top of page
Siri Writer

ตัวโลน ต้นต่ออาการคันในที่ลับ

Updated: Jan 4, 2024

อาการคันในที่ลับ หรือบริเวณจุดซ่อนเร้น ไม่ว่าจะเกิดกับเพศใด ล้วนสร้างความรำคาญ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันไม่มากก็น้อย  ซึ่งอาการคันมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นคันเพราะ แพ้ หรือคัน เพราะแมลงกัดต่อยโดยหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการดังกล่าวคือ การเป็นโรคโลน ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง โดยตัวโลน ซึ่งเป็นสัตว์ตัวเล็ก ๆ ลักษณะคล้ายเหา อาศัยอยู่กับร่างกายมนุษย์ และดำรงชีวิตโดยการดูดเลือดเป็นหลัก พบได้มากที่สุดบริเวณจุดซ่อนเร้น หรือ อวัยวะเพศ แต่ก็อาจพบที่บริเวณอื่น ๆ ของร่างกายได้เช่นกัน ติดต่อกันได้ผ่านการมีกิจกรรมทางเพศทุกชนิด  สำหรับใครที่เจอปัญหานี้อยู่  ควรไปพบแพทย์เพื่อเช็กให้แน่ใจว่าใช่โรคโลนหรือไม่ เพื่อจะได้ทำการรักษาอย่างถูกต้อง และห่างไกลจากโรคนี้ด้วย

รู้จักตัวโลน ต้นต่ออาการคันในที่ลับ และวิธีป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับโลนที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของเรา
ตัวโลน ต้นต่ออาการคันในที่ลับ

ตัวโลน คืออะไร?

โลน (Pediculosis Pubis หรือ Pubic Lice) คือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในกลุ่มปรสิตที่อาศัยอยู่กับร่างกายมนุษ และดำรงชีวิตด้วยการดูดเลือดจากผิวหนังมนุษย์ โลน มีขนาดเล็กมากประมาณ 1-2 มิลลิเมตร สามารถเห็นด้วยตาเปล่าได้ ตัวมีสีน้ำตาลอ่อนหรือเทาอ่อน ลักษณะเด่น คือ มีขา 6 ขา โดยขาหน้า 2 ข้าง มีลักษณะพิเศษเป็นก้ามคล้ายขาปู ภาษาอังกฤษเรียกว่า crab louse ส่วนขานี้เองที่ใช้เป็นตัวเกี่ยวเส้นขนตามร่างกายมนุษย์ เพราะโลนจะชอบอาศัยอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ในร่างกายที่มีขนหนา ๆ 


โดยพบในบริเวณที่มีขนหนา ๆ ขึ้น เช่น ขนรักแร้ ขนหน้าอก หนวดเครา ขนคิ้ว หรือแม้แต่ขนตา ก็พบโลนได้เหมือนกัน แต่พบได้มากที่สุด คือ ขนบริเวณอวัยวะเพศ ทุกครั้งที่กัดมนุษย์ สิ่งที่ทิ้งไว้คือ รอยตุ่มสีแดง อาการคันคะเยอ แม้ว่าจะไม่ได้สร้างอันตรายแต่ก็สร้างความรำคาญไม่น้อย


ตัวโลนที่พบได้ในร่างกายมนุษย์มีทั้งหมด 3 ระยะ คือ

  • ไข่ (Nit) มีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่อาจเห็นได้ด้วยการใช้แว่นขยาย ไข่ของโลนมีสีขาว หรือสีเหลือง และมักจะเกาะอยู่ตามเส้นขน ใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 6-10 วัน ก่อนจะออกมาเป็นตัวอ่อน

  • ตัวอ่อน (Nymph) หลังจากไข่ฟักตัวแล้ว ตัวอ่อนของโลนจะอาศัยอยู่ที่บริเวณอวัยวะเพศ และอาศัยเลือดของมนุษย์เป็นอาหาร ลักษณะของตัวอ่อนจะคล้ายกับตัวโตเต็มไว แต่มีขนาดเล็กกว่า และต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์กว่าจะโตเต็มไว

  • ตัวเต็มวัย (Adult) ลักษณะเด่นคือ มีสีน้ำตาลอ่อน หรือมีสีเทาอ่อน ๆ มีหกขา โดยขาหน้า 2 ขาจะใหญ่และมีลักษณะคล้ายก้ามปู ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ หากตัวโลนร่วงจากร่างกายมนุษย์ก็จะตายเองภายใน 1-2 วัน

วงจรชีวิตของตัวโลนที่พบตามขนบริเวณอวัยวะเพศ และเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับท่าทางของตัวโลนในที่ลับ
วงจรชีวิตของตัวโลน ที่พบตามขนบริเวณอวัยวะเพศ

วงจรชีวิตของตัวโลน ที่พบตามขนบริเวณอวัยวะเพศ

  • ตัวโลนที่พบตามขนบริเวณอวัยวะเพศ สามารถพบได้ทั้งตัวผู้และตัวเมีย

  • ตัวโลนตัวผู้จะตายลงหลังจากมีการผสมพันธุ์เสร็จแล้ว ส่วนโลนตัวเมียจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 25-30 วัน

  • ตัวโลนตัวเมียจะเริ่มวางไข่ไปตามเส้นขน โดยทั่วไปแล้วโลน 1 ตัวจะสามารถวางไข่ได้อย่างน้อย 30 ฟอง หลังจากนั้น 7 วันไข่จะฟักตัวออกมาเป็นตัวอ่อน

  • ตัวโลนจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ในการเจริญเติบโตจากตัวอ่อนเป็นตัวเต็มวัย พร้อมจะผสมพันธุ์ และออกไข่ต่อไป


สาเหตุโรคโลน

สาเหตุเกิดจากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีชื่อว่า โลน (Pubic Lice) ซึ่งเป็นแมลงที่ไม่สามารถบิน หรือกระโดดได้ และต้องการเลือดมนุษย์เพื่อดำรงชีวิต โลนติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสอย่างใกล้ชิด เช่น การกอด จูบ แต่ที่มักพบได้บ่อยที่สุด คือ การติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยระยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการ) :ประมาณ 30 วัน


โดยสามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ

  • ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากตัวโลนมักอาศัยอยู่ที่อวัยวะเพศ ดังนั้นเวลามีเพศสัมพันธ์ โลนสามารถติดไปยังอีกคนหนึ่งได้ง่าย ๆ 

  • ติดต่อจากการใช้ของใช้ร่วมกัน หากใครในบ้านเป็นโรคโลน แล้วไม่ระวังตัวเอง และไปใช้ผ้าเช็ดตัว ใส่เสื้อผ้าร่วมกัน นอนเตียงเดียวกัน หรือแม้กระทั่งนั่งบนโถส้วมที่มีเชื้อโรคโลนอยู่ ก็สามารถทำให้เกิดการติดโรคโลนได้ เพราะโลนสามารถมีชีวิตนอกร่างกายได้นานถึง 24 ชั่วโมง ถึงโลนจะไม่สามารถกระโดดได้ แต่มันจะค่อยๆ คืบคลานไปตามขนและพื้นผิว 


ใครที่มีความเสี่ยงติดโรคโลน

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น มีดังนี้

  • ผู้ที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ

  • ผู้ที่มีความใกล้ชิดกัน เช่น ครอบครัวเดียวกัน อยู่บ้านเดียวกัน นอนเตียงเดียวกัน หากใครคนหนึ่งเป็นโรคโลน ก็อาจถ่ายทอดโรคนี้ไปยังบุคคลอื่นได้ผ่านการสัมผัส หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน

สังเกตและรู้จักอาการของโรคโลน ที่อาจเกิดขึ้นในที่ลับ
อาการโรคโลน

อาการโรคโลน

อาการของโลนจะเริ่มแสดงออกในไม่กี่สัปดาห์หลังจากติดโรคโลนมาจากผู้อื่น โดยอาการในผู้หญิง และผู้ชายจะคล้ายกัน  ดังนี้

  • สังเกตเห็นแมลงตัวเล็กมากๆ ตามขนที่อวัยวะเพศ มีสีน้ำตาลอ่อน หรือสีเทาขาว และมีลักษณะคล้ายปูตัวเล็กๆ หากมีสีเข้มขึ้นเมื่อไหร่ แสดงว่าโลนตัวนั้นได้กินเลือดเข้าไปแล้ว

  • ไข่ตัวโลนจะเกาะอยู่ด้านล่างโคนขนที่อวัยวะเพศ มีขนาดเล็กมาก และยากที่จะมองเห็น โดยจะมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีสีเหลือง สีขาว หรือสีม่วง อยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนหลายๆ ใบ

  • บริเวณอวัยวะเพศเป็นแผล และมีรอยขีดข่วนเล็กน้อย หรือมีตุ่มแดง รอยโดนกัดที่อวัยวะเพศ ทวารหนัก บริเวณใกล้เคียง หรือบริเวณที่มีขนและตัวโลนเกาะอยู่ เช่น ใต้รักแร้ หน้าอก แผ่นหลัง หนวด เครา ขนตา

  • ระคายเคือง หรืออาการคันมากในบริเวณอวัยวะเพศ

  • มีอาการคันมากผิดปกติ และคันรุนแรงมากขึ้นเวลากลางคืน

  • พบจุดสีน้ำตาล บนเส้นขน นั่นคือไข่ของโลน

  • พบจุดสีดำ เป็นสะเก็ด หรือผงสีดำติดตามบริเวณกางเกงชั้นใน นั่นคือมูลของโลนที่ติดออกมา

  • มีจุดสีน้ำเงินหรือจุดเลือดติดบนกางเกงชั้นใน และบนผิวหนัง ซึ่งเป็นจุดที่อาจถูกตัวโลนกัด โดยเฉพาะบริเวณต้นขา ท้องส่วนล่าง

  • มีเปลือกไข่โลนที่อาจติดอยู่บริเวณหนังศีรษะ เส้นผม

  • บางรายเกิดอาการแผลติดเชื้อบริเวณที่คัน เนื่องจากมีการเกาที่รุนแรง

  • บางรายมีไข้ต่ำ ๆ  ไม่มีแรง หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่ายเนื่องจากอาการคัน

รู้จักภาวะแทรกซ้อนที่เป็นไปได้จากโรคโลนในที่ลับ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคโลน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคโลน

หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ได้ดังนี้

  • การติดเชื้อที่ผิวหนัง อาการคันที่เกิดจากโลน อาจทำให้ต้องเกาบริเวณที่คันบ่อย ๆ จนรู้สึกระคายเคือง และอาจนำไปสู่การติดเชื้อ เป็นแผลพุพอง หรือฝีที่ผิวหนังได้

  • การติดเชื้อที่ดวงตา ในบางกรณีโลนอาจแพร่กระจายไปเกาะบริเวณขนตาได้ และทำให้เกิดภาวะเยื่อบุตาอักเสบ เปลือกตาอักเสบได้

หากอาการไม่รุนแรงมากนัก  อาจไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ แต่หากเกิดอาการระคายเคืองที่ผิวหนัง หรือเจ็บตาอย่างรุนแรงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาจะดีที่สุด


การวินิจฉัยโรคโลน

  • ในเบื้องต้นผู้ป่วย ควรสังเกตว่าอยู่ในภาวะติดโลนหรือไม่ โดยดูจากตัวโลน หรือไข่ของโลนบริเวณขนบริเวณอวัยวะเพศ หรือบริเวณอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ขนคิ้ว ขนตา หนวด เครา ใต้รักแรก ขาหนีบ เป็นต้น หากไม่มั่นใจว่าติดโลนหรือไม่ ควรไปพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยโรค โดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

  • โดยแพทย์จะซักประวัติเกี่ยวกับอาการที่มี และปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการติดโลน และตรวจร่างกายบริเวณอวัยวะเพศ อาจใช้แว่นขยายส่องหาตัวโลน และไข่ของโลน หากพบว่ามีตัวโลนอาศัยอยู่ภายในร่างกาย แพทย์จะวางแผนรักษาต่อไป

เข้าใจวิธีการรักษาโรคโลนและวิธีป้องกันในที่ลับ
การรักษาโรคโลน

การรักษาโรคโลน

โดยทั่วไปแล้วโลนสามารถรักษาให้หายได้ด้วยแชมพู โลชั่น หรือครีมที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่มีฤทธิ์ในการกำจัดแมลงจำพวกโลน หรือเหา โดยแพทย์ หรือเกสัชจะแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผู้ใช้มากที่สุด


ผู้ใช้จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และเอกสารกำกับยา ตัวยาที่ใช้ได้แก่ เพอร์เมทริน (Permethrin) ซึ่งมีวิธีการใช้ดังต่อไปนี้

  • ทายาบริเวณที่มีอาการ หรือบริเวณที่มีเส้นขนเยอะ ๆ เช่น บริเวณอวัยวะเพศ คิ้ว หนวด เครา ยาบางชนิดอาจจำเป็นต้องทาทั่วร่างกายเพื่อป้องกันโลน

  • หากใช้ยาดังกล่าวใกล้กับตาเกินไป จนตัวยาเข้าตาควรรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดโดยเร็วที่สุด

  • ยาบางชนิดอาจต้องทาทิ้งไว้แล้วล้างออกในภายหลัง หากครบกำหนดเวลาแล้วควรล้างออกให้สะอาด


การรักษาด้วยยาครั้งแรกมักจะเป็นการกำจัดตัวโลนที่อยู่ในร่างกาย ดังนั้น ไข่ที่ยังไม่ฟักจึงไม่ถูกทำลาย ภายหลังการใช้ยาครั้งแรก 3-7 วัน จึงควรใช้ซ้ำเพื่อกำจัดตัวโลนที่เพิ่งออกมาจากไข่ แต่หากใช้ยาซ้ำเป็นครั้งที่ 2 แล้วอาการยังไม่ทุเลาลง หรือการรักษาไม่ได้ผล ควรกลับไปปรึกษาแพทย์ และไม่ควรใช้ยาซ้ำเพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ เช่น ผิวหนังระคายเคือง มีอาการคัน ผิวหนังแดง หรือปวดแสบปวดร้อน เป็นต้น


ทั้งนี้ ยังมียาชนิดอื่น ๆ ที่มักใช้ในการรักษาหากยาเพอร์เมทรินใช้ไม่ได้ผล ได้แก่

  • มาลาไทออน (Malathion) เป็นยารักษาโลนที่อยู่ในรูปของโลชั่น โดยทาทิ้งไว้ 8-12 ชั่วโมงแล้วล้างออก

  • ลินเดน (Lindane) เป็นยาที่แรงที่สุด และมีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นพิษ มักถูกใช้ในการรักษาโลน วิธีการใช้คือนำยาดังกล่าวมาชโลมทิ้งไว้ 4 นาที แล้วล้างออกให้สะอาด ทั้งนี้ ยาดังกล่าวไม่ควรใช้กับเด็กทารก หรือสตรีที่อยู่ในระหว่างให้นมบุตรโดยเด็ดขาด

  • ไอเวอร์เมคติน (Ivermectin) ยากลุ่มนี้มีการใช้รักษาโรคจากปริสิต เช่น เหา ต้องจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น มีทั้งแบบทา และแบบรับประทาน


ในกรณีที่มีตัวโลนอาศัยอยู่บริเวณขนตา ซึ่งพบได้น้อย สามารถนำตัวโลนออกได้ด้วยการใช้เล็บหรือหวีสาง แต่ต้องใช้ยาเพื่อรักษาให้หายขาดด้วย ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องการรักษา แพทย์จะสั่งยาชนิดทาซึ่งเป็นยาใช้เฉพาะที่บริเวณดวงตาเพื่อให้ผู้ป่วยใช้ทาบริเวณขอบตา วันละ 2 -4 ครั้ง ติดต่อกัน 10 วัน นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้วาสลีนที่ใช้ทั่วไปเพราะอาจทำให้ดวงตาระคายเคืองได้


วิธีกำจัดโลนให้หายขาด

  • หลังจากเสร็จสิ้นการรักษาด้วยยาแล้ว ส่วนใหญ่ไข่โลนจะติดค้างอยู่ตามขน ให้ใช้หวีละเอียดสางออกไป

  • ล้าง หรือซักแห้งผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว และเสื้อผ้าทั้งหมดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ โดยใช้น้ำอุ่น และผึ่งให้แห้งกลางแดด หรืออบแห้งเป็นเวลาอย่างน้อย 20 นาที

  • หากไม่สามารถซักได้ ให้ใส่ถุงเก็บไว้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ หรือจนกว่าโลนและไข่โลนจะตายลง

  • ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์หรือการสัมผัสใกล้ชิดใดๆ จนกว่าจะเสร็จสิ้นการรักษาและหายขาดดี ในช่วงเวลานี้ก็ควรตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ร่วมด้วย

  • ถ้ายังคงเห็นโลนอยู่หลังจากเสร็จสิ้นการใช้ยาไปแล้วประมาณ 9-10 วัน ให้เริ่มรักษาใหม่อีกครั้ง และให้แน่ใจว่าได้ล้างทุกสิ่งทุกอย่างที่สัมผัส รวมถึงคู่นอนก็ต้องเข้ารับการรักษาด้วย แต่ถ้าโลนยังคงไม่หายไปอีก คุณควรเข้ารับการตรวจรักษาโดยแพทย์

เข้าใจวิธีการป้องกันโรคโลนในที่ลับ เพื่อสุขภาพที่ดีและปลอดภัย
การป้องกันโรคโลน

การป้องกันโรคโลน

ป้องกันโรคโลนได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงจากความเสี่ยงในการติดโลน ดังนี้

  • ดูแลสุขอนามัยของตัวเองให้สะอาดอยู่เสมอ

  • หลีกเลี่ยงการมีกิจกรรมทางเพศกับผู้ที่ติดโลน เนื่องจากการมีกิจกรรมทางเพศร่วมกันในระหว่างที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งติดโลน จะทำให้เกิดแพร่กระจายได้ง่าย ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงจนกว่าจะรักษาโลนให้หายดีก่อน

  • หลีกเลี่ยงการใช้ เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว หรืออุปกรณ์เครื่องนอนกับผู้ป่วย แม้ว่ามีโอกาสน้อยในการติดโลนผ่านเสื้อผ้า แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงเพราะโลนสามารถอาศัยอยู่ในเนื้อผ้าได้ในระยะสั้น ๆ หากใช้สิ่งของดังกล่าวต่อกันก็อาจทำให้ตัวโลนแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้

  • ชำระล้างร่างกายให้สะอาด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโลน โดยเฉพาะหลังมีกิจกรรมทางเพศ

  • หลีกเลี่ยงการลองชุดในห้างสรรพสินค้า ในการซื้อเสื้อผ้า ควรหลีกเลี่ยงการลองเสื้อผ้าจะดีที่สุด โดยเฉพาะชุดว่ายน้ำ หากต้องลองควรสวมใส่ชุดชั้นในขณะลองเพื่อป้องกันการติดโลน หรือเชื้อโรคอื่น ๆ ที่เป็นอันตราย

  • หมั่นทำความสะอาดเครื่องนอน ผ้าเช็ดตัว หรือของใช้ส่วนตัวที่ใช้ร่วมกับผู้ป่วยโรคตัวโลน ซักทำความสะอาดในน้ำร้อนอุณหภูมิมากกว่า 50 องศาเซลเซียส หรือนำเข้าเครื่องอบผ้าที่มีความร้อนสูงยาวนาน 30 นาที


การรู้จัก และเข้าใจเกี่ยวกับตัวโลน ที่เป็นต้นต่ออาการคันในที่ลับ เป็นสิ่งสำคัญช่วยให้เราสามารถสังเกตอาการ ทำการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อป้องกันการติดโรคโลน รวมถึงช่วยลดโอกาสในการแพร่โรคโลนไปยังผู้อื่นได้อีกด้วย เพื่อทำให้ทุกคนสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีสุขภาพที่ดี และปลอดภัยจากโรคโลน


Comments


bottom of page