top of page
Siri Writer

มารู้จักโรคพยาธิในช่องคลอด ภัยเงียบที่ผู้หญิงควรระวัง

Updated: Jan 3, 2024

โรคพยาธิในช่องคลอด เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีกโรคหนึ่ง ที่ผู้หญิงควรให้ความสนใจ เพราะโรคนี้สามารถติดต่อได้ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด และทวารหนัก ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพทางเพศของผู้หญิง แม้ว่าโรคนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่จะสร้างความกังวลใจ และก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆตามมา ดังนั้นการรู้จักโรคพยาธิในช่องคลอดจึงมีความสำคัญ เพื่อทำให้ผู้หญิงเข้าใจถึงสาเหตุ, อาการ, และผลกระทบของโรคนี้ เพื่อการดูแลสุขภาพตัวเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ภาพแสดงการมารู้จักโรคพยาธิในช่องคลอด ภัยเงียบที่ผู้หญิงควรระวัง และวิธีการป้องกัน
มารู้จักโรคพยาธิในช่องคลอด ภัยเงียบที่ผู้หญิงควรระวัง

โรคพยาธิในช่องคลอด คืออะไร?

โรคพยาธิในช่องคลอด  (Trichomoniasis หรือเรียกสั้นๆ ว่า Trich) คือ การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัว บริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งตัวพยาธินั้น มีขนาดเล็กมากไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าต้องดูผ่านกล้องจุลทรรศน์เท่านั้น และพบผู้ป่วยที่แสดงอาการเพียง 20-30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทำให้หลายคนไม่รู้ตัว ว่าติดเชื้อทำให้แพร่กระจายเชื้อไปสู่คู่นอนได้ ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะมีอาการคันบริเวณอวัยวะเพศ ช่องคลอดส่งกลิ่นเหม็น มีตกขาวสีเขียว และเป็นฟอง เจ็บขณะปัสสาวะ รวมทั้งอาจทำให้หญิงมีครรภ์เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ส่วนผู้ชายสามารถติดเชื้อนี้ได้เช่นกันแต่มักไม่แสดงอาการ 


สาเหตุโรคพยาธิในช่องคลอด

สาเหตุจากการติดเชื้อโปรโตซัว ทริโคโมแนส วาจินาลิส (Trichomonas vaginalis)   ซึ่งสามารถติดต่อกันได้ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก โดยเชื้อจะเข้าไปอาศัยอยู่ในช่องคลอด (Vagina) และทางเดินปัสสาวะตอนล่างของทั้งผู้หญิง และผู้ชาย ทำให้เสี่ยงต่อการการติดเชื้อบริเวณท่อปัสสาวะ  กระเพาะปัสสาวะ และปากมดลูกในเพศหญิงเพิ่มได้อีกด้วย ระยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการ) :ประมาณ 5-28 วัน ในผู้ป่วยหญิง


ใครที่มีความเสี่ยงติดเชื้อพยาธิในช่องคลอด

อาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ดังนี้ 

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย 

  • ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย

  • ผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ 

  • ผู้ที่ใช้เซ็กส์ทอย ที่ไม่ได้ล้างทำความสะอาดร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ

  • ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ 

  • หญิงหรือชายที่ทำงานให้บริการ ทำงานกลางคืน พบผู้คนหลากหลาย

ภาพแสดงอาการของโรคพยาธิในช่องคลอด พร้อมข้อมูลเกี่ยวกับอาการและวิธีการจัดการ
อาการโรคพยาธิในช่องคลอด

อาการโรคพยาธิในช่องคลอด

ผู้ป่วยที่ติดเชื้ิอโรคนี้ ประมาณ 70% มักจะไม่มีอาการที่ผิดปกติ แต่มีเพียงประมาณ 30% ของผู้ที่ติดเชื้อที่จะปรากฏอาการ ดังนี้

อาการที่พบในผู้หญิง

  • มีตกขาวมากผิดปกติ มีลักษณะ เหนียว, มีฟอง เเละมีสีเหลืองหรือเขียว 

  • ตกขาวมีปริมาณมากกว่าปกติ เเละมีกลิ่นเหม็นคาวปลา

  • พบจุดเลือดบริเวณปากมดลูก 

  • อวัยวะเพศบวมแดง แสบร้อน รู้สึกเจ็บ เเละ คันบริเวณช่องคลอด หรือปากช่องคลอด

  • มีเลือดไหลผิดปกติทางช่องคลอด

  • ปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ

  • รู้สึกเจ็บเเสบขณะปัสสาวะ

  • เจ็บปวดเวลามีเพศสัมพันธ์ 


อาการที่พบในผู้ชาย

  • ในผู้ชายมักไม่แสดงอาการ

  • รู้สึกแสบเวลาปัสสาวะ หรือหลั่งน้ำอสุจิ 

  • ปวดที่อัณฑะ หรืออวัยวะเพศ

  • คัน และระคายเคืองภายในองคชาต

  • ปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ

  • มีสารคัดหลั่งผิดปกติไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ หรือมีเมือกปนหนอง

  • รอบ ๆ อวัยวะเพศมีอาการบวมเเดงหรือเกิดการอักเสบ 


ภาวะแทรกซ้อนของโรคพยาธิในช่องคลอด

หากไม่รักษาให้หายขาด อาจทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพที่ร้ายแรงตามมา  มีดังนี้

  • ทำให้หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนการกำหนด ทารกอาจมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ ทำให้มีปัญหาทางสุขภาพและพัฒนาการตามมา นอกจากนี้ทารกอาจติดเชื้อจากมารดาได้หากคลอดตามธรรมชาติ

  • อาจลุกลามไปถึงท่อปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะทำให้อักเสบได้

  • ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วย เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม หรือช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย เป็นต้น

  • เสี่ยงติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่นำไปสู่โรคเอดส์ได้ง่ายขึ้น ส่วนผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีอยู่แล้วก็มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ง่ายขึ้นด้วย

  • เกิดภาวะติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ซึ่งอาจทำให้ท่อนำไข่อุดตันจากแผลเป็น ปวดท้องหรือปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานอย่างเรื้อรัง รวมทั้งอาจส่งผลให้มีลูกยาก


การวินิจฉัยโรคพยาธิในช่องคลอด

โรคพยาธิในช่องคลอดแสดงอาการคล้ายกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ดังนั้นการวินิจฉัยโรคจึงดูจากอาการเพียงอย่างเดียวไม่ได้ 

  • แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจภายใน 

  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์เพิ่มเติม เช่น นำตกขาวไปตรวจเพื่อดูเชื้อพยาธิในช่องคลอดด้วยวิธี ดังนี้

    • ส่องกล้องจุลทรรศน์

    • เพาะเชื้อจากตัวอย่างสารในช่องคลอด

    • ใช้ชุดทดสอบแอนติเจนหรือสารพันธุกรรม

  • หากสงสัยว่าผู้ป่วยติดเชื้อพยาธิในช่องคลอด แพทย์อาจรักษาผู้ป่วยโดยไม่รอผลการตรวจวินิจฉัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น 

  • ส่วนผู้ป่วยที่พบว่าตนเองติดเชื้อพยาธิในช่องคลอดแน่ชัดแล้ว ควรตรวจเลือดหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วย เช่น ไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และซิฟิลิส เป็นต้น 

  • รวมทั้งผู้ป่วยต้องแจ้งให้คู่นอนไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาเช่นเดียวกัน

ภาพแสดงกระบวนการการรักษาโรคพยาธิในช่องคลอด พร้อมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการรักษาและการดูแลผู้ป่วย
การรักษาโรคพยาธิในช่องคลอด

การรักษาโรคพยาธิในช่องคลอด

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิในช่องคลอดต้องรับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะโดยเร็วที่สุด เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น โดยส่วนมากอาการจะดีขึ้นใน 2-3 วันหลังเริ่มรักษา ซึ่งวิธีการ มีดังนี้

  • รับประทานยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole)  หรือทินิดาโซล  (Tinidazole)  ครั้งเดียวในปริมาณ 2 กรัม หรือรับประทานยาเมโทรนิดาโซลวันละ 500 มิลลิกรัม ติดต่อกันนาน 5-7 วัน

  • รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และไปพบแพทย์หากมีอาการผิดปกติใด ๆ หลังใช้ยา

  • ปรึกษาแพทย์ถึงการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ หากแพ้ยาเมโทรนิดาโซลหรือทินิดาโซล

  • ในผู้ญิงบางรายที่เเพ้ยาเเบบรับประทานเเพทย์จะให้  ยาสอด (Suppository) และ โคลไตรมาโซล (Topical  clotrimazole)  แทน โดยให้สอดเข้าไปทางช่องคลอด เเละเเนะนำให้ทำการรักษาโรคร่วมกับคู่นอนด้วย

  • งดดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยาเมโทรนิดาโซลหรือทินิดาโซล และอย่างน้อย 3 วันหลังหยุดใช้ยา เพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น หรือผิวแดง

  • งดมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างการรักษา และหลังจากหายเป็นปกติอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น หรือการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เพิ่ม

  • หญิงมีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาเมโทรนิดาโซล หรือทินิดาโซล เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตนเองหรือทารกได้ โดยเฉพาะหากรับประทานยาปริมาณมากในครั้งเดียว

  • ยาเมโทรนิดาโซลอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือรู้สึกถึงรสโลหะในปาก เป็นต้น

  • ไปพบแพทย์ตามนัดหมายเพื่อติดตามผลการรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ยังคงมีอาการผิดปกติหลังใช้ยา ซึ่งอาจเกิดจากการรับประทานยาไม่ครบตามที่แพทย์สั่ง อาเจียนหลังรับประทานยา หรือติดเชื้อพยาธิในช่องคลอดซ้ำ โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะในปริมาณที่มากกว่าเดิม หรือรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ต่อไป

  • แพทย์จะแนะนำให้ผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคพยาธิในช่องคลอดและคู่นอน มารับการตรวจและรักษาไปพร้อม ๆ กัน เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำใหม่นั่นเอง


การป้องกันโรคพยาธิในช่องคลอด

โรคพยาธิในช่องคลอดสามารถติดต่อกันได้โดยที่ผู้แพร่เชื้อไม่แสดงอาการใดๆ ดังนั้นโรคนี้จึงติดต่อกันได้ง่าย วิธีการป้องกันการติดเชื้อทำได้ดังนี้

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นวิธีป้องกันโรคพยาธิในช่องคลอดที่ได้ผลดีเช่นเดียวกับการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย และมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ผ่านการตรวจร่างกายว่าปลอดโรคติดต่อทางเพศสมัพันธ์

  • รีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการตกขาวผิดปกติ รวมทั้งรู้สึกเจ็บปวดขณะปัสสาวะ หรือมีเพศสัมพันธ์  

  • หากพบว่าติดโรคพยาธิในช่องคลอด ทั้งตนเอง และคู่นอนควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อซ้ำหรือการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นด้วย

  • หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอดเป็นประจำ 


โรคพยาธิในช่องคลอด เป็นโรคที่ควรระวังสำหรับผู้หญิง แม้ว่าโรคนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่สามารถสร้างความกังวล และเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนทางเพศที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้ในอนาคต ดังนั้นการรับรู้ และรักษาโรคที่เร็วที่สุดจะช่วยลดความรุนแรงของโรค และป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ โดยการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ เพื่อให้ผู้หญิงสามารถดำเนินชีวิตอย่างมั่นใจ และมีสุขภาพที่ดี


コメント


bottom of page