top of page
Siri Writer

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รู้ทันป้องกันไว้ก่อน

Updated: Mar 8, 2024

เรื่องเพศไม่ใช่เรื่องไกลตัว โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย เกิดจากการติดต่อผ่านกันทางเพศสัมพันธ์ กับผู้ที่มีเชื้อโรคนั้นๆ โดยไม่ได้ป้องกัน ทำให้เชื้อโรคติดต่อผ่านกันได้ง่าย ทำให้ในปัจจุบันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังคงเป็นโรคที่มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี เนื่องจากการอยู่ร่วมกันก่อนแต่งในวัยรุ่น หนุ่มสาว ผู้ใหญ่วัยทำงานก็เช่นกัน


เนื่องจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มักไม่แสดงอาการ บางคนที่แข็งแรงและสุขภาพดี อาจได้รับเชื้อโดยที่ไม่รู้ตัวและคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในด้านการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เท่าไรนัก ส่งผลให้คู่รักหลายคู่ต้องเผชิญกับอาการไม่พึงประสงค์จากการมีเพศสัมพันธ์ รุกรามไปจนถึงขั้นร้ายแรง และไม่ยอมไปพบแพทย์เนื่องด้วยความอาย จนเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ทันเวลา ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จึงเป็นหนึ่งในพื้นฐานสำคัญเพื่อเสริมสร้างความรู้เท่าทันต่อปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ในชีวิตประจำได้

รู้ทันและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยข้อมูลที่ครอบคลุม ค้นพบวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพใน "โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รู้ทันป้องกันไว้ก่อน" สำหรับสุขภาพที่ดีที่สุด
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รู้ทันป้องกันไว้ก่อน

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คืออะไร?

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือที่เรียกกันว่า STI (ย่อมาจาก Sexually Transmitted Infection) หรือ STD (ย่อมาจาก Sexually Transmitted Diseases) คือ โรคทุกอย่างที่ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ในที่นี้การมีเพศสัมพันธ์ หมายถึง การจูบ, การสัมผัส หรือถูอวัยวะเพศ, การมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก (การใช้ปากกับอวัยวะเพศ), การร่วมเพศ (องคชาตในช่องคลอด องคชาตในทวารหนัก), การใช้เซ็กซ์ทอย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีโอกาสติดต่อได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง และถ้าหากติดเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์ บางครั้งอาจส่งผลกระทบถึงเด็กทารกในครรภ์โดยเป็นการติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ด้วย


ประเภทของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

เชื้อไวรัส

  • โรคเอดส์ (AIDS) เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ เชื้อจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นแหล่งสร้างภูมิคุ้มกันโรคทำให้ติดเชื้อโรคอื่นๆ ได้ง่าย และทำให้ถึงแก่ชีวิต

  • โรคเริม (Herpes Simplex) สามารถพบได้ในหลายตำแหน่ง เช่น ที่ริมฝีปาก หรือบริเวณอวัยวะเพศ เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับผู้ที่เป็นโรคเชื้อไวรัสแล้วเข้าสู่ผิวหนัง

  • โรคหูดหงอนไก่ (Genital warts) เกิดจากไวรัส Human Papilloma Virus (HPV) ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์หรือการสัมผัส อาการที่พบคือมีติ่งเนื้อนูนคล้ายดอกกะหล่ำ อาจมีอาการคัน และเจ็บหรือมีเลือดออก ทั้งนี้มีโอกาสเป็นซ้ำได้บ่อย

  • โรคหูดข้าวสุก (Molluscum Contagiosum) เกิดจากเชื้อไวรัส Molluscum Contagiosum Virus (MCV) โดยอาการที่พบ คือ มีผิวเรียบ แต่ละตุ่มมีรูตรงกลาง ซึ่งเมื่อสุกดีจะบีบของเหลวข้นๆ ออกจากรูได้คล้ายข้าวสุก ในบางรายติ่งเนื้อ หรือตุ่มมีขนาดเล็ก

เชื้อแบคทีเรีย

  • โรคซิฟิลิส (Syphilis) ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์และจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Treponema Pallidum ซึ่งอาศัยอยู่ได้ในทุกส่วนของร่างกาย ผู้ติดเชื้อจะอาการแตกต่างกันตามระยะของโรค เช่น มีแผลที่อวัยวะเพศ มีผื่นขึ้นตามตัว มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต หรือไม่มีอาการใด ๆ

  • โรคหนองในแท้ (Gonorrhea) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Neisseria gonorrhoeae อาการหนองในระหว่างผู้หญิงและผู้ชายจะต่างกันออกไป โดยในผู้ชายจะมีปัสสาวะแสบขัดมีหนองไหลจากท่อปัสสาวะ สำหรับในผู้หญิงมักไม่มีอาการหรือมีเพียงตกขาวผิดปกติ ไม่คัน แต่สิ่งทีเหมือนกันอย่างแรกคือเชื้อจะเริ่มแสดงอาการหลังจากได้รับเข้าสู่ร่างกายไม่เกิน 1 สัปดาห์ ทั้งนี้บางรายอาจไม่ได้มีอาการอะไรเลย

  • โรคแผลริมอ่อน (Chancroid) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Haemophilus Ducreyi จะทำให้เนื้อเยื่อที่อยู่บริเวณอวัยวะเพศ มีอาการเปื่อย

เชื้ออื่นๆ

  • เชื้อรา เช่น เชื้อราในช่องคลอด (Vaginal candidiasis) เ

  • เชื้อปรสิต เช่น โลน (Pediculosis Pubis หรือ Pubic Lice) หิด (Scabies) และพยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis หรือเรียกสั้นๆ ว่า Trich) เป็นต้น


โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง?

  • โรคเอดส์ (AIDS)

  • โรคซิฟิลิส (Syphilis)

  • โรคเอชพีวี (HPV)

  • โรคเริมที่อวัยวะเพศ (Genital Herpes)

  • โรคหนองในแท้ (Gonorrhea)

  • โรคหนองในเทียม (Chlamydia infection)

  • โรคหูดหงอนไก่ (Condyloma acuminata)

  • โรคตัวโลน (Crab Louse)

  • โรคฝีมะม่วง (Lymphogranuloma venereum: LGV)

  • โรคแผลริมอ่อน (Chancroid)

  • โรคไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) และโรคไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C)

ป้องกันโรคติดต่อทางเพศโดยการใส่ถุงยางอนามัยในทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เราครอบคลุมข้อมูลเกี่ยวกับ "มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย" เพื่อสุขภาพที่ปลอดภัยและป้องกันไว้ก่อน
มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย

ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์?

การมีกิจกรรมทางเพศ หรือเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยทำให้เสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากขึ้น ดังนี้

  • การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก ทางทวารหนัก

  • การใช้สารเสพติดร่วมขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะการใช้สารเสพติดที่มีการใช้เข็มร่วมกันรวมถึงใช้อุปกรณ์เสริมทางเพศอื่น ๆ ร่วมกัน

  • มีเพศสัมพันธ์กับหญิง หรือชายให้บริการทางเพศโดยไม่สวมถุงยางอนามัย

  • มีคู่เพศสัมพันธ์มากกว่า 1 คน หรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย

  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย หรือถุงยางอนามัยแตก รั่ว หลุด (ช่องทางใดช่องทางหนึ่งหรือทุกช่องทาง ที่ใช้ในการมีเพศสัมพันธ์)

  • คู่เพศสัมพันธ์เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  • การที่ตน หรือคู่นอนมีประวัติติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มาก่อน หรือตั้งแต่ 1 ครั้งขึ้นไปในรอบปีที่ผ่านมา แล้วไม่ได้ป้องกันอย่างถูกต้องในขณะมีเพศสัมพันธ์


อาการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้

ในบางครั้งมักไม่แสดงอาการเลย โดยอาการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จะมีความแตกต่างกันออกไปตามชนิดของโรค ซึ่งอาการต่างๆ อาจเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศอย่างเดียว หรือเกิดกับอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายได้ทั้งหมด โดยเราสามารถสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้

  • มีไข้ ไม่สบาย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

  • มีอาการระคายเคืองที่อวัยวะเพศ

  • มีอาการปวดท้องน้อย

  • มีตกขาวผิดปกติ หรือตกขาวเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ

  • ตกขาวมีกลิ่น มีอาการคัน หรือระคายเคือง

  • มีตุ่ม มีผื่น หรือแผล บริเวณอวัยวะเพศ มือ หรือเท้า

  • ปวดหรือมีตุ่มทั้งภายในและภายนอกอวัยวะเพศ หรือบริเวณทวารหนัก

  • อาจมีน้ำเหลืองหรือน้ำหนอง ไหลออกมาจากปลายอวัยวะเพศชาย

  • อวัยวะเพศหญิงมีเลือดไหลผิดปกติ

  • เจ็บหรือแสบขัดเวลาปัสสาวะ

  • มีอาการเจ็บแสบ หรือเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์

ทราบสถานะสุขภาพของคุณด้วยการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ. รับข้อมูลเกี่ยวกับ "การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์" ที่ช่วยให้คุณมีสุขภาพที่ดีและปลอดภัย
การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

เมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือเพิ่งมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรค ควรรีบปรึกษาแพทย์ และงดการมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราวเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่นจนกว่าจะทราบผลการตรวจ


โดยเบื้องต้นแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยติดเชื้อโรคชนิดใด ด้วยการซักประวัติและความเสี่ยงในการติดเชื้อ ร่วมกับ การเจาะเลือด(blood test) การเก็บปัสสาวะ(urine test) หรือการทดสอบการปนเปื้อน (swab test) โดยใช้ก้านสำลีถูเพื่อตรวจหาเชื้อโรคจากอวัยวะเพศ ทวารหนักหรือปาก เพื่อส่งตรวจเพื่อวินิจฉัยยืนยันในห้องปฏิบัติการที่มีผลชัดเจน


การรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะได้รับการรักษาจนหาย และแนะนำให้คู่นอนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เข้ารับการตรวจรักษาด้วย ซึ่งการรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสามารถรักษาให้หายได้ง่ายกว่า ส่วนโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสทำได้โดยดูแลอาการไม่ให้กำเริบได้ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด โดยวิธีการรักษามีดังนี้

  • ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ใช้รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือปรสิต ได้แก่ หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส และเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะต้องได้รับการรักษาจนครบกำหนด นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ

  • ยาต้านไวรัส (Antivirus) ใช้รักษาผู้ป่วยโรคเริม โดยควรรับยาต้านไวรัสร่วมกับการดูแลสุขภาพ แต่เชื้อจะยังหลงเหลืออยู่ในร่างกาย เมื่อไหร่ที่ร่างกายอ่อนแอ อาจจะกลับมาแสดงอาการอีกครั้ง และผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้แม้จะมีโอกาสเสี่ยงต่ำก็ตาม ทั้งนี้ การรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง จะช่วยลดจำนวนเชื้อไวรัสให้น้อยลงจนตรวจหาแทบไม่พบ นอกจากนี้ ยาต้านไวรัสยังใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี

 ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยมาตรการที่เหมาะสม. รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับ "การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์" เพื่อสุขภาพที่มั่นคงและปลอดภัย
การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถทำได้แต่ไม่สามารถป้องกันได้ 100% เนื่องจากบางโรค สามารถแพร่เชื้อได้หลายช่องทาง อย่างไรก็ตามการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยจะช่วยให้ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

  • งดการมีเพศสัมพันธ์ ถือเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้ การมีคู่นอนคนเดียว และคู่นอนไม่ป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคได้

  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์อย่างถูกต้อง ถูกวิธี ไม่ว่าจะใช้ถุงยางอนามัยสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก และการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก ตรวจสอบวันที่ใช้งานเสมอ เนื่องจากถุงยางอนามัยเก่าอาจฉีกขาดได้ง่าย

  • ใช้แผ่นยางทันตกรรม (แผ่นยางบาง ๆ ที่ใช้เป็นตัวกั้น) สำหรับการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก

  • ใช้สารหล่อลื่นสูตรน้ำเพื่อช่วยลดโอกาสการฉีกขาดของถุงยางอนามัยหรือแผ่นยางอนามัย อย่าใช้วาสลีนหรือน้ำมันนวดตัว เพราะอาจทำให้ถุงยางหรือแผ่นยางอนามัยเสื่อมหรือฉีกขาดได้ง่าย

  • ใช้ถุงยางอนามัยใหม่หรือแผ่นยางอนามัยใหม่ทุกครั้งที่คุณมีเพศสัมพันธ์ (ถึงแม้ว่าคุณหรือคู่นอนของคุณจะไม่หลั่งน้ำกามออกมา) อย่าล้างถุงยางอนามัยและนำกลับมาใช้อีก

  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีคู่นอนเดียวที่ไม่มีความเสี่ยงต่อโรค

  • หากคุณมีเพศสัมพันธ์กับคนมากกว่าหนึ่งคน (มีเพศสัมพันธ์แบบสามคนหรือแบบเป็นกลุ่ม) เปลี่ยนถุงยางอนามัยหรือแผ่นยางทันตกรรมใหม่สำหรับแต่ละคน

  • เมื่อใช้เซ็กซ์ทอยในการมีเพศสัมพันธ์แบบสามคนหรือแบบเป็นกลุ่ม ให้ใช้ถุงยางอนามัยใหม่สำหรับแต่ละคน

  • รักษาความสะอาดร่างกาย และบริเวณอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ

  • ห้ามร่วมเพศหากมีประจำเดือนเพราะจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการติดโรคมากขึ้น

  • ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักเพราะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ

  • ควรตรวจเลือดประจำปีทุกครั้ง เพื่อหาเชื้อโรคในกลุ่มที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะคู่ที่แต่งงานใหม่ การพบแพทย์เป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค หากเป็นในระยะแรกก็จะรักษาได้ทันท่วงที

  • นอกจากนี้โรคบางโรคสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเช่น วัคซีนไวรัสตับอีกเสบบี และวัคซีน HPV ซึ่งสามารถฉีดได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยเฉพาะก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก จะมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี

ข้อควรปฏิบัติเมื่อเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  • ควรงดร่วมเพศ รวมทั้งสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

  • หากคุณ หรือคู่นอนของคุณมีอาการ อย่าสัมผัสหรือถูบริเวณนั้น

  • หากคุณคิดว่า คุณเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่ามีเพศสัมพันธ์อีกจนกว่าคุณจะไปพบแพทย์

  • ไม่ควรซื้อยารักษาด้วยตัวเอง ควรเข้าตรวจรักษากับแพทย์เท่านั้น เพราะอาจทำให้เชื้อดื้อ

  • ยารักษาไม่หาย การเข้ารักษากับแพทย์โดยตรงจะส่งผลดีกับคนไข้และได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องในการรักษา

  • ไปตรวจรักษาตามนัดทุกครั้ง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

  • ควรแจ้งให้สามี/ภรรยาทราบ และควรพาคู่นอนไปตรวจรักษาด้วยโดยเร็วที่สุดเมื่อทราบว่าตนเองเป็นโรค

  • เมื่อตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ควรเจาะเลือดตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วย

  • ในกรณีเกิดหนองในผู้ชายไม่ควรรีดอวัยวะเพศเพื่อดูหนองเพราะจะทำให้เกิดอาการอักเสบมากขึ้น

  • รักษาอวัยวะเพศและบริเวณใกล้เคียงให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ

  • ควรงดดื่มเหล้า-เบียร์และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด

การเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในปัจจุบันทำได้สะดวกมากขึ้น สามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยได้ที่โรงพยาบาลรัฐ และเอกชน หรือใช้บริการที่ศูนย์ และคลินิกเฉพาะทางที่ให้บริการด้านการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้เช่นกัน การตรวจวินิจฉัยได้เร็ว รักษาได้เร็ว เพื่อป้องกันการรุกรามของโรค รวมไปถึงการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นด้วย และยังเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคซ้ำ และลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมาในระยะยาวได้อีกด่วย


Comments


bottom of page