โรคเอดส์ เป็นอาการระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดขาวภายในร่างกาย ได้ถูกทำลายลงไปมาก จนทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีระบบภูมิคุ้มกันลดลง หรือระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง จนไม่สามารถต่อสู้ หรือกำจัดเชื้อโรค หรือไวรัสที่เข้าไปสู่ร่างกาย ฉะนั้นถ้าไม่อยากให้การติดเชื้อเอชไอวี พัฒนากลายเป็นโรคเอดส์ได้นั้น
ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ควรทำเป็นอย่างแรก และทำให้เร็วที่สุด คือ การเข้ารับการรักษาเอชไอวี เพื่อขอคำแนะนำว่าจะต้องใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร การรับยาต้านไวรัสเอชไอวีมากิน เพื่อยับยั้งการเพิ่มปริมาณเชื้อไวรัส และเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้การติดเชื้อเอชไอวีลุกลามจนกลายเป็นโรคเอดส์ ที่อาจเป็นอันตราย และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตลงได้ รวมถึงป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเอชไอวีไปยังผู้อื่นด้วย ดังนั้น ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะการติดเชื้อเอชไอวีของตนเอง รวมถึงการรับมือ และดูแลตัวเองในการต่อสู้กับเชื้อเอชไอวี ได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม
เหตุใดการดูแลตนเองจึงมีความสำคัญเมื่อคุณติดเชื้อเอชไอวี?
เชื้อเอชไอวี ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของคุณอ่อนแอลง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี จะได้รับการติดเชื้อโรคอื่นได้ง่ายขึ้น การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและการออกกำลังกายเป็นประจำจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของคุณแข็งแรงขึ้น
เชื้อเอชไอวี ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง หากผู้ติดเชื้อเอชไอวี ติดเชื้อเอชไอวีเป็นเวลาหลายปี การอักเสบอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ (หรือที่เรียกว่าโรคหลอดเลือดหัวใจ) และความดันโลหิตสูง การดูแลตนเองด้วยการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด และการเลิกบุหรี่ ช่วยให้คุณสามารถจัดการกับโรคหัวใจหรือแม้กระทั่งป้องกันได้
การรักษาเอชไอวี จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการประเมินการใช้ยาต้านไวรัสเอชไวี และผลข้างเคียงว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งอาหารที่มีผลต่อการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี
เชื้อเอชไอวี จะทำให้คุณมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นสามเท่า ฉะนั้นการรับมือกับภาวะซึมเศร้าที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวี หรือทำให้มีความเครียดลดลง รวมทั้งการจัดการสุขภาพจิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีด้วย
การรับมือ และดูแลตัวเองในการต่อสู้กับเชื้อเอชไอวี
หากรู้ว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวี ผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรคำนึงถึง การดูแลตัวเองเป็นหลัก ด้วยการเตรียมรับมือ และปฏิบัติตัว ตามข้อควรระวัง หรือขั้นตอนต่าง ๆ ในการดูแลตนเองอย่างไรไม่ให้ไปสู่ภาวะโรคเอดส์ และการบอกคนรอบข้างว่าตนเองเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี แม้การเปิดเผยตนเองอาจทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรู้สึกอึดอัดใจ แต่การบอกให้ครอบครัว เพื่อน บุคคลใกล้ชิด หรือคู่นอนทราบว่าตนเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะทั้งตนเอง และคนรอบข้างจะได้เตรียมรับมือ และปฏิบัติตัวตามข้อควรระวัง หรือขั้นตอนต่าง ๆในการดูแล และอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ได้อย่างเหมาะสม และปลอดภัย ดังนี้
รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งให้เคร่งครัดตรงเวลา
การรักษาเอชไอวี เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ควรเริ่มรับการรักษาทันที เมื่อทราบสถานะเลือดของตนเองเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี และควรรับประทานยาอย่างเคร่งครัด ตรงเวลา ตามที่แพทย์สั่ง เพราะยาอาจช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเชื้อเอชไอวี ป้องกันระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย เพื่อไม่ให้ระบบภูมิคุ้มกันถูกเชื้อเอชไอวีเหล่านี้ทำลายจนกลายเป็นโรคเอดส์ หรืออาจเสี่ยงติดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ และเสียชีวิต และลดโอกาสการแพร่เชื้อเอชไอวีสู่ผู้อื่นได้
นอกจากนี้ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ควรมาพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แพทย์ประเมินอาการ และเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาต้านไวรัสได้ โดยแพทย์อาจตรวจเลือดเป็นระยะเพื่อติดตามจำนวนเชื้อเอชไอวีในร่างกาย และสังเกตการตอบสนองต่อการรักษา และอาจรักษาภาวะติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งเป็นภาวะติดเชื้อที่เกิดขึ้นบ่อย และรุนแรงในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีด้วย
บอกคนรอบข้างว่าตนเองเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี
การเปิดเผยตนเองอาจทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรู้สึกอึดอัดใจ แต่การบอกให้ครอบครัว เพื่อน บุคคลใกล้ชิด หรือคู่นอนทราบว่าตนเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะทั้งตนเองและคนรอบข้างจะได้เตรียมรับมือ และปฏิบัติตัวตามข้อควรระวัง หรือขั้นตอนต่าง ๆ ในการดูแล และอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างเหมาะสมปลอดภัย และยังเป็นการช่วยดูผู้ติดเชื้อเอชไอวีอีกทางหนึ่งด้วย รวมถึงทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี เกิดความเบาใจ และคลายความกังวลมากขึ้น เมื่อได้ระบาย และพูดคุยกับคนที่เรารัก
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ผัก ผลไม้ พืชตระกูลถั่ว ธัญพืชไม่ขัดสี และแหล่งโปรตีนที่มีไขมันต่ำ เพราะอาหารมีส่วนช่วยเสริมสร้างการทำงานที่ดีของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายแข็งแรงต่อสู้กับโรคได้ดียิ่งขึ้นด้วย และการระมัดระวังในการรับประทานอาหาร ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดโรคฉวยโอกาสได้ เพราะการรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุก อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดผลข้างเคียง และอาการต่าง ๆ ของโรคได้
ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
ช่วยสร้างเสริมสุขภาพร่างกาย และสุขภาพใจให้แข็งแรง นอกจากนี้การออกกำลังกายอาจช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญอาหารให้ดีขึ้น และสร้างบุคลิกภาพที่ดียิ่งขึ้นได้อีกด้วย ยังช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง ซึ่งพบได้มากขึ้นเมื่อติดเชื้อเอชไอวีด้วย
การดูแลสุขภาพจิต
เป็นเรื่องปกติที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี จะมีความกังวลมาก ๆ เครียด และอาจเป็นโรคซึมเศร้าได้ หลังจากทราบว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวี ดังนั้นผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรจะหาเพื่อนที่เข้าใจคุณ ไว้คอยพูด บอกความรู้สึก ปรึกษา ขอคำแนะนำ และให้กำลัง ซึ่งถ้าหากลองแล้วยังรู้สึกไม่ดีขึ้นเลย ผู้ติดเชื้อเอชไอวีอาจจะตัดสินใจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา รวมถึงเข้าร่วมกลุ่มพูดคุยให้คำปรึกษาต่าง ๆ ในท้องถิ่น หรือตามสังคมออนไลน์ เพื่อรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ คลายความกังวล และเสริมสร้างกำลังใจจากผู้ที่เห็นอกเห็นใจ หรือมีประสบการณ์เดียวกัน ซึ่งผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลด้านนี้เพิ่มเติมได้จากสถานพยาบาลผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วไป และผู้ติดเชื้อเอชไอวีอาจดูแลสุขภาพจิตได้โดยการทำจิตใจให้สงบ เช่น การนั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรม ให้จิตใจสงบขึ้น เป็นต้น
การสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่บุหรี่นั้น ทำร้ายสุขภาพแน่นอนอยู่แล้ว ร่างกายได้รับสารเคมีบางอย่างเข้าไป ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานหนักขึ้น ซึ่งมีผลต่อการยับยั้งไวรัสเอชไอวี ผู้ติดเชื้อเอชไอวี อาจจะมีแนวโน้ม ที่จะได้รับผลข้างเคียงต่าง ๆ จากการสูบบุหรี่ มากกว่าคนทั่วไป เพราะการสูบบุหรี่ จะเพิ่มความเสี่ยง ในการที่ทำให้ร่างกาย เกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น โรคมะเร็ง โรคปอด และปอดติดเชื้อ เป็นต้น
การใช้ยาเสพติด
การใช้ยาเสพติด เช่น โคเคน เฮโรอีน หรือยาบ้า อาจทำให้อาการต่าง ๆ ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีแย่ลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสพยาด้วยการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ และเพิ่มความเสี่ยงที่จะรับประทานยาไม่ตรงเวลา เป็นผลให้เชื้อเอชไอวี ในร่างกายเจริญเติบโตได้รวดเร็วขึ้น ดังนั้นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่ใช้ยาเสพติด ควรเลิกใช้ยาเสพติด หากเลิกเสพยาด้วยตนเองไม่ได้ ควรไปปรึกษาแพทย์หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบำบัดรักษาและเลิกใช้ยาเสพติด
ลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อเอชไอวีสู่ผู้อื่น
เชื้อเอชไอวีสามารถ แพร่กระจายผ่านทางของเหลวต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น เลือด น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่น ของเหลวจากช่องทวารหนัก ของเหลวจากช่องคลอด และน้ำนม เป็นต้น ดังนั้น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยง ในการแพร่เชื้อ ไปสู่คู่นอนของตนเอง และควรให้คู่นอนไปตรวจเลือด และตัวผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอง ต้องรับประทานยาต้านไวรัสเอชไอวีอยู่เสมอ
ป้องกันตนเองไม่ให้เกิดการติดเชื้อโรคเพิ่ม หรือเชื้อโรคซ้ำ
เนื่องจากมีแนวโน้มว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวี จะเป็นเชื้อราในช่องปากมากกว่าคนปกติถึงกว่า 2 เท่าตัว โรคเชื้อราในช่องปาก หรือเรียกว่าแคนดิเดียซิสนี้ จะเพิ่มความทุกข์ทรมานแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และทำให้สุขภาพทรุดโทรมลงมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเป็นแล้วการรับรสอาหารจะเสื่อมลง ความอยากอาหารก็น้อยลงไปด้วย ทำให้ขาดสารอาหาร ฉะนั้นการหมั่นรักษาสุขภาพปาก และฟันหลังรับประทานอาหารทุกครั้ง โดยควรกลั้วคอและบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ รักษาโรคเหงือก และฟันที่เป็นอยู่ รวมถึงการตรวจสุขภาพช่องปากกับทันตแพทย์ปีละครั้งด้วย
ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
ป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์ และไม่อยู่ใกล้ผู้ป่วยโรคอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยวัณโรคที่ปอด เพราะผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนปกติ จึงอาจทำให้ติดโรคได้ง่าย
รับประทานยาต้านไวรัสมาตลอดเป็นประจำ สม่ำเสมอ ไม่งั้นอาจเกิดการดื้อยาได้
ติดตามอาการ และผลข้างเคียงของยาต้านไวรัส
ผลข้างเคียงที่พบบ่อยประการหนึ่งของการรักษาด้วยยาต้านไวรัสบางประเภท คือ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น หากเป็นข้อกังวล ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าด้วยการแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อทำการวินิจฉัย ถึงสาเหตุที่แท้จริง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาเอชไอวี
ควรตรวจวัดปริมาณไวรัสเอชไอวีของเราไว้ ตั้งแต่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวีเป็นครั้งแรก และหลังจากนั้นก็ควรตรวจวัดอย่างสม่ำเสมอ (อย่างน้อยปีละครั้ง แต่โดยทั่วไปคือปีละ 2-4 ครั้ง) เพื่อตรวจวัดผลของยาต้านไวรัสเอชไอวี ที่ใช้ในการรักษาว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจต้องดูแลตนเองเพิ่มเติม หากมีอาการป่วยอื่น ๆ เกิดขึ้น เช่น
คลื่นไส้อาเจียน ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง อาจรับประทานขิงหรือน้ำขิงเพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน แต่ควรงดบริโภคของทอด ของมัน และอาหารที่มีรสเค็มหรือเปรี้ยว เพื่อลดการอาเจียน
น้ำหนักลด ผู้ป่วยควรดื่มน้ำปริมาณมาก และบริโภคอาหารประเภทเนื้อสัตว์และแป้งเพิ่ม โดยควรงดอาหารประเภทไขมัน เพราะร่างกายย่อยและดูดซึมอาหารประเภทนี้ได้ยาก
เบื่ออาหาร ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นแรงหรือมีกลิ่นฉุน
มีแผลในปาก ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่เป็นของเหลว เคี้ยวกลืนได้ง่าย และให้พลังงานสูง แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่กรอบ แข็ง และมีรสจัด
ข้อจำกัดของผู้ติดเชื้อเอชไอวี
นอกจากแนวทางปฏิบัติข้างต้น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี อาจไม่สามารถทำกิจกรรมบางอย่างได้ ดังนี้
การบริจาคโลหิต หรือบริจาคร่างกาย
การรับราชการทหาร
การเข้าทำงาน พักอาศัย หรือท่องเที่ยวในบางประเทศ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และโอมาน เป็นต้น
การทำประกันชีวิต แต่เงื่อนไขบางประการอาจแตกต่างกันไปตามข้อกำหนดของแต่ละบริษัท
ดังนั้นการที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะการติดเชื้อเอชไอวีของตนเอง เพื่อรับมือ และดูแลตัวเองในการต่อสู้กับเชื้อเอชไอวี ได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สามารถส่งผลให้ชีวิตมีคุณภาพดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติ และมีอายุขัยเท่าคนปกติอีกด้วย
Comments