจะทำให้เกิดเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบมากกว่า และปัจจุบันโรคฝีมะม่วงมีแนวโน้มของการเกิดมากขึ้น โดยมักพบมากในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกัน หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะช่วยให้ผู้ป่วยหาย และใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ภาพประกอบ: โรคฝีมะม่วง เกิดสาเหตุจากอะไร? รู้เร็ว รักษาได้ คำถามและคำตอบเกี่ยวกับโรคฝีมะม่วงที่มีการวิเคราะห์ทางการแพทย์และทางคลินิก เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและการจัดการโรคอย่างมีประสิทธิภาพ
โรคฝีมะม่วง เกิดสาเหตุจากอะไร? รู้เร็ว รักษาได้

โรคฝีมะม่วง คืออะไร?

โรคฝีมะม่วง (Lymphogranuloma Venereum: LGV) หรือ กามโรคต่อมน้ำเหลือง หรือกามโรคท่อน้ำเหลือง  คือ การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เมื่อเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้เข้าสู่ผิวหนัง จะเกิดแผลที่อวัยวะเพศ ทวารหนัก และต่อมน้ำเหลืองโตที่ต้นขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือที่ขาหนีบ  โดยจะเกิดตุ่ม หรือแผลขนาดเล็กที่อวัยวะเพศก่อน จากนั้นต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบจะอักเสบ ทำให้เกิดอาการปวดบวม และเดินลำบาก 


หากรูทวารอักเสบหรือมีแผล จะรู้สึกปวดบริเวณก้นตลอดเวลา อาจถ่ายไม่ออกหรือท้องร่วง หรือรูทวารตีบตันได้ ส่วนผู้หญิงที่ป่วยเป็นฝีมะม่วงจะทำให้อุ้งเชิงกรานอักเสบ ส่งผลให้ท้องนอกมดลูกได้ หรือปวดท้องน้อยเรื้อรัง รวมทั้งภาวะมีบุตรยาก


สาเหตุโรคฝีมะม่วง

สาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลามีเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) ที่แตกต่างกันถึง 3 ชนิด คือ ชนิด L1, L2, L3 และไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย ชนิดที่ทำให้เกิดโรคหนองในเทียม เป็นการติดเชื้อของระบบน้ำเหลืองในร่างกาย  สามารถติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทั้งทางปาก ทวารหนัก และช่องคลอด หรือสัมผัสถูกหนองของฝีมะม่วงโดยตรง ทำให้เกิดแผลขนาดเล็ก ไม่เจ็บ ที่อวัยวะเพศก่อน เพราะไม่เจ็บ บางครั้งผู้ป่วยจึงไม่สังเกตเห็น ต่อมาจะทำให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ ทำให้เกิดอาการปวดบวม เดินลำบาก เรียกตามภาษาทั่วไปว่า ไข่ดันบวม  โดยระยะฟักตัวของโรค ประมาณ 3-30 วันส่วนมากจะใช้เวลา 7-10 วันหลังจากการสัมผัสเชื้อ โดยการเกิดแผลมักเกิดในช่วง 3-10 วันหลังสัมผัสเชื้อ ส่วนการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองมักเกิดประมาณ 10-30 วันหลังสัมผัสเชื้อ


ใครที่มีความเสี่ยงติดเชื้อฝีมะม่วง

โดยมีปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อฝีมะม่วง ดังนี้

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ โดยให้คู่นอนสอดใส่ทางทวารหนัก  หรือการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย

  • ผู้ที่ทำออรัลเซ็กซ์เมื่อมีเพศสัมพันธ์

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ขายบริการทางเพศ

  • ผู้ที่ใช้น้ำยาสวนทวารหนัก

  • ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี

  • ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

ภาพประกอบ: อาการโรคฝีมะม่วง การแสดงภาวะสุขภาพที่ผิดปกติที่เกิดขึ้นจากโรคฝีมะม่วง รู้จักกับลักษณะอาการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความเข้าใจและการรักษาอย่างเหมาะสม
อาการโรคฝีมะม่วง

อาการโรคฝีมะม่วง

อาการโรคฝีมะม่วง แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ระยะแผล (Primary LGV )

ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อฝีมะม่วงจะแสดงอาการของโรคภายใน 3 สัปดาห์หลังติดเชื้อ โดยจะแสดงอาการ ดังนี้

  • มีตุ่มนูนเล็ก ๆ ตุ่มใส ขึ้นมา หรือเป็นแผลขนาดเล็ก ตื้น ๆ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด บริเวณอวัยวะเพศก่อน หรืออาจเกิดขึ้นที่อัณฑะหรือทวารหนักก็ได้

  • มีแผลเปื่อยขึ้นมา และหายไปเองภายใน 2-3 วัน

  • อาจเกิดอาการป่วยคล้ายโรคท่อปัสสาวะอักเสบ

  • ผู้ชายอาจได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อที่อวัยวะสืบพันธุ์ รวมทั้งหลอดน้ำเหลืองที่องคชาตอักเสบทำให้อวัยะวะเพศแข็งเป็นลำ

  • ผู้หญิงอาจได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อที่ผนังด้านหลังมดลูกหรือปากช่องคลอด

  • บริเวณต่อมน้ำเหลืองมีก้อนนุ่ม ๆ นูนขึ้นมา ซึ่งทำให้เกิดอาการบวม

  • ผู้ที่ทำออรัลเซ็กซ์อาจเกิดการติดเชื้อที่ปากร่วมด้วย


ระยะที่ 2 ระยะฝี (Secondary LGV)

เมื่อได้รับเชื้อแล้ว อาการของโรคจะปรากฏประมาณ 10-13 วัน และอาจกำเริบรุนแรงขึ้น ซึ่งใช้เวลานานหลายเดือน โดยจะแสดงอาการ ดังนี้

  • เกิดฝีมะม่วงซึ่งเป็นก้อนนุ่มสีใสขนาดใหญ่ที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ เริ่มมีอาการบวมและปวดจนอาจเดินไม่ได้ (เรียกตามภาษาทั่วไปว่า  ไข่ดันบวม) ตรงกลางจะเป็นร่องของพังผืดคล้ายร่องของมะม่วงอกร่อง จึงเรียกโรคนี้ว่า ฝีมะม่วง ซึ่งอาจเป็นที่ขาหนีบข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้

  • ผิวหนังบริเวณที่เป็นฝีจะมีอาการอักเสบ มีลักษณะบวม แดง ร้อนร่วมด้วย

  • ผู้หญิงที่ติดเชื้อจะมีอาการปวดท้องน้อยหรือปวดหลังส่วนล่าง เนื่องจากต่อมน้ำเหลืองที่โตเป็นส่วนที่อยู่ในช่องท้อง

  • อาจมีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม เบื่ออาหาร และปวดตามข้อ

  • ผู้ที่ปากติดเชื้อ อาจทำให้ต่อมน้ำลายและต่อมน้ำเหลืองตรงกระดูกสันหลังคอได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อ

  • เกิดผื่นแดงและมีไข้ รวมทั้งมีตุ่มแข็งขนาดใหญ่ขึ้นที่ผิวหนัง

  • อาจประสบภาวะเยื่อตาอักเสบ ตับโต เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ ปอดบวม หรือข้ออักเสบ

  • ถ้าไม่ได้รับการรักษา ฝีอาจยุบหายไปได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือเป็นเดือน แต่บางรายฝีอาจแตกเป็นรูหลายรูและมีหนองไหลจนกลายเป็นแผลเรื้อรังได้


ระยะที่ 3 ระยะแผลเป็นหดรัด  (Tertiary LGV)

ในระยะนี้จะปรากฏอาการของโรคหลังจากติดเชื้อไปแล้วประมาณหลายเดือน หรือนานจนถึง 20 ปี โดยจะแสดงอาการ ดังนี้

  • เกิดเนื้อเยื่อแผลเป็น ซึ่งอาจไปรัดท่อนํ้าเหลืองจนตันและเกิดการบวมนํ้าของอวัยวะเพศ ในหรือไปรัดลำไส้ทำให้ปวดเบ่ง อุจจาระลำเล็กลง

  • มักเกิดอาการอักเสบที่ลำไส้ใหญ่ และลำไส้ตรง

  • อาจรู้สึกคันทวารหนัก และมีเลือดกับมูกปนหนองออกมา ทั้งนี้ อาจรู้สึกที่ก้น ปวดเบ่งที่ลำไส้ตรงเหมือนจะถ่ายหนักตลอดเวลา  มีหนอง และเลือดไหลออกทางรูทวาร  

  • ทำให้ท้องผูก และน้ำหนักลด

  • อาจมีการตีบตันของทวารหนักหรือทวารหนักมีก้อนเหมือนริดสีดวง

  • การอักเสบเรื้อรังของโรคอาจทำให้เกิดฝี ท่อน้ำเหลืองอุดตัน ลำไส้ตรงผิดรูป เกิดความพิการ  และลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงติดเชื้อ

  • เกิดแผลลุกลามซึ่งส่งผลให้อวัยวะสืบพันธุ์ผิดปกติ

  • ในผู้หญิงที่เป็นโรคนี้แม้จะมองไม่เห็นต่อมน้ำเหลืองโตในระยะฝี แต่นานไปก็จะเกิดเนื้อเยื่อแผลเป็นรอบ ๆ ช่องคลอดและทวารหนักเช่นกัน มีผลให้เกิดการตีบแคบของช่องคลอดและทวารหนัก หรือมีการอุดตันของท่อนํ้าเหลืองจนทำให้อวัยวะเพศขยายใหญ่ได้เช่นเดียวกับในผู้ชาย    และอาจลุกลาม เกิดการอักเสบของทวารหนักจนตีบตัน และถ่ายอุจจาระไม่ออกได้ ซึ่งมักพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย


ปัจจุบันโรคนี้มีแนวโน้มของการเกิดสูงขึ้น โดยเฉพาะในผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกันและในกลุ่มที่มีการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบของช่องทวารหนักอย่างมาก (Ulcerative proctitis) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดก้น อยากถ่ายอุจจาระตลอดเวลา มีหนองไหลทางรูทวาร และมีเลือดออกทางทวารหนักได้

ภาพประกอบ: ภาวะแทรกซ้อนของโรคฝีมะม่วง ระบบสุขภาพที่เป็นผลมาจากโรคฝีมะม่วง รู้จักกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากโรคนี้และคำแนะนำในการจัดการ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคฝีมะม่วง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคฝีมะม่วง

ผู้ป่วยโรคฝีมะม่วงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นเวลานานหลายปีหลังติดเชื้อครั้งแรก หากไม่รักษาหรือไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ดังนี้

  • เกิดโรคฝีคัณฑสูตร (Fistula)  เกิดความเสียหายเป็นรูขึ้น บริเวณทวารหนักตรงจุดที่เชื่อมต่อระหว่างลำไส้ตรงกับช่องคลอด หรือแผลเป็นขนาดใหญ่ที่บริเวณขาหนีบ

  • ในผู้ชาย ประสบภาวะองคชาตมีพังผืด หรือองคชาตมีลักษณะผิดรูป

  • ในผู้หญิง ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณอวัยวะเพศ ปากมดลูกอักเสบ หรือท่อนำไข่อักเสบ หรือเกิดการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ซึ่งส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก เกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง และภาวะมีบุตรยาก

  • ประสบภาวะสมองอักเสบ

  • เกิดการอักเสบที่สมอง ข้อต่อ ดวงตา หัวใจ หรือตับ รวมทั้งป่วยเป็นปวดบวม

  • มีอาการบวมของอวัยวะเพศภายนอก และเกิดการอักเสบเรื้อรัง จากการอุดกั้นของทางเดินน้ำเหลืองในบริเวณอวัยวะเพศ  เช่น อัณฑะบวม ปากช่องคลอดบวม

  • ลำไส้ตรงเกิดแผลและตีบเข้า ส่งผลให้ลำไส้อุดตันหรือตีบตัน

  • ประสบภาวะตับโต

ภาพประกอบ: กระบวนการการวินิจฉัยโรคฝีมะม่วง รู้จักกับขั้นตอนและเทคนิคทางการแพทย์ที่ใช้ในการตรวจสอบและวินิจฉัยโรคฝีมะม่วง เพื่อความเข้าใจและการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม
การวินิจฉัยโรคฝีมะม่วง

การวินิจฉัยโรคฝีมะม่วง

แพทย์จะตรวจร่างกาย รวมทั้งซักประวัติการรักษาและการมีเพศสัมพันธ์ของผู้ป่วย การตรวจร่างกายจะช่วยวินิจฉัยความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย ดังนี้

  • แพทย์อาจดูจากลักษณะของแผลเพื่อวินิจฉัยแยกโรคจากแผลของโรคเริมอวัยวะเพศ แผลของโรคซิฟิลิส โรคแผลริมอ่อน แต่บางครั้งแผลที่อวัยวะเพศอาจหายไปแล้วและคงเหลือเฉพาะก้อนที่ขาหนีบ ลักษณะบวมโต ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบวม ถ้ากดจะรู้สึกเจ็บมาก 

  • เกิดฝีและมีหนองไหลซึมออกมาตรงบริเวณทวารหนัก

  • รู้สึกแสบร้อนที่อวัยวะสืบพันธุ์

  • ผิวหนังตรงขาหนีบมีของเหลวซึมออกมา

  • ผู้หญิงอาจเกิดอาการบวมที่ปากมดลูกและแคม

  • ต่อมน้ำเหลืองตรงขาหนีบบวมโต


นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม เพื่อประกอบการวินิจฉัยโรค ดังนี้

  • ตรวจชื้นเนื้อ แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนัง เพื่อตัดและนำตัวอย่างชิ้นเนื้อของฝีมะม่วงสารคัดหลั่งจากแผล หรือเนื้อเยื่อของลำไส้ตรง ออกไปตรวจหาเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของโรค

  • ตรวจเลือด แพทย์จะเจาะเลือดผู้ป่วยไปตรวจ เพื่อวินิจฉัยชนิดของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฝีมะม่วง และอาจต้องทำการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในระยะแฝงอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคซิฟิลิส โรคเอดส์ เป็นต้น

  • ทำซีทีสแกน แพทย์จะทำซีทีสแกนผู้ป่วย เพื่อตรวจดูระดับของภาวะต่อมน้ำเหลืองโตที่เกิดขึ้น รวมทั้งหาสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอาการของโรค

  • ส่องกล้องตรวจลำไส้ แพทย์จะส่องกล้อง เพื่อตรวจและวินิจฉัยความผิดปกติที่ส่งผลให้เกิดอาการป่วยที่ลำไส้

ภาพประกอบ: วิธีการรักษาโรคฝีมะม่วง รู้จักกับกระบวนการและยาที่ใช้ในการรักษาโรคฝีมะม่วง เพื่อความเข้าใจและการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม
การรักษาโรคฝีมะม่วง

การรักษาโรคฝีมะม่วง

การติดเชื้อโรคฝีมะม่วงสามารถรักษาได้ โดยวิธีรักษาด้วยยา และการผ่าตัด ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

การรักษาด้วยยา

แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วยโรคฝีมะม่วง เพื่อใช้รักษาการติดเชื้อ และป้องกันเชื้อแบคทีเรียทำลายเนื้อเยื่อส่วนอื่น โดยยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคฝีมะม่วง ประกอบด้วย

  • ดอกซีไซคลิน (Doxycycline) ผู้ป่วยมักได้รับการรักษาด้วยยานี้เป็นอันดับแรก โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาดอกซีไซคลินวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 100 มิลลิกรัม เป็นเวลา 21 วัน

  • อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ยานี้เป็นยารักษาโรคฝีมะม่วงอีกชนิดที่แพทย์ใช้รักษาผู้ป่วย โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยใช้ยาอะซิโธรมัยซินปริมาณ 2 กรัม เป็นเวลา 20 วัน


ถ้าฝียังไม่ยุบ และมีลักษณะนุ่ม แพทย์อาจใช้เข็มฆ่าเชื้อเบอร์ 16-18 ต่อเข้ากับกระบอกฉีดยา แล้วทำการเจาะดูดเอาหนองออก (แพทย์มักไม่ผ่าฝีมะม่วงให้เป็นแผลยาว ๆ เพราะจะทำให้แผลหายช้า อาจทำให้เกิดเป็นรอยทะลุที่มีหนองไหลตลอดเวลา (Fistula) หรืออาจทำให้มีการอุดกั้นของทางเดินน้ำเหลืองในบริเวณนั้นได้)


การผ่าตัด 

  • ผู้ป่วยฝีมะม่วงที่เกิดก้อนฝี หรือต่อมน้ำเหลืองบวมโต แพทย์จะทำการเจาะเอาของเหลวบริเวณฝีออกมา เพื่อให้อาการของโรคฝีมะม่วงทุเลาลง

  • ในกรณีที่ผู้ป่วยบางรายมีอาการลำไส้ตรงตีบ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อย่างรุนแรง จำเป็นที่จะต้องได้รับการผ่าตัด


การรักษาแบบประคบฝี

  • ประคบอุ่นบริเวณที่ปวด บวม แดง โดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นจัด ๆ บิดผ้าให้แห้ง แล้ววางลงบนตำแหน่งที่มีอาการปวดครั้งละประมาณ 10-15 นาที  และทำซ้ำทุกๆ 8 ชม

  • หมั่นดูแลรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและขาหนีบ หรือถ้าฝีแตกแล้วก็ให้รักษาความสะอาดบริเวณนั้นให้ดี


นอกจากนี้  หลังได้รับการรักษาแล้ว ผู้ป่วยควรงดการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยจนกว่าจะหายดี รวมทั้งควรมาพบแพทย์เพื่อติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอจนกว่าอาการของการติดเชื้อจะหายเป็นปกติ


โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ในคนทั่วไปที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายปกติ แต่ในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ เช่น เป็นโรคเอดส์ ก็จะมีแนวโน้มการติดเชื้อซ้ำ หรือรักษาแล้วไม่หายขาด อาจต้องเปลี่ยนชนิดของยาปฏิชีวนะ โดยการตรวจเพาะเชื้อเพื่อหาการตอบสนองของโรคต่อยาปฏิชีวนะชนิดต่าง ๆ

ภาพประกอบ: วิธีการป้องกันโรคฝีมะม่วง รู้จักกับมาตรการทางการแพทย์และการป้องกันทางสุขภาพที่มีเพื่อป้องกันโรคฝีมะม่วง ด้วยความเข้าใจและการรักษาอย่างเหมาะสม
การป้องกันโรคฝีมะม่วง

การป้องกันโรคฝีมะม่วง

  • สวมถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์.

  • เลี่ยงการสัมผัสผิวหนัง แผล หรือสารคัดหลั่งที่บริเวณอวัยวะเพศ

  • ควรตรวจร่างกายของตนเองและคู่นอนให้มั่นใจว่าปลอดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ

  • เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดอื่น ๆ เนื่องจากการใช้สารเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มมึนเมาจะทำให้ขาดสติ ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่เสี่ยงติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่าย เช่น ลืมใส่ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ 

  • ควรรักษาความสะอาดของอวัยวะเพศ (ฟอกล้างด้วยสบู่) หลังการร่วมเพศทันทีทุกครั้ง (การดื่มน้ำก่อนร่วมเพศและถ่ายปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ หรือการฟอกสบู่ทันทีหลังร่วมเพศ อาจช่วยลดการติดเชื้อลงได้บ้าง แต่ไม่ใช่ว่าจะได้ผลทุกราย)

  • หมั่นออกกำลังกาย และรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน

 

โรคฝีมะม่วงเป็นโรคที่มีความสัมพันธ์กับโรคติดต่อทางเพศได้หลายๆ โรค เช่น โรคเอดส์ โรคหนองใน และโรคซิฟิลิส ซึ่งโรคฝีมะม่วงเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ และการรับการรักษาทันที เมื่อมีอาการหรือมีความเสี่ยง เพื่อป้องกันการพัฒนาของโรคที่ทำให้เกิดอาการของโรคที่รุนแรง และลดโอกาสของการติดเชื้อใหม่ในอนาคต รวมถึงการป้องกันการแพร่เชื้อโรคไปยังผู้อื่นได้


Comments


bottom of page