top of page
Siri Writer

ทำอย่างไร? เมื่อถุงยางแตกขณะมีเพศสัมพันธ์

Updated: Jan 6, 2024

การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ และการคุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีการใช้ถุงยางอนามัยที่ผิดวิธี ก็อาจเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหา เช่น ถุงยางแตก ถุงยางฉีกขาด หรือถุงยางรั่ว ขณะมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม ฉะนั้นหากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นต้องทำอย่างไร หรือมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไรหากต้องเผชิญเหตุการณ์ดังกล่าว ฉะนั้นการควรมีความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้อง ให้มีความปลอดภัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหากมีปัญหาด้านถุงยางอนามัยในขณะมีเพศสัมพันธ์ จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรใส่ใจเพื่อสุขภาพที่ดีของตนเองและคนรัก

แนะนำวิธีปฏิบัติเมื่อเกิดถุงยางแตกในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เพื่อความปลอดภัย และการดูแลสุขภาพ
ทำอย่างไร เมื่อถุงยางแตกขณะมีเพศสัมพันธ์

วิธีสังเกต ถุงยางแตก ถุงยางฉีกขาด หรือถุงยางรั่ว

ถุงยางอนามัยมีจุดรูเล็ก ๆ หรือรอยฉีกขาดออกจากกัน ไม่ผสานเป็นเนื้อเดียวจนทำให้ของเหลวสามารถไหลผ่านออกไปไม่อยู่ในกระเปาะ หรือตัวถุงยางอย่างที่ควร ซึ่งวิธีสังเกตเมื่อเกิดการหลั่งน้ำอสุจิแล้วปรากฏไม่มีน้ำหลงเหลืออยู่ในถุงยางอยู่เลยก็สันนิษฐานได้ว่ามีโอกาสถุงยางแตก ฉีดขาด หรือรั่ว สูงมาก ดังนี้

  • ก่อนใช้ เมื่อสวมถุงยางอนามัยเข้าไปแล้ว ถุงยางอนามัยจะมีกระเปาะเล็กๆ อยู่ตรงปลาย ให้กดกระเปาะเล็กๆ ตรงปลายลง หากยุบตัวแล้วไม่คืนสภาพเดิม แสดงว่าถุงยางรั่ว แต่หากกระเปาะคืนสภาพเดิมแสดงว่าถุงยางอยู่ในสภาพดี เมื่อทดสอบเสร็จแล้ว ก็ควรบีบปลายกระเปาะเพื่อไล่ลมออกก่อน ซึ่งการไล่ลมจะช่วยไม่ให้ถุงยางแตกในขณะสอดใส่  

  • หลังใช้ ให้สังเกตที่กระเปาะของถุงยาง หากปลายกระเปาะเก็บน้ำอสุจิไว้แสดงว่าถุงยางปกติ แต่หากไม่เหลือสิ่งใดอยู่ปลายกระเปาะ พึงสงสัยได้ว่าถุงยางอนามัยอาจรั่ว หรือมีอีกวิธี ด้วยการทดสอบหลังจากใช้งานแล้ว ด้วยการนำถุงยางไปใส่น้ำเพื่อหารอยรั่วซึม ถ้ามีน้ำรั่วน้ำซึมออกมา แสดงว่าถุงยางรั่ว หากไม่มีน้ำรั่วซึมออกมาก็วางใจได้ แสดงว่าเราใช้ถุงยางอนามัยได้ถูกวิธี ถ้าเป็นอย่างนี้ก็สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ได้

วิธีแก้ไขและป้องกันถุงยางแตก ฉีกขาด หรือรั่ว: ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุและการป้องกันเพื่อความปลอดภัยในการใช้ถุงยาง
สาเหตุที่ทำให้ ถุงยางแตก ถุงยางฉีกขาด หรือถุงยางรั่ว

สาเหตุที่ทำให้ถุงยางแตก ถุงยางฉีกขาด หรือถุงยางรั่ว 

การที่ถุงยางแตก ถุงยางฉีกขาด หรือถุงยางรั่ว ขณะมีเพศสัมพันธ์ ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก นอกเสียจากว่าจะมีพฤติกรรมบางอย่างที่คุณเผลอกระทำโดยไม่รู้ตัว หรือเพิกเฉยถึงข้อควรระวังการใช้ จึงอาจก่อให้เกิดถุงยางแตกขึ้นมาได้ โดยเกิดจากสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นสภาพถุงยางอนามัยที่ใช้ และปัจจัยอื่น ดังนี้

  • ขนาดถุงยางเล็กเกินไป หรือขนาดถุงยางเล็กกว่าขนาดอวัยวะเพศ โดยผู้ใช้เลือกถุงยางอนามัยที่มีขนาดเล็กเกินไป ส่งผลให้ไม่เหลือพื้นที่บริเวณปลายสุดของถุงยางเมื่อหลั่งอสุจิออกมา ทำให้เมื่อสวมใส่แล้วโอกาสฉีกขาดมีสูง

  • ถุงยางอนามัยที่หมดอายุ หรือเก่ามากอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของถุงยาง  ผู้ใช้ควรดูวันหมดอายุที่ระบุบนหีบห่อก่อนนำมา 

  • เก็บถุงยางไม่เหมาะสม เช่น โดนแสงแดด อยู่ในที่อุณหภูมิสูง หรือโดนกดทับเป็นเวลานาน  ผู้ที่วางถุงยางอนามัยทิ้งไว้ในที่ที่มีแสง และอุณหภูมิร้อนจะทำให้ถุงยางอนามัยเสื่อมสภาพ ดังนั้น ไม่ควรเก็บถุงยางไว้ในที่ที่อับ และเกิดความร้อนได้ง่าย เช่น ช่องเก็บของในรถ หรือกระเป๋าเงิน เป็นต้น

  • ถุงยางฉีกขาด เกิดขึ้นได้หากถูกฟันกัด เล็บกรีดจนขาด หรือใช้ของมีคม ในการฉีกบรรจุภัณฑ์ถุงยางผิดวิธี จนไปโดนกับตัวถุงยาง และฉีกขาด หรือรั่ว

  • สวมถุงยางไม่ถูกต้อง ไม่มีการบีบปลายกระเปาะจนทำให้อากาศอัดแน่นมากเกินไปและมีโอกาสถุงยางแตกได้ง่าย

  • สารหล่อลื่นไม่พอ การมีเพศสัมพันธ์โดยที่สารหล่อลื่นจากอวัยวะเพศน้อยเกินไปอาจส่งผลให้ถุงยางแตกได้ คู่รักที่ร่วมเพศทางทวารหนัก หรือช่องคลอดควรใช้สารหล่อลื่นอื่นช่วย โดยเลือกสารหล่อลื่นชนิดละลายน้ำแทนสารหล่อลื่นชนิดน้ำมัน 

  • การใช้สารหล่อลื่นแบบน้ำมัน สารหล่อลื่นชนิดน้ำมันจะทำให้ยางของถุงยางอนามัยเสื่อมสภาพ จนทำให้ถุงยางแตกได้ง่าย โดยสารหล่อลื่นที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสมมีหลายอย่าง เช่น น้ำมันทาผิวเด็ก หรือน้ำมันพืช เป็นต้น 

  • การสอดใส่ลำบาก หากสอดใส่ขณะร่วมเพศลำบาก ควรใช้ถุงยางอนามัยคุณภาพดีมากหรือเพิ่มสารหล่อลื่น เพื่อลดการเสียดสีจนทำให้ถุงยางแตก


ความเสี่ยงจากถุงยางแตกมีอะไรบ้าง?

หากเกิดถุงยางแตก ถุงยางฉีกขาด ถุงยางรั่ว หรือเลื่อนหลุดออกมาขณะมีเพศสัมพันธ์  มีความเสี่ยงดังนี้

  • ความเสี่ยงต่อการติดโรคทางเพศสัมพันธ์  หากเกิดถุงยางแตกขณะมีเพศสัมพันธ์ อาจเสี่ยงติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเชื้อเอชไอวีได้ หากเกิดอาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ควรพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจ และวินิจฉัยโรค เช่น มีอาการปวดท้อง คันระคายเคือง มีแผล ตุ่มพอง หรือก้อนนูนขึ้นบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ รวมทั้งตกขาวผิดปกติ หรือเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน

  • ความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์ไม่พร้อมนับเป็นปัญหาที่คู่รักหลายคู่กังวลเมื่อถุงยางแตกขณะร่วมเพศ หากพบว่าถุงยางแตก เบื้องต้นฝ่ายชายอาจหลั่งนอก เพื่อป้องกันการหลั่งอสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ของฝ่ายหญิง

การจัดการเมื่อถุงยางแตก: แนวทางที่สำคัญสำหรับความปลอดภัยและความพึงพอใจในระหว่างกิจกรรมทางเพศ
เมื่อถุงยางแตก ควรทำอย่างไร?

เมื่อถุงยางแตก ควรทำอย่างไร?

หากเกิดถุงยากแตก หรือเลื่อนหลุดออกมาขณะมีเพศสัมพันธ์ ควรปฎิบัติตามขั้นตอนดังนี้

  • ถ้ารู้ว่าถุงยางแตก ให้รีบเปลี่ยนชิ้นใหม่ทันที หรือควรหยุดการมีเพศสัมพันธ์ทันที แล้วตั้งสติ 

  • ล้างทำความสะอาดอวัยวะเพศภายนอกด้วยน้ำ และสบู่จนสะอาด  

  • สำหรับการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด

    • ฝ่ายหญิงควรรีบเข้าห้องน้ำ และปัสสาวะออกมา เพื่อขับตัวอสุจิที่อาจอยู่ใกล้ท่อปัสสาวะ โดยนั่งยอง ๆ  และขมิบกล้ามเนื้อช่องคลอดขณะที่นั่งปัสสาวะ  และควรทำความสะอาดอวัยวะเพศตนเอง โดยราดน้ำอุ่นที่อวัยวะเพศขณะที่นั่งยอง ๆ บนโถสุขภัณฑ์

    • ห้ามฉีดน้ำ หรือล้าง ข้างในช่องคลอด เนื่องจากหากยิ่งฉีด ตัวอสุจิ หรือเชื้อแบคทีเรียจะยิ่งเข้าไปในช่องคลอดมากขึ้น ส่งผลให้เสี่ยงตั้งครรภ์ หรือได้รับเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ การฉีดน้ำเข้าไปในช่องคลอดยังไปล้างแบคทีเรียชนิดดีที่ช่วยป้องกันการเกิดภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

  • สำหรับการมีเพศสัมพันธ์ทางประตูหลัง

    • ไม่ควรฉีดน้ำ หรือล้างข้างในช่องทวาร เนื่องจากแรงฉีดน้ำอาจทำให้เกิดแผลในทวารหนัก ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเชื้อเอชไอวีมากขึ้นอีกหลายเท่า

    • ควรถ่ายเพื่อกำจัดอสุจิที่อาจตกค้างออกมาให้มากที่สุด

  • สำหรับการทำออรัลเซ็กส์

    • ควรคาย หรือกลืนอสุจิทันที ไม่อมอสุจิไว้ในปาก

    • บ้วนปากด้วยน้ำสะอาด

    • ไม่ควรแปรงฟัน หรือใช้ไหมขัดฟันเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังถุงยางแตก และอสุจิเข้าปาก

  • รีบไปพบแพทย์ทันที

    • เพื่อรับยาต้านฉุกเฉิน (PEP) เพื่อทำการป้องกันตัวเอง จากเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ฝ่ายหญิง ควรรับยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ในกรณีที่ไม่ได้คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น โดยรับประทานยาภายใน 72 ชั่วโมงแรกหลังถุงยางแตก เนื่องจากอาจเสี่ยงตั้งครรภ์ได้

    • ควรเข้ารับการตรวจสุขภาวะทางเพศภายใน 14 วันหลังถุงยางแตก หรือเร็วกว่านั้นในกรณีที่เกิดอาการอื่น

    • ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี

  • กินยาจนครบตามที่แพทย์สั่ง หลังจากนั้นกลับมาพบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจเลือดยืนยันว่า ไม่มีการติดเชื้อใดๆหลังจากมีความเสี่ยงถุงยางแตก

ป้องกันถุงยางแตก: แนวทางการใช้งานเพื่อความปลอดภัยและความพึงพอใจในระหว่างกิจกรรมทางเพศ
วิธีป้องกันถุงยางแตก

วิธีป้องกันถุงยางแตก

ปัญหาถุงยางแตกป้องกันได้ โดยต้องใส่ใจเรื่องการเก็บรักษา และวิธีใช้ถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงถุงยางแตก ดังนี้

  • ไม่ใช้ถุงยางอนามัยที่หมดอายุ โดยดูวันหมดอายุที่ระบุบนบรรจุภัณฑ์ก่อนนำมาใช้ทุกครั้ง เนื่องจากถุงยางอนามัยจะเสื่อมสภาพเมื่อเริ่มเก่า หรือหมดอายุแล้ว

  • เลือกใช้ถุงยางอนามัยให้เหมาะสมกับขนาดอวัยวะเพศของตนเอง เลือกไซร์ตามขนาดของแต่ละบุคคลไม่หลวมไม่แน่นจนเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่คนไทยจะใส่ไซร์ 49 หรือ 52 หรือ 54

  • เวลาฉีกซองถุงยางควรดันถุงยางลงมาอยู่ด้านใดด้านหนึ่ง แล้วจึงฉีกไม่งั้นอาจฉีกโดนถุงยางขาดได้

  • ห้ามฉีกซองถุงยางอนามัยออกมาด้วยของมีคม เช่น กรรไกร หรือกัดด้วยฟัน รวมทั้งสวมถุงยางอนามัยอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันเล็บไปกรีดถุงยางจนเกิดรอยรั่ว หรือขาด 

  • ก่อนสวมใส่ให้ตรวจสภาพถุงยางก่อนว่ามีรอยรั่ว แตก หรือฉีกขาดตรงจุดไหนหรือไม่

  • ควรสวมถุงยางอนามัยให้ดีก่อนมีเพศสัมพันธ์ ใส่ขณะอวัยวะเพศแข็งตัว โดยบีบปลายถุงเพื่อไล่ลมออกก่อนซึ่งการไล่ลมจะช่วยไม่ให้ถุงยางแตกและเป็นที่เก็บน้ำอสุจิ อีกมือค่อย ๆ ดึงถุงยางเข้าหาตัวขณะสวมใส่  จากนั้นรูดให้สุดโคนอวัยวะเพศเพื่อจะได้ไม่หลุดขณะทำภารกิจ

  • ระยะเวลาในการใช้งาน การใช้ 1 ชิ้นจะต้องใช้ไม่เกิน 30 นาที เพราะความสมบูรณ์ของตัวถุงยางอนามัยอาจจะเสื่อมสภาพลง ทำให้ถุงยางอนามัยรั่วได้ ควรใช้เพียงครั้งเดียว ใช้แล้วทิ้งเท่านั้น ห้ามนำกลับมาใช้ใหม่โดยเด็ดขาด

  • ควรใช้ถุงยางอนามัยเพียงครั้งเดียว ไม่นำกลับมาใช้ซ้ำ

  • ควรสวมถุงยางอนามัยเพียงชิ้นเดียว หากสวมถุงยางอนามัยมากกว่านั้น อาจก่อให้เกิดการเสียดสีจนถุงยางอนามัยฉีกขาดได้

  • เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วควรใช้กระดาษทิชชูพันรอบโคนอวัยวะเพศแล้วรูดถุงยางจากส่วนโคนลงมาจากนั้นทิ้งลงถังขยะให้เรียบร้อยและทำความสะอาด

  • หากพบว่าถุงยางแตก หรือขาดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ควรหยุดกิจกรรมทางเพศทันทีและเปลี่ยนถุงยางอนามัยชิ้นใหม่

  • ไม่ควรใช้โลชั่น น้ำมัน หรือสารหล่อลื่นที่มีส่วนผสมของน้ำมัน แต่เลือกใช้สารหล่อลื่นชนิดน้ำเท่านั้น ถ้าจะใช้สารหล่อลื่น ควรใช้สารหล่อลื่นที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมันและห้ามใช้วาสลีนเด็ดขาดเพราะจะทำให้ถุงยางแตกได้ง่ายขึ้น

  • การเก็บรักษาให้พ้นจากความร้อน หรือแสงแดด และไม่ควรเก็บในที่ชื้น เช่น ในช่องเก็บของบนพาหนะเนื่องจากมีความร้อนสูง และไม่ควรเก็บในที่ถูกทับ หรือบีบรัด เช่น กระเป๋ากางเกง กระเป๋าเงิน เพราะจะมีการกดทับหักงอ ทำให้ถุงยางอนามัยฉีกขาดได้ง่าย หรือซองบรรจุฉีกขาดทำให้มีการปนเปื้อนจากภายนอกได้


การเรียนรู้ถึงสาเหตุ และวิธีการจัดการเมื่อถุงยางแตกขณะมีเพศสัมพันธ์ เป็นเรื่องสำคัญ หากต้องเผชิญกับสถานการณ์  ถุงยางแตก ถุงยางฉีกขาด หรือถุงยางรั่ว จะได้ปฏิบัติตามขั้นตอนได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้อง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม และยังเป็นการเพิ่มความมั่นใจ และความปลอดภัย ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์


Comments


bottom of page