โรคซิฟิลิสเป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ควรรู้จัก เป็นโรคที่พบมากในทั้งผู้ชาย และผู้หญิง โดยมักพบบ่อยในกลุ่มวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่การป้องกัน ทำให้มีการติดเชื้อโรคในกลุ่มนี้ค่อนข้างสูง รวมถึงการตั้งครรภ์ ที่อาจจะก่อปัญหาในระยะยาว เช่น ส่งผลให้ทารกในครรภ์เสียชีวิต หรือพิการแต่กำเนิด ทำให้ปัญหาเหล่านี้ยังคงมีอยู่ในสังคม ฉะนั้นเราทุกคนควรตระถึงความสำคัญของโรคซิฟิลิส ที่มีผลกระทบที่หลากหลายทั้งในด้านสุขภาพ และสังคม ด้วยการทำความเข้าใจโรคซิฟิลิส ถึงสาเหตุ อาการ การรักษา และการป้องกันโรคซิฟิลิสให้มากขึ้น
โรคซิฟิลิส คืออะไร?
โรคซิฟิลิส (Syphilis) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เป็นแผลซิฟิลิส หรือแผลริมแข็ง ขึ้นเป็นตุ่มนูนแตกออกเป็นแผลกว้างที่ปาก อวัยวะเพศ หรือทวารหนัก โรคซิฟิลิสที่ไม่ได้รับการรักษาให้หายตั้งแต่ระยะเป็นแผลจะพัฒนาเข้าสู่ระยะออกดอก และระยะติดเชื้อที่ทำลายระบบประสาท ระบบหลอดเลือดและหัวใจ และทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เพราะโรคซิฟิลิสเป็นโรคที่ตรวจพบได้ยาก เนื่องจากการดำเนินของโรคหลังจากได้รับเชื้อแล้ว เชื้อแบคทีเรียสามารถหลบซ่อนตัวอยู่เงียบๆ ภายในร่างกายเราได้เป็นเวลาหลายปีก่อนที่จะมีอาการแสดงขึ้นมาในภายหลัง ฉะนั้นหากเราสามารถตรวจพบการติดเชื้อนี้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ และหลังจากรักษาจนหายขาดแล้ว เราจะไม่เป็นโรคซิฟิลิส เว้นแต่ว่าจะได้รับเชื้อจากผู้ติดเชื้อรายอื่น
สาเหตุโรคซิฟิลิส
มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา พาลลิดัม (Treponema pallidum) มีลักษณะคล้ายเกลียวสว่าน (Spirochete bacteria) โดยเชื้อโรคชอบอยู่ในที่ที่มีความชื้น และตายได้ง่ายในที่ที่มีความแห้ง และถูกทำลายได้ง่ายด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ ระยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการ) : ประมาณ 10-90 วัน (โดยเฉลี่ยคือประมาณ 21 วัน)
ใครที่มีความเสี่ยงติดเชื้อซิฟิลิส
โรคซิฟิลิสสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อ ดังต่อไปนี้
ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคซิฟิลิส
ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอน บ่อยๆ
ผู้ที่สงสัยคู่นอนของตัวเองมีอาการป่วยคล้ายกับโรคซิฟิลิส
ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางปาก (Oral sex)
ผู้ที่จูบ หรือสัมผัสโดนแผล ไม่ว่าจะเป็นบริเวณใด ก็สามารถติดเชื้อได้หมด
ผู้ที่รับเลือดมาจากผู้ติดเชื้อซิฟิลิส
ผู้ที่ติดเชื้อซิฟิลิสผ่านทางเยื่อบุตา
ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยา เข็มสัก หรือเข็มเจาะตามผิวหนังร่วมกัน
ติดเชื้อซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก โดยผ่านทางรกและการคลอด
ผู้ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ควรได้รับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ประมาณปีละครั้ง
อาการโรคซิฟิลิส
อาการโรคซิฟิลิส จะมีการดำเนินของโรคเป็นระยะๆ ตามลักษณะและความรุนแรงของโรคที่ปรากฏแตกต่างกันตามแต่ละบุคคล อาจเป็นแบบเรียงตามระยะ หรือไม่เรียงตามระยะ และอาจมีความคาบเกี่ยวกันระหว่างอาการของระยะหนึ่งกับอีกระยะหนึ่ง ในบางราย เชื้อซิฟิลิสอาจแฝงเร้นในร่างกายโดยไม่แสดงอาการเป็นเวลานานหลายปีโดยไม่ได้รู้ตัวเลยก็เป็นได้ สามารถแบ่งอาการออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
โรคซิฟิลิส ระยะที่ 1 ระยะปฐมภูมิ หรือระยะเป็นแผล (Primary syphilis)
มักจะแสดงอาการเริ่มต้นจากการมีแผลเป็นตุ่มแผลเล็ก ๆ สีแดงขอบนูนแข็งหรือที่เรียกว่าแผลริมแข็ง (Chancre) ขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ ปาก ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ เยื่อบุตา หรือเยื่อบุช่องคลอดภายใน 3 สัปดาห์หลังติดเชื้อ แผลริมแข็งในระยะติดเชื้อจะมีลักษณะกดไม่เจ็บ ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่ทันสังเกต หรือไม่รู้ตัวว่ามีแผลเกิดขึ้น เนื่องจากแผลนี้จะไม่มีอาการปวด และแผลอาจซ่อนอยู่ภายในช่องคลอด หรือทวารหนัก จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยบางรายไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อซิฟิลิสได้ แผลริมแข็งนี้โดยส่วนใหญ่ อาจมีแผลเดียวหรือหลายแผล และสามารถหายได้เองภายใน 3-8 สัปดาห์ แม้ไม่ได้ทำการรักษาใดๆ ก็ตาม แต่เชื้อซิฟิลิสจะยังคงแฝงในร่างกาย และสามารถพัฒนาไปสู่ระยะที่ 2 ได้หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
โรคซิฟิลิส ระยะที่ 2 ระยะทุติยภูมิ หรือระยะออกดอก (Secondary syphilis)
หลังจากที่แผลริมแข็งหายไปไม่นาน หรือจะปรากฏอาการ 3-12 สัปดาห์หลังติดเชื้อ เป็นระยะที่เชื้อซิฟิลิสแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองและกระแสเลือดตามอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายหลายระบบทำให้เกิดรอยโรคที่มีลักษณะเป็นผื่นราบ ผื่นนูนหนามีสะเก็ด ผื่นชนิดเป็นแผล หรือแผลหลุมกดไม่เจ็บและไม่คัน กระจายตัวทั่วร่างกาย อวัยวะเพศ ฝ่ามือฝ่าเท้า เป็นที่มาของคำเรียก ระยะออกดอก
แต่อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยดังต่อไปนี้
ปวดข้อ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
ไข้
เจ็บคอ
เหนื่อยล้า
น้ำหนักลด
ต่อมน้ำเหลืองโต
เชื้อราในปาก
ผมร่วงทั่วศีรษะหรือร่วงเป็นหย่อม ๆ
ในระยะนี้ หากตรวจเลือด มักมีผลเลือดเป็นบวก จากนั้นประมาณ 2-3 สัปดาห์อาการต่าง ๆ จะค่อย ๆ หายไปหรือเป็น ๆ หาย ๆ โดยเชื้อจะยังคงแฝงเร้นในร่างกายและจะพัฒนาเข้าสู่ระยะแฝง
โรคซิฟิลิสระยะที่ 3 ระยะแฝง (Latent syphilis)
หากไม่ได้รักษา ซิฟิลิสระยะที่สอง (Secondary stage) สามารถดำเนินต่อไปเป็นระยะแฝง หรือระยะสงบทางคลินิก ระยะนี้แทบจะไม่แสดงอาการอะไร เป็นระยะที่มีการดำเนินโรคยาวนานที่สุด โดยเชื้อสามารถแฝงเร้นในร่างกายได้นานกว่า 20 ปีก่อนที่จะพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 4 หรือซิฟิลิสระยะสุดท้าย ผู้ที่เข้าสู่ซิฟิลิสระยะนี้อาจมีผื่น หรือแผลออกดอกทั่วร่างกายแบบเป็น ๆ หาย ๆ และสามารถแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือเยื่อเมือก หรือการแพร่เชื้อจากมารดาสู่ทารกระหว่างตั้งครรภ์ หรือระหว่างการคลอดบุตร
โรคซิฟิลิสระยะที่ 4 ระยะสุดท้าย (Tertiary syphilis)
ผู้ติดเชื้อประมาณ 15-30% จากผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้ทำการรักษาทั้งหมดจะพัฒนามาสู่ซิฟิลิสระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย โดยจะพบรอยโรคเป็นแผล ฝี หรือผื่นแดงนูนหนากดไม่เจ็บที่ผิวหนังหรือเยื่อบุอวัยวะ เป็นระยะที่เชื้อซิฟิลิสในต่อมน้ำเหลืองและกระแสเลือดทำลายอวัยวะภายในให้ได้รับความเสียหาย ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ระบบประสาทและสมอง ระบบหัวใจและหลอดเลือด ตับ ดวงตา กระดูกและข้อต่อที่ทำให้เกิดโรคและความผิดปกติต่าง ๆ เช่น ความผิดปกติในการเคลื่อนไหว (Movement disorder) ลิ้นหัวใจรั่ว (Aortic regurgitation) หลอดเลือดแดงใหญ่อักเสบ (Aortitis) ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ตาบอด หูหนวก อัมพาต ชัก และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด
ภาวะแทรกซ้อนของโรคซิฟิลิส
ซิฟิลิสที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจะดำเนินโรคเข้าสู่ระยะสุดท้ายที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ในร่างกายและอาจสร้างความเสียหายแก่อวัยวะต่าง ๆ หลายระบบ ดังนี้
ตุ่ม หรือเนื้องอกกัมม่า (Gummas) โดยในระยะสุดท้ายของการติดเชื้อซิฟิลิส (Late stage of infection) อาจเกิดตุ่ม หรือเนื้องอกกัมม่าซึ่งเป็นก้อนเนื้อขนาดใหญ่บนผิวหนัง หรืออวัยวะภายใน เช่น กระดูก ตับ อย่างไรก็ตาม ก้อนกัมม่าสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ซิฟิลิสทำให้เป็นแผลเลือดออกบริเวณอวัยวะเพศและปาก ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 2-5 เท่าในการติดเชื้อเอชไอวี ขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเป็นโรคเอดส์
โรคทางระบบประสาทและสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) การสูญเสียการได้ยิน (Hearing loss) ปัญหาทางสายตา ตาบอด โรคสมองเสื่อม (Dementia) สูญเสียความรู้สึกและการรับรู้อุณหภูมิ โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย (Sexual dysfunction) ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Bladder incontinence)
โรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคเส้นแดงโป่งพอง (Arterial aneurysm) โรคลิ้นหัวใจรั่ว (Aortic regurgitation) หรือ หลอดเลือดแดงใหญ่อักเสบ (Aortitis)
การติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ หรือระหว่างการคลอดบุตรโดยคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อซิฟิลิส โดยการติดเชื้อทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตของทารกในครรภ์หรือเสียชีวิตหลังคลอด รวมถึงการคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักไม่ถึงเกณฑ์ หรือเป็นโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด(Congenital syphilis)
การวินิจฉัยโรคซิฟิลิส
แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยโรคซิฟิลิสอย่างละเอียดโดยการซักประวัติหากมีความเสี่ยง ร่วมกับการตรวจร่างกายเพื่อประเมินอาการเบื้องต้น และทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งมักจะใช้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ Dark-field (Dark-field microscopic test: DF) เพื่อตรวจหาเชื้อซิฟิลิสโดยการเก็บตัวอย่างเซลล์บนผื่นผิวหนัง หรือหนองบริเวณบาดแผลในระยะที่ 1 หรือระยะเป็นแผลไปทำการส่องกล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษเพื่อค้นหาเชื้อซิฟิลิส
การตรวจเลือด (Blood test) เป็นการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาแอนติบอดี้หรือภูมิคุ้มกันต่อโรคซิฟิลิสในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา พาลลิดัม สาเหตุของโรคซิฟิลิส เป็นวิธีการตรวจที่มีความแม่นยำ และสามารถทราบผลการตรวจภายใน 1-3 วัน โดยการตรวจเลือดสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี ได้แก่
การตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันที่ไม่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อซิฟิลิส เช่น การตรวจ VDRL (Venereal disease research laboratory test) หรือการตรวจ RPR (Rapid plasma reagin)
การตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันที่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อซิฟิลิส เช่น การตรวจ FTA-ABS (Fluorescent treponemal antibody absorption) การตรวจ TPHA (Treponemal pallidum hemagglutination test) การตรวจ TP-PA (Treponema pallidum particle agglutination) หรือการตรวจ ICT (Immunochromatography test)
ซึ่งการตรวจทั้ง 2 วิธีนี้ผู้ที่เคยติดเชื้อซิฟิลิสมาก่อนถึงจะรักษาหายแล้ว ก็อาจจะพบผลเลือดเป็นบวกได้
แม้ไม่เป็นโรคซิฟิลิสในขณะนั้นก็ตาม
การตรวจน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal Fluid Test หรือ Lumbar puncture) ผู้ที่มีอาการเข้าข่ายซิฟิลิสในระยะที่ 3 ที่มีอาการทางระบบประสาท และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ แพทย์จะพิจารณาการตรวจวินิจฉัยโดยการเจาะน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid) เพื่อยืนยันโรค
การรักษาโรคซิฟิลิส
โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากรักษาตั้งแต่แรก ถ้าปล่อยไว้การรักษาจะยากขึ้นตามระยะของโรคจนอาจถึงขั้นรักษาไม่ได้ ซึ่งแพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้
ฉีดยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) เป็นหลัก
โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เช่น ยาเพนิซิลลิน จี (Penicillin G) ยาเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี (Benzathine Penicillin G) ยาเอเควียส เพนิซิลลิน จี (Aqueous Penicillin G) หรือฉีดโปรเคน เพนิซิลลิน (Procaine Penicillin) ร่วมกับรับประทานยาโพรเบเนซิด (Probenecid) ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับระยะของโรค
ซึ่งแพทย์จะฉีดให้ผู้ป่วยโดยดูจากระยะเวลาในการป่วยว่าเป็นมานานเท่าใด
ผู้ป่วยระยะที่ 1–2 จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วย 1 ครั้ง
ผู้ป่วยระยะแฝงหรือระยะที่ 3 จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วยสัปดาห์ละ 1 ครั้งติดต่อกัน 3 สัปดาห์
หากโรคซิฟิลิสขึ้นไปที่สมอง (Neurosyphilis) แพทย์จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี เข้ากล้ามเนื้อ ทุก 4 ชั่วโมง ติดต่อกันนาน 10–14 วัน
ฉีดโปรเคน เพนิซิลลิน (Procaine Penicillin) เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วยวันละ 1 ครั้ง ร่วมกับรับประทานยาโพรเบเนซิด (Probenecid) วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลานาน 10–14 วัน
ฉีดยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone)
ในกรณีที่แพ้ยาเพนิซิลลินและยังไม่มีตัวยาชนิดที่ใช้ทดแทนกันได้ ก็จะใช้การฉีดยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ขนาด 1–2 กรัมเข้ากล้ามเนื้อเป็นเวลา 10–14 วัน แทน หรือจะให้ยาชนิดอื่นรับประทาน เช่น ยาอีริโทรมัยซิน (Erythromycin) ยาด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) ร่วมกับยาเตตราไซคลีน (Tetracycline)
ตรวจเลือด หลังจากรักษาแล้ว 6 เดือน และต้องตรวจเลือดซ้ำเป็นประจำทุกปี เพื่อติดตามการรักษา
ผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อประเมินและปรับตัวยาที่ใช้ในการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อต่อไป การรักษาด้วยยาอาจส่งผลข้างเคียงในผู้ป่วยบางราย เช่น ไข้ขึ้น เวียนศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อหรือปวดตามข้อ แต่อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ทุเลาลงในเวลาไม่นาน โดยบางครั้งแพทย์อาจจ่ายยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ช่วยบรรเทาอาการ ผู้รับการรักษาควรงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าผลการตรวจเลือดจะเป็นลบ หรือสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งหากจำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ และควรแจ้งให้คู่เพศสัมพันธ์รับทราบเพื่อให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อซิฟิลิสด้วยเช่นกัน
การป้องกันโรคซิฟิลิส
โรคซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่สามารถป้องกันได้ โดยการปฏิบัติ และดูแลตัวเองดังต่อไปนี้
สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์
ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อติดเชื้อซิฟิลิส หรือผู้ที่เป็นโรคซิฟิลิส
หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก เช่น งดการจูบปาก หรือการทำออรัลเซ็กส์ให้กับคู่เพศสัมพันธ์ชั่วคราว หรือคู่รักข้ามคืน
หลีกเลี่ยงการใช้เซ็กส์ทอย (Sex toy) ร่วมกับผู้อื่น
หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ที่เสี่ยงติดเชื้อร่วมกัน เช่น การใช้เข็มฉีดยา เข็มที่ใช้สัก เข็มเจาะหู
ไม่สัมผัสบาดแผลของผู้อื่น
แจ้งให้คู่รักทราบ หากติดเชื้อโรคซิฟิลิส
คุณแม่ตั้งครรภ์ ในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 8-12 ต้องตรวจเลือดคัดกรองโรคซิฟิลิส เพื่อป้องกันการติดเชื้อของทารกในครรภ์
หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและยาเสพติด เพราะจะทำให้ขาดสติและทำให้มีเพศสัมพันธ์แบบเสี่ยงได้
ควรพบแพทย์ทุกครั้ง เมื่อเกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศ โดยเฉพาะหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือเมื่อสงสัยว่ามีความเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุได้อย่างถูกต้อง
การตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน
การตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละครั้ง
หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย
หมั่นออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ
การรักษาโรคซิฟิลิส แพทย์ทำการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลินในขนาดสูง โดยผู้ป่วยต้องไปฉีดยาตามนัดทุกครั้ง การขาดยาจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถรักษาโรคจนหายขาด
แม้ปัจจุบันการแพทย์จะพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมาก แต่โรคซิฟิลิสก็สามารถกลับมาระบาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเหตุผลหลัก ก็คือ ผู้ติดเชื้อไม่ใส่ใจในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ด้วยการสวมถุงยางอนามัย ไม่ระมัดระวังการเลือกคู่นอน หรือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่คิดวางแผนป้องกันใดๆ รวมถึงไม่เคยเข้ารับการคตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ดังนั้นการเข้าใจเกี่ยวกับโรคซิฟิลิส เน้นที่สาเหตุ อาการ การรักษา และการป้องกัน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อ ลดความรุนแรงของโรค และลดผลกระทบของโรคที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาวของผู้ติดเชื้อเอง
Comments