top of page
Siri Writer

การรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวี

Updated: Dec 27, 2023

เมื่อมีการตรวจพบเชื้อเอชไอวีในตัวผู้ป่วย โดยการติดเชื้อเอชไอวีไม่เพียงส่งผลกระทบแค่ทางด้านร่างกาย แต่ยังส่งผลกระทบทางด้านจิตใจของผู้ป่วยเองด้วย เช่น  มีการตีความผิดเพี้ยน เกิดความกดดัน และปัญหาในการยอมรับว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวี ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตได้ในที่สุด ฉะนั้นการรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ติดเชื้อดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีความสุข และมีคุณภาพ

ภาพแสดงวิธีการจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยการรับมือทั้งทางร่างกายและจิต
การรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวี

สุขภาพจิต คืออะไร?

สุขภาพจิต (Mental Health) หมายถึง ภาวะจิตใจที่เป็นสุข สามารถปรับตัวแก้ปัญหา สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ มีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานได้ รวมทั้งมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง และผู้อื่น ด้วยความมั่นคงทางจิตใจ หรือมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ในสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ โดยไม่รู้สึกอึดอัดใจ 


หากสุขภาพจิตไม่ดี คือ มีการจัดการความรู้สึก คิด การกระทำ หรือรับมือกับความเครียดนั้นทำได้ยาก ซึ่งสุขภาพจิตไม่ดี ก็เหมือนกับความเจ็บป่วยทางจิต โดยอาจส่งผลให้เกิดความบกพร่องเล็กน้อย ปานกลาง หรือรุนแรง ซึ่งอาจจำกัด หรือรบกวนการทำงานในด้านใดด้านหนึ่งของชีวิตหรือมากกว่า  เช่น โรคความเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD) โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว และโรคจิตเภท เป็นต้น


ซึ่งการดูแลสุขภาพจิตให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ถือเป็นเรื่องปกติที่ผู้ติดเชื้อ จะรู้สึกเครียด ซึมเศร้า และวิตกกังวลเป็นอย่างมากหลังจากทราบว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา รวมถึงเข้าร่วมกลุ่มพูดคุยให้คำปรึกษาต่าง ๆ เพื่อรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ คลายความกังวล และเสริมสร้างกำลังใจจากผู้ที่เห็นอกเห็นใจหรือมีประสบการณ์เดียวกัน 

รูปภาพแสดงปัญหาสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวี การทำนายการแสดงอาการภาวะจิตที่เกิดขึ้นในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี เน้นทั้งทางร่างกายและจิต
ปัญหาสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวี

ปัญหาสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวี

ปัญหาสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวี โดยแบ่งตามอาการทางจิตที่เกิดขึ้นได้ดังนี้ 


เกิดจากพยาธิสภาพทางสมอง หรือทางกาย จากการติดเชื้อเอชไอวี

อาการที่พบได้บ่อยในผู้ติดเชื้อเอชไอวี แม้แต่กลุ่มที่ยังไม่มีอาการแสดงอื่นๆของโรคเอดส์ชัดเจน ก็อาจมีอาการทางสมองได้ กลุ่มอาการทางจิตที่พบบ่อยจากการติดเชื้อเอชไอวี ได้แก่ อาการสมองเสื่อมจากโรคเอดส์ (AIDS dementia), organic mood disorder, และ organic personality disorder นอกจากนี้ยังอาจพบอาการแสดงอื่นๆ เช่น acute delirium, อาการโรคจิต, และ mania ได้ด้วย

 

สาเหตุนอกจากการติดเชื้อเอชไอวี แล้ว ยังอาจเกิดจากโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น toxoplasmosis, cryptococcal meningitis, lymphoma, และวัณโรค

อาการสมองเสื่อมจากโรคเอดส์ (AIDS dementia) เป็นอาการทางระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุด โดยมีอาการและอาการแสดงที่สำคัญ ดังนี้

  • อาการที่พบบ่อย ความจำเสื่อม สมาธิลดลง apathy แยกตัว ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม psychomotor retardation, ขาดความกระตือรือล้น ปวดศรีษะ(มักไม่รุนแรง)

  • อาการที่พบได้บ้าง motor deficits, อาการชัก อาการทางจิตเวชต่าง ๆ เช่น อาการหลงผิด ประสาทหลอน

  • อาการที่พบได้น้อย decreased level of consciousness, aphasia, apraxia


เกิดจากการปรับตัวกับปัญหาที่เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี และการเจ็บป่วย

อาการที่พบได้บ่อย คือ adjustment disorder, โรคอารมณ์เศร้า, และโรควิตกกังวล นอกจากนี้อาจพบปัญหาการใช้สารเสพติด และบุคลิกภาพผิดปกติ ซึ่งอาจพบในกลุ่มผู้ติดเชื้อบางกลุ่มได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการถึงขั้นโรคจิต (brief psychosis) ได้ แต่พบได้น้อย

ภาพแสดงเหตุผลที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีความเสี่ยงสูงที่จะพบปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงปัจจัยทางสังคม, การจัดการกับการติดเชื้อ, และภาวะสภาพร่างกายที่ส่งผลต่อสภาพจิต
เหตุใดผู้ติดเชื้อเอชไอวีจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิต

เหตุใดผู้ติดเชื้อเอชไอวี จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิต

ทุกคนสามารถมีปัญหาสุขภาพจิตได้ แต่ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากความเครียดที่เกี่ยวข้องกับการมีเชื้อเอชไอวี เช่น ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี มีโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่าคนที่ไม่มีเชื้อเอชไอวีเป็นสองเท่า สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่าความผิดปกติทางจิตสามารถรักษาได้ ผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตสามารถฟื้นตัวได้ ฉะนั้นการดูแลให้คำปรึกษาแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทั้งก่อน และหลังสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี จึงมีความสำคัญดังนี้


การให้คำปรึกษาก่อนการตรวจหาเชื้อเอชไอวี

  • ประเมินเหตุผลที่ทำให้ผู้รับบริการมาขอรับการตรวจ และสำรวจพฤติกรรมเสี่ยง

  • ประเมินความเข้าใจเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวี และโรคเอดส์ แล้วให้ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่ยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไม่ถูกต้อง

  • ประเมินความเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี และความหมายของผลการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ทั้งในกรณีผลบวก และผลลบ โดยเฉพาะเรื่อง window period

  • อภิปรายถึงผลดีผลเสียของการตรวจหาเชื้อเอชไอวี และผลกระทบจากการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ทั้งกรณีที่ผลเป็นบวก และเป็นลบ

  • ประเมินความคาดหวังของผู้มารับบริการต่อการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ว่าเขาคิดว่าผลจะออกมาอย่างไร และประเมินความพร้อมและความสามารถของผู้รับบริการในการปรับตัว หากผลเป็นบวก ช่วยให้ผู้รับบริการสามารถตัดสินใจได้ว่าตนจะทำการตรวจหาเชื้อเอชไอวีหรือไม่

  • อภิปรายเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงและวิธีการที่จะลดพฤติกรรมเสี่ยง

  • ตกลงรายละเอียดเกี่ยวกับการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อเอชไอวี และการฟังผล

  • เปิดโอกาสให้ผู้มารับบริการซักถามปัญหา และข้อข้องใจ

  • สร้างความสัมพันธ์ เพื่อเป็นพื้นฐานในการให้การปรึกษาหลังการตรวจหาเชื้อเอชไอวี


การให้คำปรึกษาหลังตรวจหาเชื้อเอชไอวี ในกรณีที่ผลการตรวจเลือดเป็นลบ

  • ทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลเลือด โดยเฉพาะเรื่อง window period

  • ประเมินความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการติดเชื้อ และพฤติกรรมเสี่ยงและให้ข้อมูลเพิ่มเติม

  • ช่วยให้ผู้รับบริการสามารถแสวงหาแนวทางลดพฤติกรรมเสี่ยงของตนเองได้


การให้คำปรึกษาหลังตรวจหาเชื้อเอชไอวี ในกรณีที่ผลการตรวจเลือดเป็นบวก

  • เตรียมความพร้อมของผู้รับบริการโดยถามถึงความรู้สึกในช่วงรอฟังผล และการคาดการณ์ของเขา แจ้งผลให้ทราบ ด้วยท่าทีสุภาพ แสดงความเห็นใจ แต่ใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนไม่อ้อมค้อม วกวน ให้เวลาผู้รับบริการปรับตัวกับการรับความจริง โดยไม่รีบปลอบใจ หรือพูดต่อเรื่องอื่น เช่นให้ข้อมูล มีความเข้าใจและยอมรับปฏิกริยาทางจิตใจและอารมณ์ต่างๆของผู้รับบริการ เช่น การปฏิเสธความจริง

  • แสดงความเข้าใจ เห็นใจ โดยพูดสะท้อนความรู้สึกของผู้รับบริการตามที่สังเกตเห็น และช่วยให้ผู้รับบริการแสดงความรู้สึกต่างๆ ที่มีต่อการทราบความจริง ออกมาได้อย่างเต็มที่

  • ตรวจสอบ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของการมีเลือดบวก

  • ถามถึงปัญหาที่ผู้รับบริการรู้สึกกังวลใจมากที่สุดหลังจากทราบผลเลือด

  • ตรวจสอบความคิดอยากฆ่าตัวตาย

  • ช่วยผู้รับบริการหาวิธีการในการปรับตัวกับปัญหาต่างๆที่กังวล และปัญหาในทางปฏิบัติบางเรื่อง เช่นควรจะบอกผลให้ใครทราบบ้าง เพราะเหตุใด

  • พูดคุยเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพตนเอง และการป้องกันการแพร่เชื้อ และรับเชื้อเพิ่ม พูดคุยถึงแผนการเฉพาะหน้า ว่าจะทำอะไรเมื่อออกจากห้องตรวจไปแล้ว เพราะจะเป็นช่วงที่รู้สึกสับสนมากที่สุด

  • เปิดโอกาสให้ซักถามปัญหาและข้อข้องใจ และสร้างความสัมพันธ์ เพื่อเป็นพื้นฐานในการดูแลต่อไป พร้อมกับให้ความมั่นใจว่าจะให้การดูแลอย่างต่อเนื่อง

ภาพแสดงกระบวนการการรักษาสุขภาพจิตสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี การให้บริการทางจิตเวชและการดูแลที่เน้นทั้งทางร่างกายและจิต การสนับสนุนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยผู้ติดเชื้อเอชไอวี
การรักษาสุขภาพจิตสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี

การรักษาสุขภาพจิตสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี

การรักษาสุขภาพจิตสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี สามารถทำได้ดังนี้

  • ควรปรึกษาแพทย์  ซึ่งแพทย์อาจสั่งจ่ายยาเพื่อช่วยรักษาโรคซึมเศร้า หรือวิตกกังวล หรือส่งคุณไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต

  • หากกำลังรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส (ART)  ซึ่งยาต้านไวรัสบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้า วิตกกังวล และรบกวนการนอนหลับ และอาจทำให้ปัญหาสุขภาพจิตแย่ลงได้ ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงของยา เพื่อเปลี่ยนยา หรือการรักษาเอชไอวี

  • ถ้าสาเหตุมาจากอาการทางสมอง เช่น การใช้ยา AZT อาจช่วยลดอาการทางสมองจากการติดเชื้อเอชไอวี ให้มีความรุนแรงน้อยลง หรือชลอให้อาการแย่ลงช้ากว่าเดิมได้ การรักษาโรคแทรกซ้อนต่างๆ

  • การให้การช่วยเหลือด้านจิตใจ ควรพิจารณาตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย โดยอาจเป็นการทำจิตบำบัดรายบุคคล หรือทำจิตบำบัดกลุ่มก็ได้ ที่ใช้บ่อยคือการให้การปรึกษา ปัญหาสำคัญๆที่พบได้บ่อยคือ ความรู้สึกสูญเสีย ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย ความตาย และปัญหาอื่นๆที่เกิดจาการเจ็บป่วย เช่นปัญหาในการทำงาน ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาในครอบครัว การถูกสังคมรังเกียจ และการติดโรคของบุคคลใกล้ชิด


ผู้ติดเชื้อเอชไอวี สามารถทำให้สุขภาพจิตของตนเองดีขึ้นได้อย่างไร?

การดูแลสุขภาพจิตเป็นส่วนสำคัญของการให้ความดูแลต่อผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี นี่คือวิธีที่ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น

  • พูดคุยเปิดใจ กับเพื่อน หรือคนในครอบครัว เพื่อเปิดเผยความรู้สึก  ช่วยสร้างความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ จากคนที่อยู่ใกล้คุณ.

  • เข้าร่วมกลุ่มสนับสนุนสำหรับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี

  • การออกกำลังกาย สามารถช่วยให้ร่างกายและจิตใจคลายความเครียดและภาวะซึมเศร้าได้ การออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเดิน ขี่จักรยาน วิ่ง ว่ายน้ำ หรือกิจกรรมอื่นๆ 

  • การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ 

  • นอนหลับให้เพียงพอ

  • การทำจิตใจให้สงบ เช่น การนั่งสมาธิ หรือทำสมาธิจินตนาการถึงสิ่งที่ทำให้รู้สึกสงบ สบาย จนลืมเรื่องกังวลใจ เป็นต้น

  • ลดหรือเลิกแอลกอฮอล์และยาเสพติด


การแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีนั้น มีความสำคัญและจำเป็นในกระบวนการดูแลสุขภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพราะการดูแลสุขภาพจิตควบคู่ไปกับการรักษาเอชไอวี ด้วยการปรับเปลี่ยนสมดุล ให้มีความยืดหยุ่นระหว่างรักษาทางการแพทย์ และการดูแลสุขภาพจิต ด้วยการปรับเปลี่ยนยาให้เป็นไปตามอาการของโรค พร้อมกับการรักษาทางสุขภาพจิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทำให้การรับมือของผู้ติดเชื้อเอชไอวี เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Comments


bottom of page