top of page
Siri Writer

รู้ไว้ก่อนมีเพศสัมพันธ์ ใช้ PrEP และ PEP อย่างถูกวิธี

Updated: Jan 17, 2024

การมีเพศสัมพันธ์ ถือเป็นเรื่องปกติ และสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ  ไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนของตนเอง หรือการมีคู่นอนแบบชั่วคราว (One Night Stand) โดยเฉพาะคนที่ชอบความเสี่ยง มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน ไม่สวมถุงยางอนามัย หรือไม่ได้กินยาต้านไวรัสเอชไอวีป้องกันไว้ก่อน ยิ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากขึ้น และคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าการสวมถุงยางอนามัย เป็นวิธีป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อที่ปลอดภัย และลดความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ 


แต่หากมีการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีร่วมด้วยแล้วนั้น ยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน และลดความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีได้มากขึ้นตามไปด้วย   แต่ต้องใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างถูกต้อง แต่คนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี อย่าง ยาเพร็พ (PrEP) และยาเป๊ป (PEP)  ว่ายาต้านไวรัสเอชไอวีแต่ละชนิด ทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีอย่างไร ฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องความรู้ความเข้าใจก่อนการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่สามารถช่วยลดเสี่ยงการติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ.

ข้อมูลสำคัญก่อนการมีเพศสัมพันธ์: การใช้ PrEP และ PEP อย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อทางเพศอย่างมีประสิทธิภาพ
รู้ไว้ก่อนมีเพศสัมพันธ์ ใช้ PrEP และ PEP อย่างถูกวิธี

ยาเพร็พ(PrEP) และยาเป๊ป(PEP) คืออะไร? ทำงานอย่างไร?

ยาเพร็พ(PrEP-Pre-Exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านก่อนเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี เป็นยาที่กินเพื่อการป้องกันก่อนการติดเชื้อเอชไอวี สำหรับผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบ โดยการกินยาตรียมไว้ก่อนจะมีโอกาสสัมผัสเชื้อเอชไอวี หรือมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน

  • หลักการทำงานของยาเพร็พ โดยยาจะเข้าไปสะสมอยู่ในเม็ดเลือดขาวในเลือด และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งอวัยวะที่เป็นช่องทางเข้าของเชื้อเอชไอวี เช่น ช่องคลอด ปากมดลูก ปากทวารหนัก เยื่อบุอวัยวะสืบพันธุ์ชาย ฯลฯ เมื่อเชื้อเอชไอวี เข้าไปในร่างกายในช่องทางดังกล่าว เชื้อก็จะถูกยาที่สะสมอยู่ก่อนหน้านั้นยับยั้งไม่ให้แบ่งตัว จึงสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ แต่ก่อนจะเริ่มกินยาเพร็พ ต้องมีการตรวจเลือดให้แน่ใจก่อนว่าไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวีมาก่อน หรือมีผลเลือดเป็นลบ และต้องตรวรค่าการทำงานของไต ซึ่งไม่จำเป็นต้องกินยาตลอดชีวิต แต่กินยาเฉพาะช่วงที่คิดว่าจะตัวเองจะมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อเอชไอวี


ยาเป๊ป(PEP- Post-Exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านไวรัสฉุกเฉิน เป็นยาฉุกเฉินที่กินหลังเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี สำหรับผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบ ที่เพิ่งได้เสี่ยงสัมผัสเชื้อเอชไอวีมาไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน

  • หลักการทำงานของยาเป๊ป ยาจะช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของสารพันธุกรรมในเชื้อ และยับยั้งการกลายเป็นตัวไวรัสที่สมบูรณ์ ของเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะทำให้ร่างกายของผู้ติดเชื้อสร้างระบบภูมิคุ้มกันในการป้องกันก่อนจะแพร่กระจายภายในร่างกายได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานยาให้เร็วที่สุด

PrEP และ PEP: ยาชนิดไหนเหมาะกับใคร? คำแนะนำในการเลือกใช้ PrEP และ PEP เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี
PrEP และ PEP ยาชนิดไหน เหมาะกับใคร?

 PrEP และ PEP ยาชนิดไหน เหมาะกับใคร?

ยาเพร็พ (PrEP)

ยาเป๊ป (PEP)

เหมาะสำหรับผู้ที่รู้ตัวว่ามีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี ด้วยการกินยาต้านไวรัสไว้กันไว้ก่อนเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี

เหมาะสำหรับผู้ที่ได้รับความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีมาไม่เกิน 72 ชั่วโมง

ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี , ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน, ผู้ที่ทำงานบริการทางเพศ

ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ทราบผลการติดเชื้อเอชไอวีโดยไม่สวมถุงยางอนามัย และมีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง

ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก หรือไม่แน่ใจว่ามีเชื้อเอชไอวีหรือไม่

ผู้ที่มีการใช้เข็มฉีดยาแบบฉีดเข้าเส้นร่วมกับผู้อื่น

ผู้ที่มีการใช้เข็มฉีดยาแบบฉีดเข้าเส้นร่วมกับผู้อื่น

ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แบบ Multi Partner หรือมีคู่นอนหลายคน

ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย

ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แบบชายรักชาย  หรือผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักโดยไม่สวมถุงยางอนามัยกับผู้ที่ไม่ทราบผลการติดเชื้อเอชไอวี

ผู้ที่คิดว่าตนเองอาจสัมผัสกับเชื้อเอชไอวีเช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยกับผู้ที่ไม่ทราบผลการติดเชื้อ ถุงยางอนามัยฉีกขาด เป็นต้น

ผู้ที่มีการใช้ยา PEP อยู่บ่อยครั้ง และมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อเป็นระยะเวลานาน 3 เดือน

บุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกเข็มฉีดยาที่ผ่านการใช้งานทิ่มตำ

ผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา

ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือน

การจะรับยา PrEP และ PEP ทำได้อย่างไร?

การรับยาเพร็พ(PrEP)

  • งดมีเพศสัมพันธ์ 2 สัปดาห์ก่อนมารับ PrEP

  • ผู้มารับบริการจะต้องได้รับการตรวจเอชไอวี การทำงานของตับและไต

  • หลังจากที่ได้รับยา PrEP ครั้งแรกจะนัดตรวจเลือด 1 เดือน หลังจากนั้นนัดตรวจเลือดทุก 3 เดือน

  • หากต้องการหยุดยา ผู้มารับบริการต้องมาตรวจเลือดก่อนหยุดยา PrEP ทุกครั้ง

 

 การรับยาเป๊ป(PEP)

  • ก่อนที่ผู้รับบริการจะรับยา PEP แพทย์จะซักประวัติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพิจารณาว่าจำเป็นต้องรับยา PEP หรือไม่

  • แพทย์จะสั่งตรวจเอชไอวี ตรวจไวรัสตับอักเสบบี การทำงานของตับและไตก่อนรับยา PEP

  • หากติดเชื้อ HIV อยู่ก่อนแล้ว จะไม่สามารถใช้ยา PEP ได้

  • หลังรับประทานยาครบ 28 วัน ตรวจเอชไอวีซ้ำ 1 เดือน และ 3 เดือน

  • งดบริจาคเลือด และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

PrEP และ PEP: การใช้ยาอย่างไรให้ถูกวิธี? คำแนะนำในการใช้ PrEP และ PEP อย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี
PrEP และ PEP ใช้ยาอย่างไร ให้ถูกวิธี?

PrEP และ PEP ใช้ยาอย่างไรให้ถูกวิธี?

ยาเพร็พ (PrEP) สามารถกินได้ 2 วิธี คือ  การกินยาเพร็พแบบทุกวัน และ การกินยาเพร็พเฉพาะช่วง โดยจะแนะนำให้กินยาเพร็พแบบทุกวัน มากกว่าเนื่องจากทำได้ง่ายกว่า

  • การใช้ยา PrEP แบบกินทุกวัน (Daily PrEP)

    • ทุกเพศสามารถทานได้ ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และทรานเจนเดอร์

    • เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถวางแผนการมีเพศสัมพันธ์ล่วงหน้าได้ เช่น ผู้ที่ให้บริการทางเพศ

    • เมื่อเริ่มยาเพร็พ ขณะมีเพศสัมพันธ์ด้วยถุงยางอนามัยใน 7 วันแรก ร่วมด้วยเพราะระดับยาจะสามารถป้องกันโรคได้ดีที่สุดเมื่อทานไปแล้ว 7 วัน หรือจะมีประสิทธิภาพสูงสุดหลังจากเริ่มกินยาเพร็พไปแล้ว 7 วัน ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ถึง 99.9%

    • กินยาวันละ 1 เม็ด เวลาเดิมทุกวัน หรือ ทุกวันในช่วงที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

  • การใช้ยา PrEP แบบเฉพาะช่วง หรือแบบกินเฉพาะเวลาที่จะมีเพศสัมพันธ์ (On-Demand PrEP)

    • สามารถใช้ได้เฉพาะเพศชาย เพราะยังไม่มีงานวิจัยรองรับเรื่องประสิทธิภาพในผู้ใช้กลุ่มอื่น

    • ไม่ต้องกินทุกวันเหมือน Daily PrEP

    • กินแบบ 2-1-1 คือ กินยาเพร็พ 2 เม็ด ก่อนมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 ชั่วโมง และหลังจากที่มีเพศสัมพันธ์เสร็จเรียบร้อย ให้กินยาพร็พต่ออีก 2 วัน วันละ 1 เม็ดที่เวลาเดิม หรือกินต่อเนื่องวันละ 1 เม็ดจนถึง 2 วันหลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย

    • ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี 97-99%


การใช้ยา PrEP อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง โดยกินต่อเนื่องทุกวันไปอย่างน้อย 7 วันก่อนที่จะมีความเสี่ยง จะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ HIV จากการมีเพศสัมพันธ์ได้มากกว่า 90 % ส่วนในกรณีของผู้ใช้ยาเสพติดแบบฉีด สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อลงได้ถึง 70%


ยาเป๊ป (PEP) ต้องกินทันที ห้ามเกิน 72 ชั่วโมง รับยาติดต่อกัน 28 วัน มีสูตรยาหลายสูตรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ต้องกินทันที หรือกินยาให้เร็วที่สุดหลังจากเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อเอชไอวี โดยจะต้องเริ่มกินยาภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีความเสี่ยง และกินยาติดต่อกันนาน 28 วัน มีสูตรยาหลายสูตรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ดังนี้

  • KOCITAF ประกอบด้วยตัวยา 3 ชนิดคือ Tenofovir Alafenamide Fumarate (TAF), Emtricitabine (FTC) และ Dolutegravir (DTG)

  • BIKTAVY ประกอบด้วยตัวยา 3 ชนิดคือ Tenofovir Alafenamide Fumarate (TAF), Emtricitabine (FTC) และ Bictegravir (BIC)

ยาเป๊ปทั้ง 2 ชนิด ส่งผลต่อการทำงานของไตและตับน้อยมาก และไม่จำเป็นต้องกินพร้อมอาหาร หรือกินตอนท้องว่างเหมือนสูตรยาอื่น


การใช้ยา PEP ไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ 100% แต่เนื่องจากปัจจัยที่มีผลต่อการที่คนคนนึงจะติดเชื้อ HIV หรือไม่หลังได้รับยา PEP นั้นมีมากมายหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งของโรคที่รับเชื้อมา ว่ามีปริมาณ viral load มากน้อยแค่ไหน ความเข็งแรงของตัวคนไข้เอง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อโอกาสที่คนไข้จะติดหรือไม่ติดเชื้อ HIV ทั้งสิ้น

ความเสี่ยงและข้อกังวลในการใช้ PrEP และ PEP: ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและคำแนะนำในการใช้ PrEP และ PEP เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี
ความเสี่ยง และข้อกังวลของการใช้ PrEP และ PEP

ความเสี่ยง และข้อกังวลของการใช้ PrEP และ PEP 

  • ผู้รับการรักษาต้องไม่มีการติดเชื้อเอชไอวี และต้องตรวจสุขภาพตามขั้นตอนทางการแพทย์ก่อนจึงจะสามารถรับยาได้

  • หากมีพฤติกรรมเสี่ยง ควรไปพบแพทย์และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง

  • ต้องรับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 7 วัน ก่อนจึงมีประสิทธิภาพช่วยป้องกันไวรัสเอชไอวี

  • อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง อย่างอาการเวียนและปวดศีรษะ อ่อนแรง ซึ่งมักดีขึ้นได้เองในเวลานไม่นาน

  • อาจมีปฏิกิริยากับยาบางชนิดจึงควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้ทุกครั้ง

  • เป็นเพียงตัวช่วยเสริมการป้องกันการติดเชื้อเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันได้ 100% จึงต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

  • ใช้เข็มฉีดยาใหม่ทุกครั้ง และไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดที่ทำให้เกิดอาการมึนเมา ขาดสติ ซึ่งอาจทำให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันได้

  • ผู้ที่ทำงานดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรสวมอุปกรณ์ป้องกันอยู่เสมอ

  • ในระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่อกระดูก และไตได้

 

การใช้ PrEP และ PEP เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ทั้ง PrEP และ PEP ควรได้รับการดูแล และควบคุมภายใต้คำแนะนำของผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่สามารถประเมินปัจจัยความเสี่ยงของแต่ละคนอย่างเหมาะสม และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด รับประทานยาตามที่ระบุ เพื่อทำให้การใช้ PrEP และ PEP มีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี เพื่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และมีสุขภาพที่ดี






コメント


bottom of page