top of page
Siri Writer

การป้องกัน และลดความเสี่ยงโรคติดเชื้อฉวยโอกาส

Updated: Dec 27, 2023

เมื่อร่างกายติดเชื้อเอชไอวี ทำให้เชื้อเอชไอวีเข้าโจมตีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลงจนไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้ จนในที่สุดเชื้อไวรัสจะโจมตีร่างกายทั้งหมด  ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน หรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น วัณโรค, โรคปอดอักเสบ, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, มะเร็งต่าง ๆ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งทวารหนัก, และภาวะโลหิตเป็นพิษได้ หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ และรักษาได้เร็วที่สุด เป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาให้ได้ผลดี และป้องกันการเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสต่าง ๆ ของผู้ป่วยได้ ดังนั้นการทราบข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่เป็นไปได้จากการติดเชื้อเอชไอวี ช่วยให้ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาเอชไอวีที่เหมาะสมจะช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้

ภาพประกอบแสดงวิธีการป้องกันและลดความเสี่ยงโรคติดเชื้อฉวยโอกาส
การป้องกันและลดความเสี่ยงโรคติดเชื้อฉวยโอกาส

โรคติดเชื้อฉวยโอกาส  คืออะไร?

โรคติดเชื้อฉวยโอกาส  (Opportunistic infection : OIs) คือ เกิดจากการที่ร่างกายติดเชื้อโรคหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา พยาธิหรือสัตว์เซลล์เดียว (โปรโตซัว/Protozoa)  โดยปกติจะไม่ก่อโรคในคนที่ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ แต่จะก่อโรคได้บ่อยกว่า และมีอาการที่รุนแรงกว่า เฉพาะในคนที่ร่างกายที่มีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ หรือบกพร่อง หรือผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี เท่านั้น  เช่น การติดเชื้อพยาธิ นิวโมซิสติส คารินีไอ (Pneumocystis carinii) ที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม และ/หรือ เชื้อราชนิด คริปโตคอคคัส (Cryptococcus) ที่ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในผู้ป่วยโรคเอดส์


เชื้อโรคที่ก่อให้เกิด โรคติดเชื้อฉวยโอกาส สามารถแพร่กระจายได้หลายวิธี เช่น ในอากาศ ในของเหลวในร่างกาย หรือในอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน โรคติดเชื้อฉวยโอกาสบางตัวที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี อาจได้รับ ได้แก่ เชื้อราแคนดิดา การติดเชื้อซัลโมเนลลา โรคท็อกโซพลาสโมซิส และวัณโรค (TB) 


โดยผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี มีโอกาสติดโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ด้วยเหตุผลอื่นดังนี้

  • ผู้ป่วยไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวี ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ได้รับการรักษาเอชไอวี

  • ผู้ป่วยรู้ว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวี แต่ไม่ได้ใช้ยาต้านไวรัส หรือไม่ได้รับการรักษาเอชไอวี

  • ผู้ป่วยมีเชื้อเอชไอวีในร่างกายเป็นเวลานานก่อนที่จะได้รับการวินิจฉัย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง

  • ผู้ป่วยกำลังใช้ยาต้านไวรัส หรือได้รับการรักษาเอชไอวี แต่ยาเอชไอวีไม่สามารถควบคุมเอชไอวีได้


โรคติดเชื้อฉวยโอกาสรักษาได้หรือไม่?

หากผู้ป่วยเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส สามารถรักษาได้  โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับประเภทของการติดเชื้อ เช่น

  • ยาปฏิชีวนะ (เช่น อะซิโธรมัยซินหรือคลาริโทรมัยซิน)

  • ยาต้านเชื้อรา (เช่น ฟลูโคนาโซล หรือ โวริโคนาโซล)

  • ยาต้านไวรัส (เช่น อะซิโคลเวียร์ หรือวาลาซิโคลเวียร์)

  • การรักษาด้วยยาต้านไวรัส (ART) เพื่อลดการติดเชื้อฉวยโอกาสที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์

  • ยาปฏิชีวนะ การป้องกัน

เมื่อโรคติดเชื้อฉวยโอกาสได้รับการรักษาเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยก็สามารถใช้ยาเดิม หรืออาจต้องเพิ่มเติมยาต่อไป เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสกลับมาอีก เพราะการมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสอาจเป็นสถานการณ์ที่ร้ายแรงมาก ทำให้การรักษาโรคทำได้ยากมากขึ้นตามไปด้วย

ภาพประกอบแสดงวิธีป้องกันโรคติดเชื้อฉวยโอกาส
การป้องกันโรคติดเชื้อฉวยโอกาส

การป้องกันโรคติดเชื้อฉวยโอกาส

การป้องกันโรคติดเชื้อฉวยโอกาสมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดูแลร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งรวมถึง:

  • ไปพบแพทย์บ่อย ๆ

  • กินยาต้านไวรัส ตามที่กำหนดอย่างถูกต้อง และเคร่งครัด

  • ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโรคบางชนิดที่สามารถป้องกันได้ หรือตามที่แพทย์สั่ง

  • การรักษาความสะอาดของมือ

  • การบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ 

  • การจัดการความเครียด

  • การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 

  • การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย

  • การหลีกเลี่ยงการจัดการทิ้งขี้แมวหรือขี้สัตว์อื่น ๆ

  • การหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ไม่สุก หรือสุกๆ ดิบ

  • การหลีกเลี่ยงการกินผลิตภัณฑ์จากนมหรือน้ำผลไม้ที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ หรือเมล็ดพืชที่ยังไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ


โรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่พบบ่อยที่สุดในผู้ติดเชื้อเอชไอวี

โดยโรคติดเชื้อฉวยโอกาส อาจทำให้อาการป่วยมีความรุนแรง และเป็นเหตุทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเสียชีวิตได้ ดังนี้

  • โรควัณโรค ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis)  ในระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะมีอาการไอจามอย่างเรื้อรัง แล้วเชื้ออาจลามไปยังปอด หรือทำให้อวัยวะอื่น ๆ เกิดความเสียหาย และเสี่ยงต่อการเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เป็นอันตรายต่อชีวิต

  • โรคคริปโตค็อกคัสในระบบประสาท เป็นการติดเชื้อคริปโตค็อกคัส (Cryptococcus Neoformans) ที่ทำให้เยื่อหุ้มบริเวณสมอง และไขสันหลังเกิดการอักเสบอย่างรุนแรง

  • ภาวะปอดอักเสบจากเชื้อรา สามารถทำให้ปอดเกิดการบวมอักเสบอย่างรุนแรงและเป็นอันตรายต่อชีวิต

  • อุจจาระร่วงจากโปรโตซัว โปรโตซัวเป็นปรสิตเซลล์เดียวที่รบกวนระบบทางเดินอาหารทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงได้

  • โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นการติดเชื้อโปรโตซัวในสมอง

  • โรคเริม เป็นโรคผิวหนังที่เกิดการอักเสบบริเวณปากหรืออวัยวะเพศจากการติดเชื้อไวรัส อาจเกิดแผลอักเสบรุนแรงขึ้นจากระบบภูมิคุ้มกันที่บกพร่องในภาวะเอดส์

  • การติดเชื้อรา เกิดแผลอักเสบที่บริเวณปาก ภายในลำคอ หรือในช่องคลอด

  • การติดเชื้อฉวยโอกาสจากแบคทีเรีย ทำให้ผู้ป่วยมีไข้ มีปัญหาในระบบย่อยอาหาร และน้ำหนักตัวลด

  • การติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส เกิดจากการติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส หรือซีเอ็มวี (Cytomegalovirus; CMV) เป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ก่อให้เกิดโรคเริม ทำให้มีอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวกับดวงตาจนอาจนำไปสู่การตาบอด เกิดแผลเป็นหนองอักเสบที่ยากต่อการรักษา และอาการท้องร่วงรุนแรงได้ด้วย

  • โรคฮิสโตพลาสโมซิส เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราฮิสโตพลาสมา (Histoplasma) ซึ่งมักพบในดินที่ปนเปื้อนไปด้วยมูลของนกหรือค้างคาว ผู้ติดเชื้อมักไม่มีอาการแสดงออกมา แต่บางรายอาจมีไข้ ไอแห้ง หรือเหนื่อยล้า โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอและเด็กทารก  แต่ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เกิดการติดเชื้อราในปอดรุนแรง เรื้อรัง หรือการติดเชื้อราแพร่กระจายจากปอดไปสู่อวัยวะส่วนอื่น ๆ

  • โรคมะเร็ง ในเพศชายมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าเพศหญิงสามเท่า  เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มีอาการต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม ซึ่งเป็นสัญญาณของการติดเชื้อเอชไอวี จนเกิดเป็นเซลล์มะเร็งลามไปทั่วต่อมน้ำเหลือง ทั้งบริเวณลำคอ รักแร้ หรือตามข้อพับต่าง ๆ นอกจากนี้ ในบางรายอาจเป็นมะเร็งหลอดเลือดคาโปซี (Kaposi’s sarcoma) หรือโรคเคเอส (KS)  ที่เกิดเซลล์เนื้อร้ายก่อตัวขึ้นในเนื้อเยื่อผนังหลอดเลือด เกิดเป็นบาดแผลสีแดง หรือสีม่วงตามผิวหนัง  สำหรับเพศหญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งในระบบสืบพันธุ์มากกว่า โดยเฉพาะ มะเร็งปากมดลูก  แต่ทั้งนี้ มะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ง่ายในขณะที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันลดลงจากการติดเชื้อเอชไอวี


การเข้าใจถึงความซับซ้อนของโรคติดเชื้อฉวยโอกาส  และวิธีการรักษาที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี ไม่ว่าการกินยาอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นการช่วยลดปริมาณไวรัสเอชไอวีในร่างกาย และรักษาระบบภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อให้แข็งแรงขึ้น รวมทั้งการดูแลสุขภาพทั่วไป เช่น การออกกำลังกาย การบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ และการลดความเครียดเป็นต้น


Comments


bottom of page