top of page
Siri Writer

เตือนภัย! การสังเกตอาการโรคหนองในเทียม และวิธีป้องกัน

Updated: Dec 10, 2023

โรคหนองในเทียม เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งชาย และหญิง เกิดจากแบคทีเรีย รักษาได้ง่าย และหายขาดด้วยยาปฏิชีวนะ หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดปัญหาร้ายแรง รวมถึงภาวะมีบุตรยาก และการตั้งครรภ์นอกมดลูก ในสตรีมีครรภ์อาจทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนดได้ ซึ่งการป้องกันโรคหนองในเทียมเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรรู้และปฏิบัติ ความระมัดระวังในการมีกิจกรรมเพศสัมพันธ์ร่วมกับการตรวจสุขภาพประจำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคนี้ได้มากขึ้น  และการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้อง ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เป็นวิธีป้องกันโรคหนองในเทียมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

คำอธิบายภาพของเนื้อหา 'เตือนภัย! การสังเกตอาการโรคหนองในเทียม และวิธีป้องกัน' ในภาษาไทย
เตือนภัย! การสังเกตอาการโรคหนองในเทียม และวิธีป้องกัน

หนองในเทียม คืออะไร?

โรคหนองในเทียม (Non Gonococcal Urethritis) หรือ NSU โดยเกิดจากเชื้อโรคหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีลักษณะอาการคล้ายกับโรคหนองในแท้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมูกใส หรือหนองที่บริเวณอวัยวะเพศ โรคหนองในเทียมมักจะไม่ปรากฏอาการให้เห็นอย่างชัดเจน แต่มักจะก่อให้เกิดการทำลายระบบอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิงอย่างมาก จนอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก เป็นหมัน หรือตั้งครรภ์นอกมดลูกได้  ในผู้ชายอาการที่อาจพบได้ คือ มีน้ำลักษณะคล้ายหนองไหลออกจากอวัยวะเพศได้ อีกทั้งยังสามารถติดต่อทางทวารหนัก และช่องปากได้ด้วย ที่สำคัญเมื่อติดเชื้อโรคหนองในเทียมแล้ว จะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคเอดส์ และโรคซิฟิลิสได้มากกว่าคนทั่วไป 2-4 เท่า


สาเหตุโรคหนองในเทียม

สาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียตัวอื่นๆ ที่ไม่ใช่หนองในแท้ ได้แก่

  • เชื้อคลามัยเดีย ทราโคมาทิส (Chlamydia trachomatis) พบมากที่สุด และเป็นสาเหตุหลักของโรคหนองในเทียม

  • เชื้อยูเรียพลาสม่า พาร์วุ่ม (Ureaplasma urealyticum) / parvum พบรองลงมา

  • เชื้อไมโคพลาสมา เจนนิทัลเลียม Mycoplasma genitalium / hominis พบได้น้อย

โดยมักได้รับเชื้อมาจากการสัมผัสเยื่อบุช่องคลอด ปาก ทวารหนัก อวัยวะเพศ โดยมีการหลั่งน้ำอสุจิหรือไม่มีการหลั่งน้ำอสุจิก็ได้ และเกิดได้ในตำแหน่งของอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง รวมถึงทวารหนักด้วย สำหรับระยะอาการของโรคในเพศหญิง และเพศชายจะมีระยะฟักตัวที่แตกต่างกันและขึ้นอยู่กับบริเวณที่ติดเชื้อ

ระยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการ) : ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้น

  • เพศชายมักจะพบประมาณ 1- 3 วัน

  • เพศหญิงที่ติดเชื้อ มักไม่แสดงอาการมาก เหมือนเพศชาย พบประมาณ 10 วัน


ใครที่มีความเสี่ยงติดโรคหนองในเทียม

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะทางทวารหนัก ปาก หรือทางช่องคลอด

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน 

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์อายุน้อย โดยเฉพาะผู้หญิงที่เยื่อบุปากมดลูกยังไม่มีการพัฒนาอย่างเต็มที่ (มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นหากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาดังกล่าว) 

  • ผู้ที่มีประวัติเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

  • ผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย หรือผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง ก็สามารถติดหนองในเทียมได้

  • หนองในเทียมอาจติดต่อจากแม่สู่ลูกขณะมีการคลอดทางช่องคลอด

คำอธิบายภาพของอาการโรคหนองในเทียม: ลักษณะและเครื่องหมายทางทัศนศาสตร์ของโรคนี้ในภาพลักษณ์
อาการโรคหนองในเทียม

อาการโรคหนองในเทียม

อาการในช่วงแรกอาจจะยังไม่แสดงอาการให้พบเห็น หลังได้รับเชื้อแล้วในระยะเวลา 1-3 สัปดาห์ จะแสดงอาการแตกต่างกันออกไปตามเพศ ดังนี้

อาการหนองในเทียมในเพศชาย 

  • มีไข้ เจ็บคอ คอแห้ง 

  • ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว

  • มีมูกใส หรือขุ่นไหลออกจากปลายอวัยวะเพศ ซึ่งไม่ใช่ปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ

  • รอบๆ รูท่อปัสสาวะดูบวมแดง 

  • มีอาการระคายเคืองและคันบริเวณท่อปัสสาวะ

  • มีอาการอักเสบที่บริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ

  • รู้สึกเจ็บ หรือแสบที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ

  • รู้สึกปวด หรือมีการบวมที่ลูกอัณฑะ


อาการหนองในเทียมในเพศหญิง 

  • มีไข้ เจ็บคอ คอแห้ง 

  • ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว

  • มีตกขาวลักษณะผิดปกติและมีกลิ่นเหม็น

  • ประจำเดือนผิดปกติ

  • รู้สึกเจ็บ หรือแสบที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ 

  • รู้สึกคัน หรือแสบร้อนบริเวณรอบอวัยวะเพศ

  • รู้สึกเจ็บท้องน้อย หรือเจ็บที่กระดูกเชิงกราน เวลามีประจำเดือน หรือขณะมีเพศสัมพันธ์

  • มีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์  หรือบางรายมีเลือดออกช่วงที่ไม่มีประจำเดือน


อาการแสดง สำหรับการมีเพศสัมพันธ์ทางอื่น ๆ เช่น ทางทวารหนัก หรือทางปากกับผู้ที่ติดเชื้อ 

  • รู้สึกปวด เจ็บ ที่บริเวณทวารหนัก

  • มีเลือดไหล หรือมีหนองที่บริเวณทวารหนัก 

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางปากอาจมีไข้ ไอ และรู้สึกเจ็บคอคอแห้ง 

คำอธิบายภาพของภาวะแทรกซ้อนของโรคหนองในเทียม: ลักษณะและลักษณะทางทัศนศาสตร์ของภาวะนี้ในภาพลักษณ์
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหนองในเทียม

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหนองในเทียม

จะแสดงอาการแตกต่างกันออกไปตามเพศของผู้ป่วย โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้

ภาวะแทรกซ้อนในเพศชาย

  • อัณฑะอักเสบ หรือต่อมลูกหมากติดเชื้อ หนองในเทียมในเพศชายสามารถแพร่กระจายไปที่ลูกอัณฑะ หลอดเก็บน้ำอสุจิ และต่อมลูกหมาก ทำให้มีอาการปวดหรือบวม มีไข้หนาวสั่น เจ็บที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ ปัสสาวะแสบขัด ปวดเอว และเกิดอาการปวดในระหว่างหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ ถ้าปล่อยไว้หรือไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาจทำให้เป็นหมันได้

  • ข้ออักเสบข้ออักเสบ หรือที่รู้จักในชื่อ โรคไรเตอร์ หรือข้ออักเสบไรเตอร์ (Reiter Syndrome) หลังจากเป็นหนองในเทียมในช่วงไม่กี่สัปดาห์ อาจมีอาการตามมาด้วยคือข้ออักเสบ รวมไปถึงทางเดินปัสสาวะอักเสบ หรือตาอักเสบ 

  • อาจส่งผลต่อพื้นผิวของท่อปัสสาวะในผู้ชาย พื้นผิวของไส้ตรง กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)  หรือดวงตา 


ภาวะแทรกซ้อนในเพศหญิง

  • การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน หรืออุ้งเชิงกรานอักเสบ หนองในเทียมในเพศหญิงสามารถแพร่กระจายไปยังมดลูก ท่อนำไข่ และรังไข่ได้ ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว ปวดท้องน้อยขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกในขณะหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ อาการเหล่านี้จะส่งผลทำให้เกิดภาวะการมีบุตรยาก ปวดท้องน้อยเรื้อรัง เพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์นอกมดลูก 

  • หากหญิงตั้งครรภ์เป็นหนองในเทียมอาจแพร่เชื้อไปยังทารกได้ ซึ่งทำให้เกิด โรคปอดบวม (Pneumonia) หรือการติดเชื้อรุนแรงที่ดวงตา 

คำอธิบายภาพของการวินิจฉัยโรคหนองในเทียม: กระบวนการและเทคนิคในการตรวจวินิจฉัยโรคนี้ในภาพลักษณ์
การวินิจฉัยโรคหนองในเทียม

การวินิจฉัยโรคหนองในเทียม

ขั้นตอนแรกแพทย์จะซักประวัติและพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ของผู้ป่วย จากนั้นจะทำการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากบริเวณที่มีการร่วมเพศเพื่อส่งตรวจ การเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งสามารถทำได้ ดังนี้

  • การเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจ (Swab Test) คือ การใช้ไม้พันสำลีเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งที่บริเวณปากมดลูก ปลายท่อปัสสาวะ ทวารหนัก หรือลำคอ เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อ

  • การทดสอบปัสสาวะh (Urine Test) คือการเก็บตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยไปตรวจ ควรเป็นปัสสาวะที่ทิ้งระยะจากการปัสสาวะครั้งล่าสุด 1–2 ชั่วโมง

  • ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR (การตรวจหาสารพันธุกรรมเฉพาะตัวของเชื้อคลามัยเดีย) โดยทำการเก็บตัวอย่างปัสสาวะหรือสารคัดหลั่งจากปากมดลูก อวัยวะเพศชาย ลำคอ และรูทวาร

โดยปกติ การวินิจฉัยโรคจะเสร็จสิ้นภายใน 1 วัน และจะทราบผลหลังการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งประมาณ 7–10 วัน ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหรือพบประวัติทางเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงสูง แพทย์จะให้ทำการรักษาทันที และสำหรับผู้หญิงที่ปากมดลูกอักเสบไม่ค่อยแสดงอาการ ทว่าขณะเดียวกันก็อาจส่งผลกระทบอย่างหนักในระยะยาว หากคุณรู้สึกว่าตัวเองมีความเสี่ยง ให้รีบไปตรวจหาเชื้อ และเริ่มการรักษาโดยเร็วที่สุด


การรักษาหนองในเทียม

สามารถรักษาได้โดยการรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายของแบคทีเรีย 

กลุ่มยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาหนองในเทียมได้แก่

  • กลุ่มยาเพนิซิลลิน (Penicillins) ได้แก่ อะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin)

  • กลุ่มยาแมคโครไลด์ (Macrolides) ได้แก่ อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ร็อกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin)

  • กลุ่มยาเตตราไซคลิน (Tetracyclines)ได้แก่ ดอกซีไซคลิน (Doxycycline) เตตราไซคลิน (Tetracycline)

ซึ่งแพทย์จะทำการเลือกใช้และปริมาณยาจะขึ้นอยู่กับตามอวัยวะที่ติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อหนองในเทียมที่อวัยวะเพศ ทวารหนัก และคอ จะสามารถเลือกใช้ยาได้หลายกลุ่ม ในปริมาณยาที่ต่างกัน


กลุ่มยาสำหรับโรคหนองในเทียมในเด็ก ได้แก่

  • อิริโทรมัยซิน Erythromycin สำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยว่า 45 กิโลกรัม 

  • อะซิโธรมัยซิน Azithromycin  สำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 45 กิโลกรัม หรือ เด็กอายุน้อยว่า 8 ปี 

  • อะซิโธรมัยซิน Azithromycin สำหรับเด็กอายุ 8 ปีขึ้นไป 

  • ดอกซีไซคลิน Doxycycline สำหรับเด็กอายุ 8 ปีขึ้นไป​

กลุ่มยาสำหรับการติดเชื้อที่เยื่อบุตาในทารก ได้แก่

  • อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) 50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน

  • อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 


โดยผู้ป่วยจะมีอาการที่ดีขึ้นหลังจากได้รับการรักษาประมาณ 1-2 สัปดาห์ และควรรับประทานยาจนครบตามที่แพทย์สั่ง นอกจากนี้ หากรู้สึกว่าอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม หลังจากนั้น 3 เดือนควรกลับไปตรวจหาเชื้ออีกครั้ง เพื่อลดอัตราเสี่ยงในการเกิดซ้ำ ร่วมกับการตรวจคัดกรองหาเชื้อในคู่นอนที่เคยมีเพศสัมพันธ์กันภายใน 6 เดือนที่ผ่านมาด้วย

คำอธิบายภาพของการป้องกันโรคหนองในเทียม: มาตรการและวิธีป้องกันเชื้อโรคนี้ในภาพลักษณ์
การป้องกันโรคหนองในเทียม

การป้องกันโรคหนองในเทียม

การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ โดยเฉพาะการรับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือปฏิบัติตัวตามวิธีการดังต่อไปนี้

  • ใช้ถุงยางอนามัยให้ถูกวิธีทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ทั้งทางอวัยวะเพศ หรือทางทวารหนัก สามารถช่วยป้องกันหนองในเทียม และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ถึง 99%

  • ใช้ถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย หรือถุงครอบปาก (dental dam) ซึ่งมีลักษณะเป็นยางบางๆรูปสี่เหลี่ยมสำหรับผู้หญิงเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทางปาก

  • ควรตรวจอย่างละเอียดว่าได้ล้างเซ็กซ์ทอย (sextoy) หรือเปลี่ยนถุงยางอนามัยที่ใช้กับเซ็กซ์ทอย(sextoy)แล้วก่อนใช้กับคนใหม่ 

  • มีคู่นอนเพียงคนเดียว การเปลี่ยนคู่นอนบ่อยเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นหนองในเทียมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

  • หลีกเลี่ยงการสวนล้างภายในร่างกาย โดยเฉพาะในเพศหญิง เพราะจะเป็นการลดจำนวนแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อช่องคลอด และเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

  • หนองในเทียมจะไม่ติดต่อผ่านการจูบ การกอด การใช้ช้อนส้อม การใช้สระว่ายน้ำ การใช้ห้องน้ำหรือห้องอาบน้ำร่วมกับผู้ป่วย

  • ควรดื่มน้ำก่อนร่วมเพศและถ่ายปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศเสร็จ หรือทำความสะอาดอวัยวะเพศหลังการร่วมเพศ เพื่อลดอัตราการติดเชื้อลง แต่วิธีนี้อาจใช้ไม่ได้ผลกับทุกคน

  • สำหรับผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคหนองในเทียม เช่น หญิงตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่มีคู่นอนคนใหม่ หรือมีคู่นอนในช่วงเวลาเดียวกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคหนองในเทียมอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปีเพื่อความมั่นใจ และอาจจะตรวจมากกว่า 1 ครั้งต่อปีในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือตรวจตามคำแนะนำของแพทย์

  • เมื่อเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จะต้องรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ป้องกันไม่ให้เกิดอาการร้ายแรง และควบคุมไม่ให้แพร่เชื้อไปยังผู้อื่น 

  • ตรวจสุขภาพ และตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี


การเข้าใจถึงความสำคัญของการป้องกัน และการรักษาโรคหนองในเทียม สามารถช่วยลดโอกาสความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคหนองในเทียม เพราะส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ การวินิจฉัยโดยใช้การทดสอบในห้องปฏิบัติการยังคงเป็นแนวทางหลักในการตรวจการติดเชื้อโรคหนองในเทียม เพื่อจะได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ และป้องกันไม่ให้เกิดอาการของโรคที่ร้ายแรง หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ทั้งยังสามารถควบคุมไม่ให้แพร่เชื้อโรคไปยังผู้อื่นได้อีกด้วย


Commentaires


bottom of page