โรคหูดข้าวสุกเป็นโรคที่ไม่รุนแรง เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และติดต่อจากคนสู่คนได้ ผ่านทางการสัมผัส หรือการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งผู้ติดเชื้อสามารถหายเองได้ภายใน 6–12 เดือนโดยไม่ต้องรับการรักษา แต่บางรายอาจกินเวลานานกว่านั้น การเข้ารับการรักษาจะช่วยป้องกันการกระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ โดยเฉพาะคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ดังนั้นการเรียนรู้การป้องกันอันตรายจากโรคหูดข้าวสุกจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อที่ทุกคนจะได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับโรค การปฏิบัติตนเมื่อเกิดการติดเชื้อ และการป้องกันอันตรายจากโรค เพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรง และปลอดภัย
โรคหูดข้าวสุก คืออะไร?
โรคหูดข้าวสุก (Molluscum Contagiosum) คือ การติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดตุ่มเนื้อ และมีรอยนูนขนาดเล็กบนผิวหนังชั้นนอกทั่วร่างกาย ยกเว้นฝ่ามือและฝ่าเท้า โดยโรคหูดข้าวสุก เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่สามารถส่งต่อไปยังบุคคลอื่นได้ ผ่านทางการสัมผัส หรือการมีเพศสัมพันธ์ ส่วนมากมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ และยิ่งในสภาพอากาศที่ร้อนชื้นเชื้อไวรัสชนิดนี้จะยิ่งเติบโตได้ดี จึงมีโอกาสจะเกิดอาการแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้น
สาเหตุโรคหูดข้าวสุก
สาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสมอลลัสคุม คอนทาจิโอซุม (Molluscum Contagiosum Virus) เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่อยู่ในกลุ่มพอกซ์ไวรัส (Poxvirus) มักเกิดขึ้นบริเวณชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ที่เป็นผิวหนังชั้นนอกเท่านั้น โดยมีการแพร่เชื้อผ่านการสัมผัสโดนบริเวณที่มีเชื้อโดยตรง หรือสิ่งของที่มีการปนเปื้อน รวมไปถึงการสัมผัสถูกเชื้อขณะมีเพศสัมพันธ์ จึงถือว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Disease: STD) ได้เช่นกัน และเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว เชื้อสามารถแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายได้ โดยการสัมผัสส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ระยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการ) : ประมาณ 2–7 สัปดาห์ไปจนถึง 6 เดือน
ใครที่มีความเสี่ยงติดเชื้อหูดข้าวสุก
ปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ การสัมผัสกับรอยโรค หรือสิ่งของที่มีเชื้อหูดข้าวสุก ดังนี้
ผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ
ผู้ที่ใช้สิ่งของส่วนตัวรวมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า เสื้อผ้า รองเท้า
ผู้ที่มีการสัมผัสบริเวณที่มีเชื้อโดยตรงกับร่างกายของผู้ติดเชื้อ
ผู้สัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ
ผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือโรคผิวหนังอื่น ๆ ที่เป็นผื่นแล้วต้องเกาบ่อย ๆ
ผู้ที่อยู่อาศัยในโซนเขตร้อน
ผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ
อาการโรคหูดข้าวสุก
ผู้ที่ได้รับเชื้อจะพบตุ่มเนื้อเกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง อาจจะเป็นตุ่มเดียวหรือหลาย ๆ ตุ่ม อยู่บริเวณเดียวกัน ตุ่มหูดข้าวสุกนี้จะไม่มีอาการเจ็บ โดยจะมีลักษณะดังนี้
ตุ่มมีขนาดเล็กประมาณ 2–5 มิลลิเมตร ผิวสัมผัสมีความเงาและเรียบ
เป็นตุ่มสีเนื้อที่ผิวหนัง ไม่มีอาการคันหรือเจ็บ
ตุ่มมีสีเนื้อเช่นเดียวกับผิวหนัง มีสีขาวหรือชมพู
ลักษณะเป็นตุ่มเนื้อนูนกลมที่มีรอยบุ๋มอยู่ตรงกลาง
ตุ่มอาจอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือเรียงกันเป็นแนวยาว
มีของเหลวเหนียวอยู่ภายในตุ่มเนื้อ ถ้าสะกิดและกดตุ่มออกจะได้เนื้อสีขาวขุ่นคล้ายข้าวสุก
ตุ่มเนื้อของผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแออาจจะมีขนาดใหญ่ถึง 15 มิลลิเมตร
สามารถเกิดได้ทุกบริเวณของร่างกาย แต่จะไม่เกิดบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า มักพบบริเวณใบหน้า ท้อง ลำตัว แขน ขา อวัยวะเพศ ต้นขาด้านใน ผิวหนังที่สัมผัสหรือเสียดสีกันบ่อยอย่างข้อพับ
ในรายที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง อาจมีอาการผื่นแดงคันบริเวณหูดข้าวสุกร่วมด้วย ซึ่งอาการผื่นแดงคันนี้ จะหายไปเมื่อทำการรักษาหูดข้าวสุก
ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือเป็นโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อระบบคุ้มกันภายในร่างกายอาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น ตุ่มเหล่านี้อาจขยายใหญ่ได้ถึง 15 มิลลิเมตร และอาจทำการรักษาได้ยากมากขึ้น
ในผู้ป่วยโรคเอดส์ ปริมาณของหูดข้าวสุก จะเกิดมากกว่าในคนที่ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ และมักดื้อต่อการรักษา
โดยปกติ (คนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ) หูดข้าวสุกนั้น สามารถหายได้เองแม้ไม่ได้ทำการรักษาที่ระยะเวลาประมาณ 2-9 เดือน มีส่วนน้อยมากที่อาศัยเวลา 2-3 ปีจึงหาย
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหูดข้าวสุก
หากมีการแกะหรือขูดรอยโรคด้วยตนเองซึ่งอาจทำให้แผลเกิดการติดเชื้อหรือแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นได้ง่าย
หากผู้ติดเชื้อมีอาการของโรคภูมิแพ้ทางผิวหนังอยู่แล้ว อาจทำให้เกิดผื่นแดงและมีอาการคันร่วมด้วยได้ หรือหากตุ่มหูดข้าวสุกขึ้นรอยโรคบริเวณเปลือกตา อาจส่งผลให้เกิดเยื่อตาอักเสบร่วมด้วย
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคหูดข้าวสุกแล้วหนึ่งครั้ง ก็สามารถติดเชื้อไวรัสนี้ซ้ำได้อีก
การวินิจฉัยโรคหูดข้าวสุก
แพทย์จะวินิจฉัยโรคเบื้องต้นด้วยการซักถามประวัติ ลักษณะอาการของโรค และการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย เพื่อยืนยันการติดเชื้อได้แม่นยำมากขึ้น เช่น
ตรวจดูบริเวณผิวหนังที่มีการติดเชื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์
การขูดผิวหนัง (Skin Scraping)
การเก็บตัวอย่างจากบริเวณรอยโรคอย่างชัดเจนไปตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ (Biopsy)
ในกรณีที่มีการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศ แพทย์อาจมีการตรวจถึงความเป็นไปได้ในการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ อย่างโรคเริมด้วย
การรักษาโรคหูดข้าวสุก
โดยปกติอาการของโรคหูดข้าวสุกสามารถดีขึ้นได้เองภายใน 6–12 เดือน แต่อาจมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาของโรคให้เกิดเป็นระยะเวลานานถึง 5 ปี การรักษาทำได้หลายวิธีหรืออาจใช้หลายวิธีร่วมกัน ขึ้นอยู่กับขนาด จำนวน และตำแหน่งของหูดที่เกิดภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ ดังนี้
การใช้ยาทาที่มีฤทธิ์เป็นกรดเพื่อช่วยทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ เช่น ยาทาที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) โพแทสเซียม ไฮดรอกไซด์ (Potassium Hydroxide) ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) หรือเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) นอกจากนี้ ยังมียาในรูปแบบเจลหรือครีมที่มีส่วนผสมของเรตินอยด์ (Retinoids) เช่น ทาซาโรทีน (Tazarotene) อะดาพาลีน (Adapalene) และเตรติโนอิน (Tretinoin)
การให้ยาชนิดรับประทานจำพวก cimetidine ซึ่งเป็นยารักษาหูดข้าวสุก
การจี้ด้วยความเย็น (Cryotherapy, Cryosurgery) เป็นอีกรูปแบบของการใช้ไนโตรเจนเหลว (Liquid Nitrogen) ที่มีความเย็นจัดในการทำลายหูด
การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ (Pulsed Dye Laser Therapy) เป็นแสงเลเซอร์ชนิดที่รักษาความผิดปกติของเส้นเลือดบนผิวหนังที่นิยมใช้โดยแพทย์ผิวหนัง
สำหรับผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้ใหญ่ แพทย์จะแนะนำให้เอาหูดออกมากกว่ารอให้หายไปเอง เพราะอาจแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องจากเชื้อเอชไอวี หรืออยู่ในช่วงการใช้ยารักษาโรคมะเร็ง จำเป็นต้องรักษาด้วยการเอาหูดออก เพราะเมื่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่องอาจส่งผลให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้นและรักษาได้ยากกว่าคนปกติ
การป้องกันโรคหูดข้าวสุก
การป้องกันการติดเชื้อไวรัสหูดข้าวสุกที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนเองสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อให้มากที่สุด โดยสามารถป้องกันเชื้อได้ ดังนี้
หมั่นล้างมือ ด้วยน้ำ และสบู่ โดยเฉพาะหลังการจับสิ่งของที่เป็นส่วนรวม จะช่วยป้องกันและการแพร่กระจายของเชื้อได้ดี ไม่เพียงแต่เฉพาะเชื้อโรคชนิดนี้ แต่ยังรวมไปถึงเชื้อโรคชนิดอื่นด้วย
หลีกเลี่ยงการแคะ แกะเกา หรือสัมผัสบริเวณผิวหนังของคุณที่มีตุ่มอยู่แล้ว
หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน ได้แก่ ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า หวี ที่โกนหนวด แปรงสีฟัน หรือแม้กระทั่งสบู่ก้อน
หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์กีฬาร่วมกัน เพราะนั่นอาจจะเป็นการสัมผัสโดยตรงกับผิวหนังของผู้อื่น
ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันเป็นประจำ โดยเฉพาะอุปกรณ์ในสถานที่ที่ใช้ร่วม กัน เช่น สถานออกกำลังกาย
หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หากมีหูดข้าวสุกบริเวณใกล้อวัยวะ เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ
หลีกเลี่ยงการโกนหนวดด้วยเครื่องโกนหนวดไฟฟ้าบริเวณที่ปรากฎตุ่ม
รักษาความสะอาดบริเวณที่เป็นตุ่มเพื่อเป็นการป้องกันตัวของคุณเองรวมถึงผู้อื่นจากการสัมผัสและการแพร่กระจายเชื้อไวรัส
ดูแลร่างกายให้มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง
ผู้ที่มีข้อสงสัยยังไม่สามารถหาคำตอบได้แน่ชัดว่าตนเป็นหูดข้าวสุกหรือไม่ สามารถเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์โรคผิวหนังได้เลย เพื่อความสบายใจทั้งสำหรับตนเองและคนรอบตัว
นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรดูแลตนเองเพื่อไม่ให้แพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นดังนี้
ปกปิดบริเวณที่เป็นหูดด้วยการติดพลาสเตอร์ หรือสวมเสื้อปกคลุมให้ปิดมิดชิด เพื่อไม่ให้ตนเองแกะหรือเกา และลดโอกาสการสัมผัสกับเชื้อโดยตรงได้มากขึ้น
หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของสาธารณะหรือแบ่งปันของใช้ส่วนตัวรวมกับผู้อื่น
หากมีเพศสัมพันธ์ควรสวมถุงยางอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ ยกเว้นแต่เกิดหูดข้าวสุกบริเวณใกล้อวัยวะเพศที่ควรงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์
การเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีป้องกันอันตรายจากโรคหูดข้าวสุก เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญที่จะสร้างความตระหนัก และการรับรู้ที่เข้มแข็งในเรื่องสุขภาพของเราเอง และสังคมที่เราอาศัยอยู่ การรู้เรื่องโรคหูดข้าวสุก ไม่เพียงเพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ แต่ยังเสริมสร้างความเข้าใจในการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และป้องกันการกระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น
Comments