ไม่ว่าจะเป็นรุกหรือรับ การมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางทวาร ทางปาก ก็มีความเสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้งนั้น เช่น เชื้อเอชไอวี โรคหนองใน โรคซิฟิลิส โรคหนองในเทียม และโรคไวรัสตับอักเสบบี หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน เพราะเชื้อโรคนั้นสามารถติดต่อกันได้หลายทาง เช่น ผ่านทางน้ำอสุจิ ผ่านทางเลือด โดยเฉพาะการมีอะไรกันทางทวาร มักจะก่อให้เกิดแผลถลอกเล็กน้อย มีเลือดออกแบบไม่รู้ตัว ดังนั้น เมื่อมีเพศสัมพันธ์ควรมีการป้องกันโดยการสวมถุงยางระหว่างมีเพศสัมพันธ์ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆด้วย
โอกาสเสี่ยงจากการสัมผัสเชื้อเอชไอวีในแต่ละครั้ง
รุก หรือรับ มีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีจากการสัมผัสเชื้อในแต่ละครั้งมากน้อยเพียงใดได้ดังนี้
การรับเลือด (1 ยูนิต) 92.5 %
การใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน 0.67-0.80 %
ฝ่ายรับทางทวารหนัก 1-30%
ฝ่ายรุกทางทวารหนัก 0.1-10%
ฝ่ายรับทางช่องคลอด 0.1-10%
ฝ่ายรุกทางช่องคลอด 0.1-1%
ฝ่ายรับทางปาก (การทำออรัลกับอวัยวะเพศชาย) 0-0.04%
ฝ่ายรุกทางปาก (การถูกออรัลอวัยวะเพศชาย) 0-0.005%
การใช้ปากกับอวัยวะเพศหญิง มีโอกาสแต่น้อยมากๆๆ
เข็มที่มีเลือดติด ตำเข้าผิวหนัง 0.3%
.เยื่อบุ 0.09%
โดยมีการประมาณว่าโอกาสถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก สูงกว่าการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดถึง 18 เท่า
ความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีระหว่างฝ่ายรุก และฝ่ายรับ
ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรุก หรือฝ่ายรับ ความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีของแต่ละคนนั้นมีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปริมาณสารคัดหลั่งที่สัมผัส เช่น
ความเสี่ยงมากที่สุด คือ เลือด และสารคัดหลั่งที่มีเลือดปน
ความเสี่ยงรองลงมา คือ น้ำอสุจิ น้ำคร่ำ น้ำในช่องคลอด
ความเสี่ยงน้อยมาก ๆ หรือแทบจะไม่มีเลย คือ น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำมูก และเสมหะ ถ้าไม่ได้มีเลือดปนอยู่ด้วย
ความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ ในช่องทางต่าง ๆ ดังนี้
เพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด
ฝ่ายรับ จะมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวี ถึง 8 ใน 10,000 ครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งผู้หญิงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากช่องคลอดของเพศหญิงจะสัมผัสกับน้ำอสุจิของผู้ชายนานกว่า หากเปรียบเทียบกับระยะเวลาที่อวัยวะเพศชายต้องสัมผัสกับสารคัดหลั่งในอวัยวะเพศหญิง
ฝ่ายรุก จะมีความเสี่ยงเพียงแค่ 4 ใน 10,000 ครั้ง หรือมีความเสี่ยงครึ่งหนึ่งของฝ่ายรับ ในการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ผู้ชายมีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้หญิง เนื่องจากระยะเวลาที่อวัยวะเพศชายสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้หญิงนั้นสั้นกว่า หากเปรียบเทียบกับระยะเวลาที่อวัยวะเพศชายต้องสัมผัสกับสารคัดหลั่งในอวัยวะเพศหญิง
เพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
ฝ่ายรับ จะมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวี ถึง 138 ใน 10,000 ครั้ง เป็นช่องทางการติดเชื้อเอชไอวีที่มีความเสี่ยงที่สุดรองจากการเปลี่ยนถ่ายเลือด แต่ความเสี่ยงดังกล่าวจะมากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นฝ่ายรุกหรือฝ่ายรับในกิจกรรมครั้งนั้นด้วย โดยคนที่เป็นฝ่ายรับมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวีมากกว่ามาก เนื่องจากผิวหนังในทวารหนักนั้นบางกว่าผิวหนังของอวัยวะเพศชาย ดังนั้นความเสี่ยงในการติดเชื้อจึงมากกว่าด้วย โดยการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักกับคนที่มีเชื้อเอชไอวีโดยเป็นฝ่ายรับ
ฝ่ายรุก จะมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวีเพียง 11 ใน 10,000 ครั้ง เท่านั้น เป็นช่องทางที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้ติดเชื้อเอชไอวีได้มากกว่าการมีเซ็กส์แบบปกติ ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักโดยเป็นฝ่ายรุก ถือว่ามีความเสี่ยงในการติดเชื้อน้อยกว่าการเป็นฝ่ายรับนับสิบเท่า
เพศสัมพันธ์ทางปาก ความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวี ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรับ หรือฝ่ายรุกนั้นมีตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำ ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงนั้นคือศูนย์ เพราะโอกาสที่ใครคนใดคนหนึ่งจะติดเชื้อเอชไอวี จากการทำออรัลเซ็กส์นั้นน้อยมาก ทั้งจากสภาวะภายในปากของคนเรานั้นเอง ที่เชื้อเอชไอวีไม่สามารถอยู่อาศัยได้ รวมถึง ความหนาของผิวหนังในปาก และคอที่หนากว่าที่อวัยวะเพศ ทำให้โอกาสที่จะเกิดการแพร่เชื้อเอชไอวีผ่านออรัลเซ็กส์มีน้อยไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรุก หรือ ฝ่ายรับ แต่ถ้าในปากมีเลือดออก มีแผล หรือเหงือกอักเสบ ก็สามารถเป็นทางเข้าเชื้อเอชไอวีได้เช่นเดียวกัน
ทำไมชายรักชายจึงเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่ายกว่า?
ความสัมพันธ์แบบชายรักชาย มีโอกาสเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่ายกว่าความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่น เพราะการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักนั้น จะมีโอกาสเกิดการเสียดสีที่ทำให้เกิดแผล หรือมีเลือดออกได้ง่ายกว่าการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด’ จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์สูงกว่า ส่วนในกรณีความสัมพันธ์แบบหญิงกับหญิง ในการมีเพศสัมพันธ์มักไม่มีการสอดใส่ หรือหากมีการใช้ Sex Toy ก็ไม่ได้เพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดบาดแผลเพิ่มขึ้นมากนัก รวมถึงไม่ได้มีการหลั่งสารคัดหลั่งระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ด้วย จึงทำให้โอกาสในการติดเชื้อนั้นมีน้อยกว่าความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่น และไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรุกหรือฝ่ายรับ ก็ควรที่จะให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพและความปลอดภัยในการมีเพศสัมพันธ์เสมอ
ความเสี่ยงติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายรุก และฝ่ายรับ
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งฝ่ายรุก และรับ และเกิดได้ทั้งชาย และหญิงแต่อาจจะเกิดอาการของโรคในบริเวณที่เหมือนกัน หรือแตกต่างกันไปเช่น
โรคเริม โรคซิฟิลิส และ โรคติดเชื้อ HPV สามารถติดต่อกันทางการสัมผัสผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศกับผิวหนังได้ ทั้งชายและหญิง
โรคติดเชื้อ HPV คือ เชื้อโรคที่ก่อมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง ถึงผู้ชายจะไม่มีปากมดลูก ก็สามารถก่อให้เกิดมะเร็งรูทวาร และโรคหูดหงอนไก่ได้แทน
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เมื่อมีการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย โดยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดงออกมาอย่างชัดเจน ทำให้เราหรือคู่ของคุณอาจจะติดโรคเพศสัมพันธ์ ตอนไหนมาไม่ทราบแน่ชัดได้ จนกว่าจะมีการตรวจเลือด หรือตรวจร่างกาย หลังรู้ว่ามีความเสียงต่อการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์หรือปรึกษาแพทย์ตามอาการของโรคที่เริ่มปรากฎขึ้นมาเพื่อทำการรักษาต่อไป โดยบางโรคก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น โรคซิฟิลิส โรคหนองใน โรคหนองในเทียม แต่บางโรค เช่น การติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ โรคเริม รักษาไม่หายขาดได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำหากมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ นอกจาการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ แล้วการตรวจเช็กร่างกายเป็นประจำ
การป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อเอชไอวี
ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรุก หรือฝ่ายรับควรจะต้องมีการป้องกันจากการติดเชื้อเอชไอวี ดังนี้
ป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
เมื่อใดก็ตามที่มีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ ก็จะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ หรือแพร่เชื้อเอชไอวี ไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด หรือทวารหนัก ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่เชื้อเอชไอวี ดังนั้นควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง หากถุงยางอนามัยแตก ให้ไปพบแพทย์หรือคลินิกโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันตัวเอง หรือคู่นอนจากการติดเชื้อเอชไอวีที่อาจเกิดขึ้นได้
เลือกกิจกรรมทางเพศที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า
การมีเพศสัมพันธ์มีได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางทวารหนัก หรือทางปาก หรือการเลือกมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า เช่น การช่วยตัวเอง การช่วยตัวเองร่วมกัน การจูบ การทำออรัลเซ็กซ์โดยสวมถุงยางอนามัย หรือใช้แผ่นยางอนามัย และการใช้เซ็กส์ทอยที่ทำความสะอาดอย่างดีแล้ว
หลีกเลี่ยงกิจกรรมทางเพศที่มีความเสี่ยงสูง
การมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่เชื้อเอชไอวี เช่น การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดโดยไม่สวมถุงยางอนามัย และการร่วมเพศทางทวารหนักโดยไม่สวมถุงยางอนามัย เพราะไม่ใช่แค่ความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือแพร่เชื้อเอชไอวีเท่านั้น แต่ยังมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้อีกมากมาย รวมถึงความเสี่ยงสูงต่อการตั้งครรภ์ไม่พร้อมด้วย
สอบถามแพทย์เกี่ยวกับยาเพร็พ(PrEP)
การใช้ยาป้องกันก่อนสัมผัสเชื้อเอชไอวี หรือยาเพร็พ (PrEP) เป็นยาต้านไวรัสเอชไอวี ที่ใช้ในการป้องกันเพิ่มเติม สำหรับผู้ที่อาจเผชิญความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีมากกว่าคนอื่นๆ หากจำเป็นต้องมีการกินยาเพร็พ ควรปรึกษาแพทย์ หรือผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ เพื่อการดูแลสุขภาพ และป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่ปลอดภัยมากขึ้น
การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง
ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจะติดเชื้อเอชไอวีได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังนั้นการที่มีสุขภาพที่ดีมากเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น ด้วยเข้ารับการตรวจหาไวรัสเอชไอวี หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เป็นประจำ และหากตรวจพบว่า มีผลเป็นบวก ก็สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค และดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่แข็งแรงต่อไปด้วย
เข้ารับการตรวจสุขภาพทางเพศเป็นประจำ
ควรจะตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคซิฟิลิส โรคไวรัสตับอักเสบบี และซี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ก็เพื่อจะได้เข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วแล้ว และเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อโรคไปยังผู้อื่น
ถ้าเป็นฝ่ายรับ ควรจะตรวจโรคนองใน โรคหนองในเทียม บริเวณรูทวาร
ถ้าเป็นฝ่ายรุก ควรจะตรวจโรคนองใน โรคหนองในเทียม ที่ท่อปัสสาวะ
ถ้าเป็นฝ่ายใช้ปาก ควรจะตรวจ โรคหนองในที่คอ
ควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ บี และ HPV
การมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรุก หรือฝ่ายรับ จะเพศไหนกับเพศไหน ก็มีความเสี่ยงเหมือน ๆ กันหมดไม่มีความแตกต่างของความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยความเสี่ยงนั้นขึ้นอยู่กับกิจกรรมทางเพศ เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ดังนั้นการดูแลใส่ใจ และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันเชื้อเอชไอวีอย่างถูกต้องเหมาะสม หากมีกิจกรรมทางเพศที่มีความเสี่ยงสูง ก็ควรมีการขอคำปรึกษาจากแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ เพื่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยจากการติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
Comments