ปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงเพิ่มมากขึ้น โดยพบว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากที่มีโรคประจำตัว เช่น มีเชื้อเอชไอวี และโรคซิฟิลิส แล้วมาติดเชื้อโรคฝีดาษลิง หรือผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่ปัจจัยในการติดเชื้อโรคฝีดาษลิง คือ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันกับผู้ที่ไม่ใช่คู่สมรสของตนเอง และการมีเพศสัมพันธ์แบบชายรักชาย ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่แล้ว ยิ่งทำให้อาการมีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นหากพบความผิดปกติ เช่น มีตุ่ม ผื่น บริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือบนผิวหนังช่วงใดก็ตาม ควรรีบพบแพทย์โดยทันที
โรคฝีดาษ และโรคฝีดาษลิง แแตกต่างกันอย่างไร?
ทั้ง 2 โรคนี้ แม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มไวรัสเดียวกัน แต่เป็นคนละชนิด โรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ จัดเป็นกลุ่มโรคไข้ออกผื่น กินระยะเวลานาน 2-4 สัปดาห์ เช่นเดียวกับไข้ฝีดาษลิง โดยจะเป็นไวรัส Othopoxvirus กลุ่มเดียวกัน แต่จัดเป็นคนละชนิดกัน ทั้งลักษณะการติดต่อ และความรุนแรงของโรค พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
เชื้อไวรัสของโรคไข้ทรพิษจะอยู่ในคนเป็นหลัก โดยจะมีการติดต่อจากคนสู่คนเท่านั้น โดยติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจเพียงอย่างเดียว สามารถติดต่อกันง่ายมาก โดยผ่านละอองฝอยเล็กๆ ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้อย่างเป็นวงกว้าง ซึ่งแตกต่างจากไข้ฝีดาษลิง ที่ติดต่อกันผ่านการสัมผัส โดนสามารถรติดต่อจากสัตว์สู่คน และจากคนสู่คน และพบว่าผู้ป่วยโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าฝีดาษลิง หากสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ได้รับเชื้อฝีดาษ อาจส่งผลถึงขั้นแท้งบุตรในครรภ์ได้
โรคฝีดาษลิง คืออะไร?
โรคฝีดาษลิง หรือโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) เป็นโรคที่ใกล้เคียงกับโรคอีสุกอีใส หรือไข้ทรพิษ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า โดยพบเชื้อในสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระแต เป็นหลัก โดยค้นพบโรคนี้ครั้งแรกในลิง ซึ่งไปรับเชื้อมาโดยบังเอิญ จึงเป็นที่มาของชื่อโรคฝีดาษลิงโรคฝีดาษลิงแพร่ระบาดอยู่ทั่วไปในทวีปแอฟริกา จนกลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic disease)ซึ่งเชื้อไวรัสนี้แพร่เชื้อไปยังสัตว์อื่น และสามารถแพร่จากสัตว์ไปสู่คนได้และเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศในแถบแอฟริกา แต่ในช่วงที่ผ่านมากลับพบการระบาดของโรคในประเทศแถบแอฟริกาและยุโรปมากขึ้น
สาเหตุโรคฝีดาษลิง
สาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส Orthopoxvirus ในวงศ์ Poxviridae ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) โดย โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเชื้อนี้มักจะอยู่ในสัตว์ในตระกูลลิง และฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระต่าย มักจะพบในป่าดิบชื้นบริเวณตอนกลางและทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา
โดยสายพันธุ์หลักของโรคฝีดาษลิง แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก ดังนี้
สายพันธุ์ Congo Basin หรือ สายพันธุ์แอฟริกากลาง มีความรุนแรงมาก อาจถึงขั้นเสียชีวิต พบอัตราการเสียชีวิต 10%
สายพันธุ์ West African หรือ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกากลางมาก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ ณ ขณะนี้ ทั่วไปในทวีปยุโรป พบอัตราการเสียชีวิต 1%
ระยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการ) :ประมาณ 7-14 วัน อาจจะใช้เวลานานถึง 24 วัน ในบริเวณต่อมน้ำเหลือง
โรคฝีดาษลิง ติดต่อได้อย่างไร?
โดยเชื้อโรคฝีดาษลิง สามารถติดต่อได้ ดังนี้
จากสัตว์สู่คน
สามารถติดต่อได้จากสัตว์ในตระกูลลิง และฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระต่าย
จากการสัมผัสสารคัดหลั่ง และเลือดผ่านทางผิวหนัง เช่น เลือด น้ำหนอง น้ำมูก ตุ่มหนองของสัตว์ ผื่นสัตว์ หรือแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ
ถูกสัตว์ที่ติดเชื้อกัด หรือขีดข่วน
การรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์ติดเชื้อและปรุงไม่สุก
จากคนสู่คน
โดยการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งอย่างไอ จาม ผื่น ตุ่มหนอง น้ำหนอง เลือด สิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อของผู้ป่วย
ใช้สิ่งของร่วมกัน กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคฝีดาษลิง
ได้รับเชื้อผ่านระบบทางเดินหายใจจากผู้ติดเชื้อ การติดเชื้อผ่านละอองฝอยมักต้องใช้เวลาในการสัมผัสตัวต่อตัว จึงทำให้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่อยู่อาศัยร่วมกับผู้ติดเชื้อเพิ่มโอกาสติดเชื้อมากขึ้น
มีโอกาสติดเชื้อจากแม่สู่ทารกผ่านทางรก หรือระหว่างคลอด
กลุ่มชายรักร่วมเพศจำนวนมากซึ่งมีรอยโรคบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ และใกล้อวัยวะสืบพันธุ์ หรือติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือจากการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างกิจกรรมทางเพศ
ใครที่มีความเสี่ยงติดเชื้อฝีดาษลิง
ผู้ที่อาศัย หรือมีการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาด เช่น ในประเทศแถบแอฟริกา
ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ หรือผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
ผู้ที่มีการสัมผัสโดยตรงกับรอยโรค ตุ่มหนอง หรือสารน้ำในตุ่มหนองที่แตกออกมา
ผู้ที่มีการสัมผัสสิ่งของ เช่น เสื้อผ้า หรือของใช้ที่มีสารคัดหลั่งปนเปื้อน
ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ หรือกิจกรรมทางเพศ กับผู้ติดเชื้อ
ผู้อยู่อาศัยร่วมกับผู้ติดเชื้อ
บุคลากรทางการแพทย์
นักวิจัยที่มีการทำวิจัยเกี่ยวกับเชื้อฝีดาษลิง
ผู้อาศัยติดเขตป่ามีโอกาสสัมผัสกับสัตว์ติดเชื้อมากขึ้น
อาการโรคฝีดาษลิง
โดยอาการจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ
ระยะก่อนออกผื่น
จะเริ่มภายในเวลาประมาณ 0-5 วัน มีไข้, ไข้สูง, ปวดศีรษะมาก, ต่อมน้ำเหลืองโต, ปวดตัว, ปวดหลัง, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลียมาก ภาวะต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของโรคฝีดาษวานร โดยสามารถเกิดขึ้นได้ตามจุดต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะจุดที่ไปสัมผัสโรคตามผิวหนัง เช่น คอ ไหปลาร้า ข้อศอก รักแร้ เป็นต้น หรือผ่านทางเยื่อบุทางเดินหายใจ จากการพูดคุย สัมผัสใกล้ชิด การจูบ ได้เช่นกัน ซึ่งอาการต่อมน้ำเหลืองโตนี้จะเป็นอาการที่แตกต่างจากโรคอีสุกอีใส (Chickenpox), โรคหัด และโรคฝีดาษ ที่เป็นไข้ออกผื่นลักษณะเดียวกัน
ระยะออกผื่น ตุ่มหนอง
ปกติเริ่มภายใน 1-3 วันหลังจากเริ่มมีไข้ ตุ่มผื่นมักขึ้นหนาแน่นบนใบหน้าและแขนขามากกว่าลำตัว โดยผื่นจะมีขนาด 2-10 มิลลิเมตร ในช่วง 2-4 สัปดาห์ต่อมา สามารถเกิดตุ่มผื่นได้ทั้ง ใบหน้า ,ฝ่ามือฝ่าเท้า,เยื่อบุช่องปาก ,อวัยวะเพศ,เยื่อบุตา และกระจกตาก็ได้รับผลกระทบด้วยโดยผื่นเริ่มจากผื่นแดง จากนั้นค่อย ๆ เป็นเป็น ผื่นนูน (เป็นตุ่มแข็งนูนเล็กน้อย) กลายเป็นถุงน้ำ (มีของเหลวใสบรรจุอยู่ภายใน) เกิดตุ่มหนอง (มีของเหลวสีเหลืองบรรจุอยู่ภายใน) และเป็นฝี จนตุ่มหนองแตกและแห้งกลายเป็นสะเก็ด และอาจมีอาการท้องเสีย อาเจียน เจ็บคอ ไอ หอบเหนื่อยร่วมด้วย
ซึ่งในช่วงที่ผื่นเป็นตุ่มน้ำใส และตุ่มหนอง จะเป็นช่วงระยะเวลาที่สามารถแพร่เชื้อได้สูงสุด หากผื่นเริ่มตกสะเก็ดแล้ว ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการดีขึ้น จะถือว่าพ้นจากระยะการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น ผื่นของโรคฝีดาษลิงจะกินลึกถึงชั้นผิวหนังด้านใน ทำให้หลังจากผื่นตกสะเก็ดจะทำเกิดรอยโรคหรือรอยแผลเป็นได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคฝีดาษลิง
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะหายเองตามธรรมชาติ และจะมีอาการป่วยเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ แต่ บางรายที่ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคประจำตัวอาจมีภาวะแทรกซ้อนทำให้อาการรุนแรงอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนี้
อาจมีการติดเชื้อซ้ำที่บริเวณปอด เกิดภาวะปอดอักเสบ ลามไปสมองจนเกิดการอักเสบขึ้น
ติดเชื้อในกระแสเลือด
ติดเชื้อในระบบประสาท
ติดเชื้อที่กระจกตา มีความเสี่ยงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้
การวินิจฉัยโรคฝีดาษลิง
แพทย์เฉพาะทางจะพิจารณาจากอาการเป็นหลัก โดยเฉพาะอาการมีไข้ พร้อมกับตุ่มน้ำใส คือ สัญญาณชัดเจนของโรคฝีดาษลิง ซึ่งผู้ป่วยที่มีผื่น ควรได้รับการแยกจากโรคอื่นๆ เช่น ฝีดาษ สุกใส หิด ซิฟิลิส การติดเชื้อทางผิวหนัง และอาการแพ้ยาอื่นๆ และอาการต่อมน้ำเหลืองโตจะช่วยบ่งชี้โรคฝีดาษลิงจากโรคฝีดาษ และโรคอีสุกอีใสได้
แพทย์จะทำการตรวจ บริเวณรอยโรคทางผิวหนัง หรือของเหลวจากตุ่มน้ำ เพื่อส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการ โดยมีขั้นตอนการเก็บ และส่งต่อสิ่งส่งตรวจอย่างเหมาะสม และต้องระบุอาการและระยะเวลาการเกิดโรคของผู้ป่วยพร้อมสิ่งส่งตรวจด้วย ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนจากเชื้อในกลุ่มนี้มาก่อนอาจมีผลบวกลวงได้ ซึ่งการตรวจ มีดังนี้
การตรวจหาสารพันธุกรรม Real – Time PCR โดยระยะเวลาการตรวจอยู่ที่ 24 – 48 ชั่วโมง
การตรวจลำดับนิวคลิโอไทด์ด้วยเทคนิค DNA Sequencing ที่ใช้ระยะเวลาการตรวจ 4 – 7 วัน
การรักษาโรคฝีดาษลิง
ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงมักหายเองได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงแบบจำเพาะ แต่จะเป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ และควบคุมการเกิดภาวะแทรกซ้อน อัตราการเสียชีวิตของโรคนี้อยู่ที่ 1-10% ซึ่งต่ำกว่าไข้ทรพิษมาก
หากไม่ได้ทำการรักษาโรคฝีดาษลิง ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ ธรรมชาติของโรคจะหายได้เองภายใน 2 - 4 สัปดาห์
เนื่องจากการไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงเฉพาะ ทำได้เพียงการให้วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษภายใน 4 วันหลังสัมผัสเพื่อป้องกันการติดโรค และฉีดวัคซีนภายใน 14 วันเพื่อลดความรุนแรงของโรค วัคซีนเฉพาะสำหรับโรคฝีดาษลิง ชื่อว่า วัคซีน Ankara ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการให้วัคซีนโรคไข้ทรพิษ ซึ่งผลการรักษาจะมีประสิทธิภาพเพียง 85% รวมทั้งการให้ยาต้านไวรัส ได้แก่
Cidofovir
Tecovirimat
Brincidofovir
การรักษาแบบประคับประคอง
การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
การป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน
ดูแลผิวหนังที่ติดเชื้อ
หลีกเลี่ยงการแกะ เกาแผล หรือที่ผื่น
บริเวณที่เป็นผื่น ต้องมีการระบายอากาศ เพื่อไม่ให้ผิวหนังอับชื้น ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม
ไม่ควรปิดผื่นให้มิดชิด แต่ควรเปิดผื่นให้ระบายอากาศได้
ควรล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์ ก่อนและหลังการสัมผัสผื่น
ทำความสะอาดผื่นด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ
หากผื่นมีอาการปวด บวมแดง หรือเป็นหนอง แนะนำให้รีบพบแพทย์
การป้องกันโรคฝีดาษลิง
การป้องกันโรคฝีดาษลิงทำได้โดยสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยน้ำ และสบู่บ่อยๆ ใช้แอลกอฮอล์ล้างมือ และเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปาก เมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยงการแพร่ระบาด
การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ หรือไม่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ควรออกห่างจากผู้ติดเชื้อ ผู้ที่สงสัยเสี่ยงติดเชื้อ หรือมีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อ
ไม่นำมือไปสัมผัสผื่น ตุ่ม หนอง ของผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อ
หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ไม่ปรุงสุก
ระวังสัตว์กัด หรือข่วน
ไม่ใช้ของร่วมกับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง
หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ หรือสารคัดหลั่งของสัตว์ที่อาจเป็นพาหะ เช่น สัตว์ฟันแทะ ลิง แม้ว่าสัตว์ตัวนั้นจะตายไปแล้ว
ผู้ที่ทำงานในห้องวิจัยเกี่ยวกับเชื้อโรคและบุคลากรทางการแพทย์ควรมีการใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเองอย่างเหมาะสม จะสามารถลดความเสี่ยงของการติดโรคได้
การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
เฝ้าระวังอาการ 21 วันหลังกลับจากประเทศเขตติดโรค
โรคฝีดาษลิง เป็นโรคที่สามารถแพร่กระจายจากสัตว์สู่คน และคนสู่คน ทำให้การป้องกันโรคฝีดาษลิง มีความสำคัญที่ต้องมีการควบคุมการแพร่กระจายของโรคฝีดาษลิง โดยต้องปฏิบัติตามแนวทางป้องกันทางการแพทย์ และตามคำแนะนำของแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ การแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น ๆ และป้องกันการระบาดของโรคในแหล่งชุมชน หากมีอาการที่สงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง ควรปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพเพื่อข้อมูล และคำปรึกษาที่ถูกต้องเหมาะสม
Comments